Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2022 16:20 —กระทรวงการคลัง

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
ฉบับที่ 214/2565                                                                                                             วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+
และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่           30 พฤศจิกายน 2565 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) Fitch คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.3 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2566  ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peer) ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การฟื้นตัวอย่างมากของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 10.3      ล้านคน ในปี 2565 เป็น 24 ล้านคน ในปี 2566 เนื่องจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและการประกาศปรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากการเป็นโรคติดต่อร้ายแรง (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ตลอดจน    อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย
2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากมีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง โดย Fitch คาดว่า การขาดดุลงบประมาณของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องลดลงตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายจากร้อยละ 6.8 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 4.9 และ 3.8 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ และคาดว่าจะยังอยู่ในระดับดังกล่าวในระยะต่อไป ทั้งนี้ ระดับการขาดดุลดังกล่าวจะทำให้สัดส่วน             หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับมีเสถียรภาพและรัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต (Shock) อีกทั้งรัฐบาลสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศได้ทุกสถานการณ์ และหนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทจึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง
3) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่น แม้ในปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้อยละ 3.2 แต่ Fitch คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล (Surplus) เป็นร้อยละ 1.9 และ 3.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในปี 2566 จำนวน 6.9 เดือน ซึ่งสูงกว่า Peers ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6 เดือน
ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การดำเนินมาตรการด้านอัตราเงินเฟ้อ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ 5514

          ที่มา: กระทรวงการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ