รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กันยายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 19, 2008 12:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ก.ย. 2551 
SUMMARY:
- ยอดจัดสรรที่ดิน 8 เดือนปี 51 ลดลงร้อยละ 20 จากผลของราคาน้ำมัน & การเมือง
- แบงค์สหรัฐดิ้นควบรวมรับวิกฤติยืดเยื้อรุนแรง
- วิกฤติการเงินสหรัฐไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารในระยะสั้น
HIGHLIGHT:
1. ยอดจัดสรรที่ดิน 8 เดือนปี 51 ลดลงร้อยละ 20 จากผลของราคาน้ำมัน & การเมือง
- กรมที่ดิน เปิดเผยยอดการออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน สำหรับที่อยู่อาศัยทุกประเภท (บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด) ช่วง 8 เดือนแรกปี 51 มีการออกใบอนุญาตจัดสรร 180 โครงการ ลดลงร้อยละ 20.35 ต่อปี โดยมีสาเหตุจากผลของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตฯ โครงการคอนโดฯ ยังคงมีการขยายตัว นอกจากนี้ จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 ส่งผลให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมของกรมที่ดินลดลง ขณะที่การจัดเก็บรายได้กรมที่ดิน ตั้งแต่ ต.ค.50-ก.ค.51 รวม 3.9 หมื่นล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 3.0 เหลือ 0.1 และการหย่อนค่าธรรมเนียมดังกล่าวช่วยให้มีธุรกิจธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นโดยภาษีอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค.และส.ค.เพิ่มร้อยละ 43.0 และ 7.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการฯ ตัดสินใจเปิดโครงการที่มี Business Cycle ค่อนข้างสั้น เช่น ทาวน์เฮาส์ และบ้าน ตลอดจนเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ที่มีความเสี่ยงน้อยมาพัฒนาก่อน เพื่อเร่งโอนให้ทันกับสิทธิประโยชน์จากมาตรการฯ ดังกล่าวที่จะสิ้นสุดผลบังคับใช้ มี.ค.52
2. แบงค์สหรัฐดิ้นควบรวมรับวิกฤติยืดเยื้อรุนแรง
- สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ ว่ากระแสการควบรวมกิจการในสหรัฐปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาคการเงินและธนาคาร ขณะที่ความรุนแรงปัญหาวิกฤติสินเชื่อทวีความรุนแรงขึ้นฉุดหุ้นสหรัฐสัปดาห์นี้ดิ่งทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปี ยิ่งกดดันธนคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ต้องใช้ความพยายามเพื่อหาหุ้นส่วนควบกิจการหวังประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ การสนใจเข้าซื้อของซิติกรุ๊ป กลุ่มบริษัทใหญ่ในจีนมีความสนใจเข้าเข้าซื้อกิจการของ มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธณกิจขนาดใหญ่อันดับสองของสหรัฐ และ วอชิงตัน มิวชวล ธนาคารทำธุรกิจเงินฝากใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐ ซึ่งมีฐานะการเงินที่อ่อนแอลง
- สศค. วิเคราะห์ว่าวิกฤตการณ์ปัญหา sub -prime ซึ่งลุกลามกระทบถึงหลายส่วนและหลายสถาบันการเงินประเภทต่างๆในโลกโดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งหนึ่งในทางออกในการบรรเทาปัญหา ได้แก่การเพิ่มเข้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าโดยการร่วมมือของธนาคารกลางต่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มทางออกของการบรรเทาปัญหาในระยะต่อไปซึ่งได้แก่การเข้าซื้อและการควบรวมกิจการๆ ซึ่งในระยะสั้นจะส่งผลด้านบวกทางจิตวิทยาของนักลงทุนและตลาดการเงิน โดยจะส่งผลให้ตลาดหุ้นในโลกอาจมีการปรับตัวดีขึ้นและผันผวนน้อยลงในกรอบระยะสั้นรวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขายสินทรัพย์ของบริษัทที่ประสบปัญหาและการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆจะส่งผลให้มีการไหลเข้าเงินทุนเข้าซื้อกิจการต่างๆในสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอาจมีการปรับตัวอ่อนค่าลงในระยะสั้นถึงปานกลาง
3. วิกฤติการเงินสหรัฐไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารในระยะสั้น
- ผู้อำนวยการสถาบันอาหารแถลงว่า วิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐในขณะนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปสหรัฐในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจจะเริ่มเห็นผลกระทบในต้นปี 2552 โดยเฉพาะอาหารคุณภาพสูง ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยต่อเนื่องจนส่งผลต่อการบริโภค ขณะที่เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเห็นว่าผลกระทบในระยะยาวอาจะเกิดกับสินค้าเกษตรที่มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐสูง เช่น กุ้ง ยางพารา ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงผันผวน ไม่ส่งผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถึงแม้อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารไปยังสหรัฐในระยะยาว ก็ไม่น่ามีผลต่อภาคการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากประเทศไทยยังมีการส่งออกสินค้าอื่น เช่น อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกทั้งไทยยังได้กระจายตลาดการส่งออกสู่ตลาดใหม่ เช่นออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ภาพรวมของการส่งออกไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ