รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2008 12:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • เอกชนเชื่อปี 52 ราคาน้ำมันดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น
  • ธนาคารระวังปล่อยสินเชื่อ คาดปี 52 NPL สูง
  • ญี่ปุ่นและอินเดียลดดอกเบี้ย
HIGHLIGHT:
1. เอกชนเชื่อปี 52 ราคาน้ำมันดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น
  • นักธุรกิจในภาคเกษตรเห็นตรงกันว่าราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศได้ลดลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดว่าปี 2552 ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพารา ข้าวและมันสำปะหลัง จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการพลังงานทดแทนของโลกที่เพิ่มขึ้นและสต๊อกสินค้าเกษตรในหลายประเทศที่ลดต่ำลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนต.ค.51ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรล่าสุดปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร 3 โครงการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพด ซึ่งจะช่วยให้ราคาในตลาดปรับตัวสูงขึ้นตามราคาที่รับจำนำอีกด้วย
2. ธนาคารระวังปล่อยสินเชื่อ คาดปี 52 NPL สูง
  • สถาบันวิจัยนครหลวงไทย รายงานว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพแจงแผนงานปี 52 โดยจะปล่อยสินเชื่อระมัดระวังมากขึ้น โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรก สินเชื่อมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 13.3 ต่อปีอย่างไรก็ดี ขณะที่คาดว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปี 52 จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยคาดว่าถึงสิ้น 51 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะขยับอยู่ที่ระดับร้อยละ 5-6ของสินเชื่อรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในปัจจุบันอัตรา NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำที่ ร้อยละ 6.4 ของสินทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงอาจส่งผลให้ NPL มีแนวโน้มที่อาจเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินเชื่อภาคการบริโภคจากความผันผวนของรายได้ ทั้งนี้ มาตรการของรัฐบาลที่ได้ตั้งเป้าการขยายสินเชื่อในปี 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้น 450 พันล้านบาท จำเป็นต้องดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อรองรับความผันทางเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อไทยในปี 52 ต่อไป
3. ญี่ปุ่นและอินเดียลดดอกเบี้ย
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 31 ต.ค.- 1 พ.ย. ที่ผ่านมา โดย BOJ ปรับลดร้อยละ 0.2 เหลือร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นการลดครั้งแรกในรอบ 6 ปี แต่เป็นการปรับลดที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดร้อยละ 0.25 ขณะที่ RBI ปรับลดแบบฉุกเฉินร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 7.5 หลังจากที่เพิ่งปรับลดถึงร้อยละ 1 เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ธนาคารกลางทั้งสองแห่งลดดอกเบี้ยเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก แต่การที่ BOJ ลดน้อยกว่าคาดบ่งชี้ว่า BOJ คาดว่าสถานการณ์อาจจะยังไม่ดีขึ้นในระยะใกล้ จึงไม่ลดดอกเบี้ยมากนักในปัจจุบันเพื่อเก็บไว้ลดในยามฉุกเฉินในอนาคต อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์ในญี่ปุ่นยังไม่น่าจะดีขึ้นมากนักในระยะใกล้ เนื่องจากภาคธนาคารของญี่ปุ่นมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์สหรัฐเป็นจำนวนมาก จึงเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์การเงินในระดับสูง เช่นเดียวกับในกรณีอินเดืยในช่วงก่อนวิกฤตที่มีเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรมากและทำให้ภาคธนาคารมีความเสี่ยงสูง ทำให้ในปัจจุบันอินเดียเผชิญกับเงินไหลออกเป็นจำนวนมาก และทำให้ CDS ที่ใช้วัดความเสี่ยงของภาคธนาคารอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศค. คาดว่าวิกฤตการณ์การเงินโลกจะยังไม่ผ่อนคลายในระยะสั้น ในขณะที่เอเชียรวมทั้งไทยมีความเสี่ยงจากการลุกลามของวิกฤต (Contagion Effect) มากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ