Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ธ.ค. 2551
SUMMARY:
- ผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์รายใหญ่ของสหรัฐเตรียมปิดโรงงานในไทย พร้อมลดชั่วโมงทำงาน
- ตลาดส่งออกกระทบอุตฯยานยนต์ ออสเตรเลียลดลงร้อยละ 20
- โอเปกประกาศลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังราคาต่ำสุด 4 ปี
HIGHLIGHT:
1. ผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์รายใหญ่ของสหรัฐเตรียมปิดโรงงานในไทย พร้อมลดชั่วโมงทำงาน
- บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล ผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเตรียมสั่งปิดโรงงานผลิต 1 ใน 3 ที่ตั้งอยู่ในไทย รวมทั้งยุติกิจการหรือขายโรงงานผลิต 1 ใน 2 แห่งในมาเลเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการหยุดการผลิตชั่วคราวถึงวันที่ 1 ม.ค. ปีหน้า และลดชั่วโมงการทำงานลงร้อยละ 20 โดยบริษัทยังมีแผนปรับลดพนักงานอีก 2,500 อัตราพร้อมกับปรับลดคาดการณ์ยอดขายในไตรมาส 2 ของปี 52 ลงด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลโดยตรงมายังประเทศไทยแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ supply-chain แหล่งใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมหลายบริษัทในสหรัฐฯ ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยรุนแรงและเรื้อรัง อาจส่งผลถึงการหดตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยและการว่างงานที่สูงกว่าการคาดการณ์ไว้ได้ ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่า ถ้า GDP ของไทยลดลงร้อยละ 1 จะทำให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น 300,000 ตำแหน่ง
2. ตลาดส่งออกกระทบอุตฯยานยนต์ ออสเตรเลียลดลงร้อยละ 20
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่ายอดผลิตรถยนต์คาดว่ามีจำนวน 1.427 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยผลิตเพื่อส่งออก 7.8 แสนคัน เนื่องจากยอดผลิตและการส่งออกช่วงครึ่งปีแรกเติบโตต่อเนื่อง และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ คาดว่าน่าจะมียอดรวม 6.1 แสนคัน แต่จากวิกฤตการเงินโลกจะกระทบส่งออกรถยนต์ในปี 52 โดยมีสัญญาณจากยอดสั่งซื้อจากออสเตรเลียลดลงไปถึงร้อยละ 20 ใน ต.ค.51
- ทั้งนี้ ส่วนแบ่งการส่งออกของไทย มีตลาดหลัก 4 กลุ่ม คือ ออสเตรเลียร้อยละ 25 เอเชียร้อยละ 25 ตอ.กลางร้อยละ 19 ยุโรปร้อยละ 13 ทั้งนี้ แนวโน้มในยุโรปจะได้รับปัจจัยบวกจากการให้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับรถปิดอัพที่ส่งออกไปขาย ส่งผลให้ภาษีมีอัตราถูกลง
- สศค. วิเคราะห์ว่าเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (World Demand Growth Linkage Effect) ในระดับค่อนข้านสูง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 51 มียอดการส่งออกร้อยละ 10.3 ของยอดการส่งออกรวม ดังนั้น ผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก จึงได้ส่งผลกระทบมายังอุตฯยานยนต์ สะท้อนจากประเทศคู่ค้ามียอดการสั่งซื้อรถยนต์จากไทยลดลง โดยอัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 19.0 ต่อปี ในช่วง 3 ไตรมาสแรก เหลือร้อยละ 5.0 ต่อปี ในเดือน ต.ค.51
3. โอเปกประกาศลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังราคาต่ำสุด 4 ปี
- กลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันเพื่อการส่งออก (โอเปก) มีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันลงครั้งใหญ่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากราคาน้ำมันดิบไลต์สวีตที่ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง โดยลดลงถึง 3.6 เหรียญสหรัฐ หรือ 8 % มาปิดที่ราคา 40 เหรียญสหรัฐ ขณะที่การซื้อขายในตลาดเอเชีย ยังได้ทำราคาร่วงหลุด 40 เหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 39.19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งการอ่อนค่าลงของค่าเงินสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยเฟด 0 % ไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันดิบปรับราคาเพิ่มขึ้นได้เลย โดยภาพรวมตลาดกลับวิตกกังวลกับการถดถอยของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ทั้งนี้โอเปกจะมีการประชุมครั้งใหม่ในเดือนมี.ค.52 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าโอเปกอาจต้องปรับลดการผลิตลงอีกครั้ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโอเปกครั้งนี้ เนื่องจากความต้องการน้ำมันในประเทศผู้บริโภครายใหญ่เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และเยอรมัน ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ Supply ที่ยังมีเหลืออยู่มาก ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดราคาลงต่ำสุด และส่งผลต่อเนื่องทำให้มีการปรับลดการผลิตลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันการปรับลดลงของราคาน้ำมันจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยรวมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกให้ได้รับความรุนแรงที่น้อยลง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th