รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 5—9 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2009 16:16 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. รัฐบาลขาดดุลงบประมาณร้อยละ 2 ของ GDP

Cabinet Office ประกาศว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณปี 2554 มีจำนวน 15 ล้านล้านเยน หรือเท่ากับร้อยละ 2 ของ GDP มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ได้ส่งผลให้รายได้การเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย ประกอบกับค่าใช้จ่ายประกันสังคมได้เพิ่มขึ้นจากการที่เป็นสังคมคนแก่มากขึ้น

รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณทั่วไปปี 2552 วงเงิน 88.5 ล้านล้านเยนหรือ 950 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับวงเงินงบประมาณพิเศษจำนวน 12 ล้านล้านเยน สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำให้ต้องเลื่อนการใช้เป้าหมายวินัยทางการคลังออกไปจากเดิมที่ตั้งเป้าจะทำงบประมาณเกินดุลในปี 2554 ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาจัดทำเป้าหมายวินัยทางการคลังใหม่ โดยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาและจะประกาศเป้าหมายใหม่ภายในเดือนนี้

2. รัฐบาลประกาศให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติ

นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านกองทุนเพื่อไปลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนผ่านกองทุนมานั้นมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีรายได้นิติบุคคลซึ่งมีอัตราสูงสุดในโลกหรือเท่ากับร้อยละ 40 ปัจจุบันอัตราการลงทุนจากต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 4 ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างชาติ เช่นอังกฤษ มีอัตรการลงทุนจากต่างชาติถึงร้อยละ 75 ในกลุ่ม EC นั้นมีจำนวนถึงร้อยละ 60 และในสหรัฐฯ มีจำนวนร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติไม่นิยมที่จะมาลงทุนในญี่ปุ่น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมีอัตราภาษีที่สูง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีแนวความคิดที่จะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีการลงทุน โดยมีเป้าหมายจะเริ่มจากเดือน เม.ย.52 นี้ ซึ่งระบบภาษีใหม่นี้จะมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนผ่านกองทุนจะไม่ต้องเสียภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา โดยมีเงื่อนไข 4 ข้อดังนี้

1) นักลงทุนจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีธุรกิจในญี่ปุ่น

2) นักลงทุนจะต้องมีอัตราการลงทุนในกองทุนต่ำกว่าร้อยละ 25

3) นักลงทุนจะต้องมีอัตราการลงทุนในบริษัทกองทุนต่ำกว่าร้อยละ 50

4) นักลงทุนจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับบริษัทกองทุนนั้นๆ

การเปลี่ยนแปลงระบบการเก็บภาษีครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเน้นรูปแบบการลงทุนผ่านกองทุนมากกว่า การเข้าซื้อกิจการ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นนักลงทุนจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีจำนวนการลงทุนในต่างชาติเป็นจำนวนถึง 800 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงของญี่ปุ่นทำให้อัตราการลงทุนในญี่ปุ่นนั้นยังคงมีจำนวนน้อย ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีครั้งนี้ประสบความสำเร็จก็อาจจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนจากตะวันออกกลางหันมาลงทุนในญี่ปุ่นมากขึ้นก็เป็นได้

3. BOJ เตรียมเงินกู้ฉุกเฉิน 1.22 ล้านล้านเยน แก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยแก่ธุรกิจเอกชน

Bank of Japan เตรียมวงเงิน 1.22 ล้านล้านเยนหรือ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเป็นเงินกู้ฉุกเฉินแก่สถาบันการเงิน อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจของประเทศผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยเงินกู้มากขึ้น ลดการลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยเอกชนของญี่ปุ่น ทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากต้องพึ่งแหล่งเงินทุนระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงสิ้นปีงบประมาณหรือช่วงเดือนมี.ค.52 เนื่องจากมีความต้องการเงินทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่บริษัทพยายามปิดงบประมาณประจำปี ภายใต้แผนการดังกล่าว Bank of Japan จะรับหุ้นกู้ หรือตราสารของบริษัทเอกชน หรือตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลักประกัน ในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ โดยไม่มีการจำกัดวงเงิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 หรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานข้ามคืนของ BOJ แต่หากเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยจะมีสัดส่วนที่แพงขึ้น โดยหวังว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น มีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค.52

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ