Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ม.ค. 2552
SUMMARY:
- ส่งออกไตรมาสแรกทรุดหนัก ภาพรวมเฉลี่ยลดลงกว่าร้อยละ 50
- ธปท.ประเมินการว่างงานในปี 52 อาจเพิ่มสูงถึง 1 ล้านคน
- ค้าปลีกสหรัฐฯทรุด หดตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 6
HIGHLIGHT:
1.ส่งออกไตรมาสแรกทรุดหนัก ภาพรวมเฉลี่ยลดลงกว่าร้อยละ 50
- ออร์เดอร์ส่งออกไตรมาสแรกปี 52 ลดลงกว่าร้อยละ 20-50 ผลจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ส่งออกข้าวได้ 8.5 ล้านตัน (น้อยกว่าปี 51 ที่อยู่ที่ 10 ล้านตัน) มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่ประธานกรรมการ บจ.สงวนวงษ์อุตสาหกรรม เผยออร์เดอร์มันสำปะหลังช่วงไตรมาสแรกลดลงกว่าร้อยละ -40 ต่อปี ขณะที่นายกสมาคมยางพาราไทย เผยว่าออร์เดอร์ ส่งมอบยางพาราช่วงไตรมาสแรกลดลงกว่าร้อยละ -30 ต่อปี นอกจากนี้ ประธานกลุ่มอุตฯไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดการณ์การส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มในช่วงไตรมาสแรก หดตัวร้อยละ -20-50
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงส่งผลให้การส่งออกสินค้า (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ที่มีสัดส่วนร้อยละ 56 ของ GDP หดตัวลงร้อยละ -2.7 ต่อปี ในปี 2552 โดยคาดว่าสินค้าอุตสาหกรรมหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ จะหดตัวพร้อมกัน ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการผลิตและการจ้างงาน
2.ธปท.ประเมินการว่างงานในปี 52 อาจเพิ่มสูงถึง 1 ล้านคน
- ธปท.ประเมินการว่างงานในปี 52 กรณีเลวร้ายอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากที่มีผู้ว่างงานอยู่แล้วประมาณ 5 แสนคน โดยผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ถือว่าจะไม่รุนแรงเหมือนปี 40 ที่อัตราว่างงานสูงถึง 4 % สำหรับอัตราการว่างงานของไทยขณะนี้ยังไม่มีสัญญานการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยข้อมูลตัวเลขอัตราการว่างงานเดือนพ.ย.51อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันภาคการผลิตไทยยังไม่มีการปรับลดคนงาน แต่จะใช้วิธีลดชั่วโมงการทำงาน หรือปรับลดเงินเดือนลง อีกทั้งไทยยังมีความยืดหยุ่นสูงในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากระหว่างภาคเศรษฐกิจอื่นๆ กลับไปสู่ภาคเกษตร ดังนั้นการดูแลปัญหาต่างๆ ต้องควรรีบเร่งการดูแลภาคอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงภาคเกษตร
- สศค. วิเคราะห์ว่าจากข้อมูลเชิงประจักษ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยตัวเลขการจ้างงานล่าสุด 11 เดือนซึ่งคำนวณโดย สศค. ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคบริการในสาขาก่อสร้างและขนส่ง จากการได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการเลิกจ้างในแรงงานเหมาช่วง (Sub Contract) และแรงงานทักษะต่ำ ทั้งนี้ จากการประมาณการ พบว่า หาก GDP ชะลอลงร้อยละ 1 จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น 330,000 คน
3. ค้าปลีกสหรัฐฯทรุด หดตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 6
- ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯเดือนธ.ค. 51 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ร้อยละ -2.7 (mom) (โดยถ้าไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -3.1 (mom)) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวลงร้อยละ -2.1 (mom) ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาส4 ที่ถดถอยกว่าที่คาดไว้ได้อย่างชัดเจน โดยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวลงถึงร้อยละ -15.9 (mom) อนึ่ง ทั้งปี 51 ยอดค้าปลีกสหรัฐฯหดตัวลงถึงร้อยละ -0.8 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการเงิน โดยการว่างงานที่สูงขึ้น และส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยตรง ซึ่งภาคค้าปลีกที่ถดถอยนี้ อาจจะส่งผลในรอบสองต่อการจ้างงานที่ลดลงของภาคค้าปลีกอีกได้ ในฐานะที่สหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสองของไทย มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11.4 ของการส่งออกรวมของไทยในช่วง11เดือนแรกของปี 51 ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกสหรัฐฯที่หดตัว ย่อมส่งผลต่อประเทศไทย ทั้งทางตรงในแง่การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และทางอ้อม ในแง่ของการส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆของสหรัฐฯ ทำให้ภาคการส่งออกของไทยในปี 52 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th