บทสรุปผู้บริหาร: วิกฤตการเงินโลกและนัยเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 12:14 —กระทรวงการคลัง

วิกฤตการเงินโลกและนัยเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย

Global Financial Crisis and Policy Implications for Thailand

บทสรุปผู้บริหาร

“มาตรการเศรษฐกิจนอกกรอบถูกนำมาใช้ในต่างประเทศ มีบางมาตรการไม่ประสบผลสำเร็จ”

วิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ภายหลังได้ลุกลามเป็นวิกฤตการเงินโลกนั้น เริ่มจากการเพิ่มขึ้นและลดลงของราคาทรัพย์สินในตลาดที่อยู่อาศัย (Boom and bust in housing markets) การเก็งกำไร การลงทุนและกู้ยืม/ให้สินเชื่อความเสี่ยงสูง ก่อนก่อตัวเป็นปัญหาซับไพรม์ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Sub-prime in housing markets) ในปี 2550

ปัญหาในสถาบันการเงินมีความชัดเจนและทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วในเดือนกันยายน 2551 เมื่อรัฐบาลสหรัฐประกาศเข้ายึดกิจการบริษัท Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของสหรัฐ ในวันที่ 7 กันยายน 2551 และอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Lehman Brothers ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ ประกาศล้มละลาย และมีการประมาณการว่ามีสถาบันการเงินในสหรัฐล้มมากกว่า 100 สถาบัน

มาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศต่างๆ โดยสรุปคือ 1) การลดอัตราดอกเบี้ย 2) การสร้างความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน 3) การเพิ่มสภาพคล่องและฟื้นฟูตลาดการเงิน 4) การเพิ่มความคุ้มครองเงินฝาก และ5) มาตรการอื่น ๆ ในการสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจการเร่งการลงทุนของภาครัฐ การลดภาษีและการให้สินเชื่อต่อภาคการผลิต

สำหรับนัยต่อประเทศไทยนั้น เป็นการวิเคราะห์จากการใช้มาตรการในต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการของไทย สรุปได้ดังนี้

1) มีสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤตการเงิน แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินแล้ว ผลกระทบเป็นไปอย่างรวดเร็วรุนแรงและมีวงกว้างอย่างไม่คาดคิด

2) มีการใช้มาตรการเศรษฐกิจนอกกรอบในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรพิจารณา

3) การใช้นโยบายไม่ให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อประกาศพร้อมกับมาตรการสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ

4) การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยซื้อหลักทรัพย์ในตลาดทุนโดยตรงอาจไม่เหมาะสม

5) ธนาคารแหง่ ประเทศไทยสามารถเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

1. ปัญหาวิกฤตการเงินโลก

วิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ภายหลังได้ลุกลามเป็นวิกฤตการเงินโลกนั้น เริ่มจากการเพิ่มขึ้นและลดลงของราคาทรัพย์สินในตลาดที่อยู่อาศัย (Boom and bust in housing markets) โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง ปี 2548 — 2549 ตลอดจนการเก็งกำไร การลงทุนและกู้ยืม/ให้สินเชื่อความเสี่ยงสูง ก่อนก่อตัวเป็นปัญหาซับไพรม์ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Sub-prime in housing markets) ในปี 2550

เมื่อราคาทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve Banks) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งโดยในครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 จากร้อยละ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.25 ทำให้ลูกหนี้กลุ่มที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งเริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้และกลายเป็นหนี้เสีย และส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในตลาดเริ่มลดลง ซึ่งต่อมาได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้และนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารทางการเงินที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

สัญญาณความรุนแรงของปัญหาสถาบันการเงินเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เมื่อ HSBC ของอังกฤษ ลดมูลค่าทรัพย์สิน 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปัญหา Sub-prime และในเดือนเมษายน 2550 เมื่อ New Century Financial Corporation บริษัทสินเชื่อ Sub-prime ใหญ่อับดับ 2 ของสหรัฐได้ยื่นล้มละลาย และต่อมาสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐได้แก่ Wachovia, Merrill Lynch, Morgan Stanley และ Citigroup รวมทั้งธนาคารอื่นๆ ในหลายประเทศ เช่น Mitsubishi UFS ของญี่ปุ่น และธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์เป็นจำนวนรวมหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ปัญหาในสถาบันการเงินมีความชัดเจนและทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วในเดือนกันยายน 2551 เมื่อรัฐบาลสหรัฐประกาศเข้ายึดกิจการบริษัท Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของสหรัฐ ในวันที่ 7 กันยายน 2551 และอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Lehman Brothers ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ ประกาศล้มละลาย ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่ Lehman Brothers ซึ่งการประกาศดังกล่าวได้สร้างความกังวลและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดการเงินสหรัฐ โดย Dow Jones สูงสุด 11,629 จุด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551 ก่อนตกลงต่ำสุดที่ 7,773 จุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 โดยลดลง 3,856 จุด หรือร้อยละ 33.1 จากจุดสูงสุดในเดือนกันยายน 2551

อย่างไรก็ตาม หลังจากผลกระทบอย่างรุนแรงของการล้มละลายของ Lehman Brothers ต่อตลาดทุน ในวันที่ 16 กันยายน 2551 ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้เข้าช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยการปล่อยกู้ให้เป็นจำนวนเงิน 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ได้มีการให้เหตุผลว่าปัญหาการเงินของ AIG หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างรุนแรงต่อระบบการเงินสหรัฐและระบบการเงินโลก

วิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง และ IMF คาดว่าวิกฤตครั้งนี้ จะมีความรุนแรงมากที่สุดนับแต่ วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 1929 (The Great Depression 1929) เนื่องจากในปัจจุบันโลกเรามีการเชื่อมโยงทางการเงินสูงการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการที่ประเทศสหรัฐเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก นักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศทั่วโลกได้มีการลงทุนในตราสารการเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินของสหรัฐเมื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ประสบปัญหาขาดทุนจากตลาดที่อยู่อาศัยและปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จึงทำให้ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐได้ลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว

ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในครั้งนี้ เนื่องจากตลาดเงินในยุโรปมีการพัฒนาและมีธุรกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับสหรัฐสูง โดยรัฐบาลอังกฤษได้เข้าควบคุมกิจการของธนาคาร Bradford & Bingley ในวันที่ 29 กันยายน 2551 ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งที่สองของอังกฤษที่ถูกโอนกิจการไปเป็นของรัฐ รองจากธนาคาร Northern Rock ที่ถูกโอนไปอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐในเดือนกันยายน 2550

นอกจากนี้รัฐบาลและธนาคารกลางหลายประเทศในยุโรปได้เข้าแทรกแซงสถาบันการเงินที่มีปัญหาเพื่อบรรเทาความปั่นป่วนในตลาดเงินของยุโรปและเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเช่น เอเชีย แม้ผลกระทบทางตรงหรือผลกระทบต่อสถาบันการเงินนั้นยังมีไม่มากแต่ผลกระทบทางอ้อมที่มาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและผลกระทบที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องระวังและหาทางรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

2. มาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในต่างประเทศ

มาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศต่างๆ โดยสรุปคือ 1) การลดอัตราดอกเบี้ย 2) การสร้างความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน 3) การเพิ่มสภาพคล่องและฟื้นฟูตลาดการเงิน 4) การเพิ่มความคุ้มครองเงินฝาก และ 5) มาตรการอื่น ๆ ในการสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งการลงทุนของภาครัฐ การลดภาษีและการให้สินเชื่อต่อภาคการผลิต

สำหรับการใช้มาตรการต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

1) การลดอัตราดอกเบี้ย เป็นแนวทางสำคัญที่ทุกประเทศได้มีการดำเนินการ เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง ลดปัญหา NPL รวมทั้งลดต้นทุนของระบบสถาบันการเงินและภาคการผลิต ในขณะเดียวกันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบของปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยประเทศสหรัฐได้มีการลดดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 5.25 เมื่อ 17 สิงหาคม 2550 เหลือ 0 - 0.25 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2551 โดยประเทศอื่น ๆ ได้ลดดอกเบี้ยลงมากในเดือนกันยายน 2551 ทั้งสหภาพยุโรปอังกฤษ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยกเว้นประเทศไทยที่ลดดอกเบี้ยครั้งแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 รายละเอียดดังนี้

2) การสร้างความเชื่อมั่นระบบสถาบันการเงิน เป็นมาตรการสำคัญที่ดำเนินการเพื่อรักษาความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน โดยรูปแบบที่สำคัญคือ

(1) การประกาศไม่ให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้ม เช่น การประกาศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2551 ของกลุ่มประเทศ G7 ที่ประกาศไม่ให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้ม

(2) การเข้าเพิ่มทุนและให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือโดยลงทุนในรูปหุ้นบุริมสิทธิและการให้เงินกู้ยืม เช่น สหรัฐมีแผนการใช้เงินเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิของสถาบันการเงินจำนวน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อังกฤษมีแผนการเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิของสถาบันการเงินจำนวน 5 หมื่นล้านปอนด์ และฝรั่งเศสมีแผนการเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิของสถาบันการเงินจำนวน 4 หมื่นล้านยูโร สำหรับการให้กู้ยืมนั้น

นอกจากนี้ยังได้มีการเข้ายึดกิจการสถาบันการเงินโดยภาครัฐ ตลอดจนการเข้าช่วยสนับสนุนการเพิ่มทุนและการควบรวม ของสถาบันการเงิน ทั้งในสหรัฐและยุโรปเช่น การเข้ายึดกิจการ Indy Mac Bank, Fannie Mae และ Freddie Mac โดยธนาคารกลางสหรัฐ การเข้ายึดกิจการ Bradford & Bingley Bank โดยกระทรวงการคลังอังกฤษ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐช่วย CITI Group เข้าซื้อกิจการ Wachovia Bank

(3) การค้ำประกันการกู้ยืมระหว่างธนาคาร เช่นการค้ำประกันการกู้ยืมทุกประเภทของธนาคารในออสเตรเลีย การค้ำประกันการกู้ยืมระหว่างธนาคารจำนวน 2 แสนล้านยูโรของเนเธอร์แลนด์

(4) การค้ำประกันหนี้และตราสารหนี้ ของสถาบันการเงิน เช่น การค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินของสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ การค้ำประกันตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน

(5) การผ่อนคลายกฎระเบียบของสถาบันการเงิน เช่น การประกาศของกลุ่มประเทศยุโรป 15 ประเทศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ผ่อนคลายมาตรฐานทางบัญชีสำหรับสถาบันทางการเงิน

3) การเพิ่มสภาพคล่องและฟื้นฟูตลาดการเงิน เป็นมาตรการสำคัญที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องตลาดการเงินโดยรูปแบบที่สำคัญคือ

(1) การเพิ่มสภาพคล่องโดยธนาคารกลาง ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ทำการเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินโดยวิธีต่าง ๆ ทั้งการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน ตลอดจนของสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัย

(2) การเพิ่มสภาพคล่องโดยรัฐบาล รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและทำการซื้อตราสารทางการเงินคุณภาพดี ตลอดจนตราสารการเงินของสถาบันการเงิน เช่นการซื้อ Mortgage related securities จากสถาบันการเงินตาม TARP และการรับแลก Mortgage related securities เป็นตราสารการเงินรัฐบาลในประเทศอังกฤษเป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน

4) การขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก เป็นแนวทางสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบการเงิน ได้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ โดยประเทศส่วนใหญ่ได้ทำการปรับวงเงินการคุ้มครองเงินฝากเป็นเต็มจำนวน รายละเอียดดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา เพิ่มวงเงินจาก 100,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 250,000 เหรียญสหรัฐ เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นปี 2552
  • อังกฤษ เพิ่มวงเงินจาก 33,000 ปอนด์สเตอริง เป็น 50,000 ปอนด์สเตอริง
  • เดนมาร์ก เยอรมัน ออสเตรียและไอร์แลนด์ เปลี่ยนเป็นคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน
สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย มีการดำเนินการดังนี้
  • สิงค์โปร์ มาเลเซีย เกาหลี และฮ่องกง เปลี่ยนเป็นคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน
  • ฟิลิปปินส์ เพิ่มวงเงินจาก 250,000 เปโซ เป็น 500,000 เปโซ
  • อินโดนีเซีย เพิ่มวงเงินจาก 100 ล้านรูเปีย เป็น 2,000 ล้านรูเปีย
  • นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียเปลี่ยนเป็นคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน

5) การใช้มาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากมาตรการที่ได้มีการกล่าวถึง ประเทศต่าง ๆ ได้มาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นรวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคการผลิต อาทิ การเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างาน การเร่งการลงทุนของภาครัฐ การลดภาษีและการให้สินเชื่อต่อภาคการผลิต อาทิ สหรัฐ มีแผนการลดภาษี 150 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับวงเงินที่ใช้ในการฟื้นฟูวิกฤตการเงิน ของประเทศต่าง ๆ มีมูลค่าสูงมาก ทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่น สหรัฐและประเทศในยุโรป ตลอดจนประเทศ ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นประเทศในเอเชียต่าง ๆ แต่ประเทศที่มีการใช้วงเงินสูงสุดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจคือประเทศสหรัฐ จีนและอังกฤษ ที่มีการใช้ เงิน โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ และจีนมีการการใช้เงินสูงเมื่อเทียบกับ GDP ที่คิดเป็นร้อยละ 21 และ 16 ต่อ GDP ตามลำดับ โดยวงเงินที่ใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินสรุปได้ตามแผนภาพที่ 3 ดังนี้

ประเทศต่าง ๆ ได้มีการใช้มาตรการทางการคลังในระดับสูงเกินเกณฑ์ปรกติ เช่นในสหภาพยุโรปที่มีเกณฑ์การขาดดุลการคลังไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP แต่แทบทุกประเทศขาดดุลเกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าว

3. มาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตการเงินครั้งนี้เท่าใดนัก แต่จากสัญญาณและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นเพียงแค่ภาวะตกต่ำแบบธรรมดาแต่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และสำหรับมาตรการสำคัญที่ได้มีการดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

4. มาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินและนัยต่อประเทศไทย
สำหรับนัยต่อประเทศไทยนั้น เป็นการสรุปและวิเคราะห์จากการใช้มาตรการในต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการของไทย

1) มีสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤตการเงิน แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินแล้ว ผลกระทบเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรงและมีวงกว้างอย่างไม่คาดคิด สัญญาณเตือนภัยวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 2549 ที่มีปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาทรัพย์สินและการเริ่มต้นของปัญหา NPL ในภาคที่อยู่อาศัย และต้นปี 2550 ที่ HSBC ขาดทุนจาก mortgage securities มูลค่า 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐตลอดจนการล้มละลายของ New Century Financial Corporation

การเกิดวิกฤตการเงินโลกในครั้งนี้ มีความรุนแรงและกระทบในวงกว้างอย่างไม่คาดคิด โดยเริ่มในตลาด Sub-prime mortgages ที่มีขนาดเพียง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ12.2 ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage marketss) ในสหรัฐ ที่มีขนาด 10.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และภายหลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว กระทบตลาดการเงินอื่นและระบบสถาบันการเงินอย่างรุนแรง ทั้งในสหรัฐและยุโรป และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกในที่สุด

2) มีการใช้มาตรการเศรษฐกิจนอกกรอบในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรพิจารณา มีการใช้มาตรการทั้งทางการเงินและทางการคลังนอกกรอบ อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 5.25 เมื่อ 17 สิงหาคม 2550 เหลือ 0 — 0.25 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ต่ำเป็นประวัติการณ์ การช่วยสถาบันการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ กรณี AIG มูลค่า 85 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 16 กันยายน 2551 และเพิ่มอีก 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 เป็นการช่วยเหลือสถาบันการเงินสูงเป็นประวัติการณ์ และการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน 105 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 18 กันยายน 2551 วันเดียว สูงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน จาก 300 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 600 พันล้านเหรียญสหรัฐและ SWAP facilities กับธนาคารกลางประเทศอื่น จาก 290 เป็น 620 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการซื้อตราสารทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่าเกณฑ์ การผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งมาตรฐานทางบัญชี

ในส่วนของกระทรวงการคลัง นอกจาก TARP ที่มีมูลค่า 850 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังมีแผนค้ำประกันตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐ 1,500 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งหมดเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับการใช้มาตรการทางการคลังทั้งในสหรัฐและอีกหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย ล้วนแต่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์และเกินกว่าเกณฑ์ปรกติที่ยอมรับ เช่น สหภาพยุโรปมีข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกไม่ให้มีการขาดดุลการคลังเกินร้อยละ 3 ของ GDP โดย Deutsche Bank คาดว่าในปี 2552 สหรัฐ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น จะขาดดุลการคลังต่อ GDP ร้อยละ 8.2, 8.0, 4.3 และ 4.2 ตามลำดับ และ Emerging East Asia ในปี 2552 จะขาดดุลการคลังต่อ GDP ร้อยละ 2.8 จากเกินดุลการคลังร้อยละ 1.4 ในปี 2551

ในกรณีของประเทศไทยซึ่งสถาบันการเงินได้รับผลกระทบไม่มากจากวิกฤตการเงินโลก แต่ผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อสภาพคล่องและเศรษฐกิจจริงอยู่ในระดับสูง มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงมีความจำเป็นมาก สำหรับมาตรการที่ใช้ในต่างประเทศคือ การเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบโดยวิธีการต่าง ๆ ของธนาคารกลาง การเพิ่มการใช้งบประมาณ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลดภาษี ซึ่งการดำเนินมาตรการในต่างประเทศทั้งของธนาคารกลางและกระทรวงการคลังใช้มาตรการนอกกรอบและเข้มข้นมากกว่าในอดีต เพื่อนำระบบการเงินกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วและบรรเทาปัญหาจากการวิกฤตเศรษฐกิจ

3) การใช้นโยบายไม่ให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อประกาศพร้อมกับมาตรการสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เมื่อวิเคราะห์มาตรการในต่างประเทศพบว่ามาตรการของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะการร่วมประกาศโดยกลุ่ม G7 ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบสถาบันการเงินในยุโรป และทำให้ตลาดเงินกลับคืนสู่ภาวะปรกติได้อย่างรวดเร็ว สำหรับมาตรการเสริมสำหรับสถาบันการเงิน ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้โดย ธนาคารกลาง อาทิ

  • การช่วยเพิ่มสภาพคล่องสถาบันการเงินโดยเฉพาะในรูปหุ้นบุริมสิทธิ
  • การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ สำหรับสถาบันการเงิน
  • การซื้อตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน
  • การค้ำประกันตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน

4) การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยซื้อหลักทรัพย์ในตลาดทุนโดยตรงอาจไม่เหมาะสม ในกรณีของประเทศไทยมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้น แต่จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าไม่มีการดำเนินการช่วยตลาดทุนโดยเฉพาะจัดตั้งกองทุนลงทุนในตลาดหุ้น ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินอย่างสูง แต่ในสหรัฐ ยุโรปตลอดจน เอเชีย ภาครัฐไม่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้น ไม่มีการช่วยเพิ่มทุน ไม่มีการค้ำประกันตราสารหนี้หรือตราสารทางการเงินสำหรับบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

5) ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อวิเคราะห์การดำเนินมาตรการของไทยตั้งแต่เกิดการล้มละลายของ Lehman Brothers พบว่ามาตรการที่สำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการลดดอกเบี้ยในขณะที่กระทรวงการคลังได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ไปมาก อาทิ การขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก การเพิ่มสินเชื่อให้ระบบเศรษฐกิจโดยเพิ่มทุนให้ ธนาคาร SMEs และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และการเพิ่มงบประมาณกลางปี 100,000 ล้านบาท และพบว่าในต่างประเทศธนาคารกลางต่าง ๆ ดำเนินมาตรการอย่างเต็มกำลัง ให้ความสำคัญกับการฟื้นระบบสถาบันการเงินในการกลับมาปล่อยสินเชื่อ โดยลดความสำคัญกับเป้าหมายเงินเฟ้อ จนถึงการสร้างการคาดการณ์เงินเฟ้อให้สูงขึ้น

โดย เวทางค์ พ่วงทรัพย์

กุลวีร์ วรรณพานิช

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ