เศรษฐกิจปี 2552 และค่าเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2009 10:04 —กระทรวงการคลัง

เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะถดถอย 12.1 % ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ดอยซ์แบงค์คาดว่า ดอลลาร์จะแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินปอนด์ ไปอยู่ที่ระดับ 1.20 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.30 ดอลลาร์ต่อปอนด์ เพราะธนาคารกลางของสหภาพยุโรปคงจะลดดอกเบี้ยเหลือ 0.75 % จากระดับเดิมที่ 2.5 % และธนาคารกลางของอังกฤษคงจะลดดอกเบี้ยเช่นกัน เหลือ 0.5 % จากระดับ 2 %

คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาเติบโต 1.6 % ในปี 2010 หลังจากที่จะหดตัวใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ 16 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะหดตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2009 และขยายตัวร้อยละ 1 ในปี 2010 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี คาดว่าจะให้ผลตอบแทน 0.5 % เหนือพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันนี

ในปีที่ผ่านมา การขายดอลลาร์จะทำให้คนขายขาดทุน โดยวัดจากดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 % ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 ที่เคยเพิ่มขึ้น 13 % ในขณะที่เงินสกุลเยนและเงินสกุลสวิสฟรังค์ก็ได้อานิสงค์จากการที่นักลงทุนกลัวความเสี่ยง เงินเยนปรับเพิ่มขึ้น 19 % และเงินสวิสฟรังค์ปรับเพิ่มขึ้น 5.7 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

เงินออสเตรเลียดอลลาร์อ่อนค่าลงกว่า 20 % เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ตกลงกว่า 30 % เมื่อเทียบกับเงินเยน โดยรวมแล้วสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนามีค่าลดลงมากโดยวัดจากดัชนี MSCI Emerging Market มีค่าลดลงกว่า 54.5 % อย่างไรก็ตาม ความต้องการผลตอบแทนที่สูงจะทำให้มีความต้องการอย่างมากในค่าเงินออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในอนาคต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเหล่านี้สูงกว่าของญี่ปุ่นถึง 4 % และหากประเทศเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ค่าเงินก็จะหันกลับมาแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสกุลเงินของโปแลนด์ บราซิล และอินโดนีเซีย จะเป็นเงินที่มีโอกาสแข็งค่าที่สุด โดยเงินสกุล Zloty น่าจะแข็งค่าได้ถึง 2.39 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และเงินสกุล Real น่าจะแข็งค่าได้ถึง 1.90 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และเงิน Rupiah น่าจะกลับไปสู่ระดับ 10,000 ได้ภายในเดือนกันยายนนี้

พันธบัตรที่ออกโดยประเทศกำลังพัฒนาเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลงจากที่เคยอยู่ที่ 8.62 ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มาเป็น 6.94 ในตอนนี้

ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยน่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3 ในปีนี้ จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วที่รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.4

หากเมื่อไหร่ที่เราเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้ว การกลัวความเสี่ยงของนักลงทุนก็จะน้อยลง แต่ใน ขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่โลกท่วมไปด้วยเงินดอลลาร์ที่พิมพ์ออกมาเพิ่ม และหนี้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาให้ประเทศต่างๆ ซื้อ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 นี้ สัดส่วนของดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่ในเงินสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 64.6 เปอร์เซ็นต์ สูงขึ้นกว่าเมื่อกลางปีที่อยู่ที่ 63 % แสดงว่ารัฐบาลทั่วโลกได้หันมาสะสมเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตราสารการเงินที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

นักลงทุนทั่วโลกซื้อดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อใช้ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และเก็บไว้ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปกป้องความเสี่ยงทั้งความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออก และความเสี่ยงหากลงทุนในตลาดหุ้น

โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ