บทสรุปผู้บริหาร: การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่ง่งขันของไทยในยุควิกฤตเศรษฐกิจโลก?

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2009 11:48 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ความสามารถในการแข่งขัน คือ ขีดความสามารถและผลประกอบการของประเทศในแง่ของการสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบกิจการ ในบทวิเคราะห์นี้ เป็นการวิเคราะห์จากการจัดอันดับของ IMD และ WEF ซึ่งการประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น จะช่วยให้เราเข้าใจถึงจุดเด่นและจุดด้อยของประเทศในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ณ ช่วงเวลาเดียวกัน และสามารถพัฒนาประเทศในเชิงของการแข่งขันในเวทีโลกได้

ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าอินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ด้อยกว่า สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย

จุดแข็งของประเทศไทย อยู่ทางด้านขนาดของตลาด เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน ในขณะที่ความพร้อมด้านเทคโนโลยี สถาบัน เสถียรภาพทางการเมืองการศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน คือตัวอย่างของจุดอ่อนของไทย

แนวนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของไทย จะต้องนำเอาจุดแข็งและจุดอ่อน ตลอดจนโอกาสและปัจจัยเสี่ยงของความสามารถในการแข่งขันของไทย มาพิจารณา วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ประเมินจุดเด่นและจุดด้อยดังที่ว่า พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน พร้อมรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้

กลยุทธ์สำหรับแนวนโยบายดังกล่าว เช่น การขยายการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไปสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีการเพิ่มมูลค่า ในขณะเดียวกัน ควรเร่งสนับสนุนการศึกษาและวิจัยการนำสินค้าเกษตรที่ล้นตลาดมาใช้เป็นพลังงานทดแทน การพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ทันสมัยขึ้น เช่น นำรถไฟความเร็วสูงมาใช้วิ่งระหว่างเมืองใหญ่ๆของแต่ละภาค เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางและขนส่งภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็หันมาศึกษาการใช้พลังงานแนวใหม่สำหรับการขนส่งทางราง เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานรูปแบบเก่า อีกทั้งใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจการใช้พลังงานทางเลือก การส่งเสริมและให้ความรู้การใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกแก่ผู้ประกอบการ และการ พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับเวทีโลก เพื่อขจัดการกีดกันทางการค้าและแบ่งปันแนวนโยบายพัฒนาบุคลากร

1. บทนำ

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National Competitiveness) ถูกนิยามไว้ว่า คือ ขีดความสามารถและผลประกอบการของประเทศในสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบกิจการ ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ก็จะมีระดับความสามารถในการผลิต (Productivity) ที่สูง และทำให้สามารถรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้อย่างยั่งยืน การที่ความสามารถดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ จำต้องมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคมการเมืองการปกครอง เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น การศึกษาความสามารถในการแข่งขันของไทย จะช่วยให้เราเข้าใจถึงจุดเด่นและจุดด้อยของประเทศ และสามารถพัฒนาประเทศในเชิงของการแข่งขันในเวทีโลกได้ เสมือนมีแผนที่และเข็มทิศของการพัฒนาประเทศช่วยนำทาง

การประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ดัชนีที่คำนวนโดยหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งจัดทำเป็นรายปีเพื่อจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆทั่วโลก การใช้ดัชนีดังกล่าวในการประเมินสถานะของประเทศไทย ก็เพื่อจุดประสงค์เพื่อใช้ปรียบเทียบเชิงภาคตัดขวาง (Cross-sectional comparison) เพื่อจะได้เห็นตำแหน่งของประเทศไทยในเวทีโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยตามวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก ประเทศไทยจึงควรเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการสำรวจและศึกษาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน รวมทั้งโอกาสและปัจจัยเสี่ยงของประเทศในเชิงความสามารถในการแข่งขัน เพื่อพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของประเทศไทย ให้ก้าวขึ้นมาอยู่ร่วมกับประเทศแนวหน้าที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ก้าวไกลและยั่งยืน

2. หน่วยงานและเกณฑ์การจัดอันดับ

การจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันนั้น มีสองหน่วยงานต่างประเทศที่จัดทำและคำนวนดัชนีความสามารถในการแข่งขัน(Competitiveness Index) ของแต่ละประเทศ และมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยออกมา สองหน่วยงานดังกล่าวได้แก่ IMD หรือ Institute for Management Development ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ WEF หรือ World Economic Forum เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงกำไร ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีเกณฑ์ในการจัดอันดับที่แตกต่างกัน สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

การจัดอันดับของ IMD ใน World Competitiveness Yearbook

IMD จัดอันดับโดยใช้เกณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ ผลประกอบการของเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของรัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งเกณฑ์แต่ละด้าน จะถูกจัดแบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อย ดังนี้

(1) ผลประกอบการของเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประกอบด้วย 1) เศรษฐกิจภายในประเทศ(Domestic economy) 2) การค้าระหว่างประเทศ (International trade) 3) การลงทุนระหว่างประเทศ (International investment) 4) การจ้างงาน (Employment) และ 5) ระดับราคา (Prices)

(2) ประสิทธิภาพของรัฐ (Government Efficiency) ประกอบด้วย 1) รายรับและรายจ่ายของรัฐ (Public finance) 2) นโยบายการคลัง (Fiscal policy) 3) กรอบสถาบัน (Institutional framework) 4) กฎระเบียบในการทำธุรกิจ (Business legislation) และ 5) กรอบนโยบายทางสังคม (Societal framework)

(3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ประกอบด้วย 1) ความสามารถในการผลิต(Productivity) 2) ตลาดแรงงาน (Labor market) 3) การเงิน (Finance) 4) การบริหารจัดการ (Management practices) และ 5) ทัศนคติและค่านิยม (Attitudes and values)

(4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วย 1) โครงสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Basic infrastructure) 2) โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technological infrastructure) 3) โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific infrastructure) 4) สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and environment) 5) การศึกษา (Education)

การจัดอันดับของ WEF ใน Global Competitiveness Report

WEF จัดลำดับขีดความสามารถของประเทศโดยแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามระดับของการพัฒนาประเทศ ซึ่งวัดโดยรายได้ประชาชาติต่อหัว ได้แก่ i) เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยการผลิต (Factor-driven economy) ซึ่งมักจะเป็นประเทศที่ยังด้อยพัฒนา เช่น บังคลาเทศ กาน่า เวียตนาม ซิมบับเว เป็นต้น ii) เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพของการผลิต (Efficiency-driven economy) ซึ่งมักจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย บราซิล เปรู ยูเครน เป็นต้น และ iii) เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมการผลิต (Innovation-driven economy) ซึ่งมักเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง เช่นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้นในการจัดทำดัชนีมีเกณฑ์การวัด 3 ด้านหลัก ดังนี้

(1) กลุ่มดัชนีขั้นพื้นฐาน (Basic Requirements) ประกอบด้วยกลุ่มดัชนีย่อย ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้แก่ 1) สถาบัน (Institutions) 2) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructures) 3) ความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability) และ 4) สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Health and primary education)

(2) กลุ่มดัชนีการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ประกอบด้วยกลุ่มดัชนีย่อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพของประเทศนั้นๆ ได้แก่ 1) การอบรมและการศึกษาขั้นสูง (Higher education and training) 2) ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency) 3) ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน(Labor market efficiency) 4) ความซับซ้อนของตลาดการเงิน (Financial market sophistication) 5) ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technological readiness) และ 6) ขนาดของตลาด (Market size)

(3) กลุ่มดัชนีนวัตกรรม และปัจจัยที่มีความซับซ้อน (Innovation and Sophistication Factors) ประกอบด้วยกลุ่มดัชนีย่อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมของประเทศนั้นๆ ได้แก่ 1) ความซับซ้อนทางธุรกิจ (Business Sophistication) และ 2) นวัตกรรม (Innovation)

เกณฑ์แต่ละด้านจะมีน้ำหนักต้างกันในการคิดดัชนีของประเทศที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาที่ต่างกัน เช่น ในการคิดดัชนีของประเทศกัมพูชา ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยการผลิต จะใช้น้ำหนักของเกณฑ์ขั้นพื้นฐานมากกว่าประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมการผลิต ในทางกลับกัน น้ำหนักของเกณฑ์กลุ่มดัชนีนวัตกรรม และปัจจัยที่มีความซับซ้อนของประเทศสหรัฐฯ ก็จะสูงกว่าของประเทศกัมพูชา ในขณะเดียวกัน เกณฑ์แต่ละด้านก็จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะต่างๆต่างกัน โดยเกณฑ์กลุ่มดัชนีขั้นพื้นฐานจะเป็นปัจจัยหลักสำหรับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยการผลิต เกณฑ์กลุ่มดัชนีการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นปัจจัยหลักต่อเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพของการผลิตและสุดท้าย เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมการผลิตจะมีกลุ่มดัชนีนวัตกรรม และปัจจัยที่มีความซับซ้อนเป็นปัจจัยสำคัญในการคิดคะแนน

3. ตำแหน่งปัจจุบันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ตามการจัดลำดับของ IMD ของปี 2551 นั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ปรับตัวสูงขึ้นจากลำดับที่ 33 ในปี 2550 โดยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าอินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่มีความสามารถในการแข่งขันด้อยกว่า สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย

อันดับความสามารถของไทย เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามการจัดอันดับของ IMD
ประเทศ 2546 2547 2548 2549 2550 2551 สิงคโปร์ 4 2 3 3 2 2 จีน 27 22 29 18 15 17 มาเลเซีย 21 16 26 22 23 19 อินเดีย 42 30 33 27 27 29 ไทย 28 26 25 29 33 27 ฟิลิปปินส์ 41 43 40 42 45 40 อินโดนีเซีย 49 49 50 52 54 51 จำนวนประเทศทั้งหมด 51 51 51 53 55 55 ที่มา: IMD World Competitiveness Year Book 2007

ในขณะเดียวกัน ตามการจัดลำดับของ WEF ในปี 2551/2552 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 เลื่อนลงจากลำดับที่ 28 ในปี 2550 โดยเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเดียวกัน ตำแหน่งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันเหมือนกับการจัดอันดับของ IMD คือ มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าอินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ด้อยกว่า สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย

อันดับความสามารถของไทย เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามการจัดอันดับของ WEF
ประเทศ 2546 2547 2548 2549 2550 2551 สิงคโปร์ 6 7 5 5 7 5 จีน 44 46 48 54 34 30 มาเลเซีย 29 31 25 26 21 21 อินเดีย 56 55 45 43 48 50 ไทย 32 34 33 35 28 34 ฟิลิปปินส์ 66 76 73 71 71 71 อินโดนีเซีย 72 69 54 55 54 55 จำนวนประเทศทั้งหมด 101 104 117 122 131 134 ที่มา: WEF Global Competitiveness Report 2008-2009

จากการจัดอันดับทั้งสองสำนัก จะเห็นได้ว่า อันดับของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันตั้งแต่ปี 2546 คืออยู่ในช่วงอันดับ 25-35 สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นสิงคโปร์ ที่อยู่ใน 10 อันดับแรกมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าจับตามองว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของจีน มีอันดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 27 ในปี2546 มาเป็นอันดับที่ 17 ในปี 2551 ตามการจัดอันดับของ IMD และจากอันดับที่ 44 ในปี2546 มาเป็นอันดับที่ 30 ในปี 2551 ตามการจัดอันดับของ WEF

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่อยู่ในระดับของการพัฒนาระดับเดียวกัน คือ ระดับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพของการผลิตแล้ว ประเทศไทยจัดว่ามีขีดความสามารถหลายด้านที่อยู่เหนือค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดของตลาด โครงสร้างพื้นฐาน และประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน ในขณะที่ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของประเทศไทย ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเริ่มมีความพร้อมจะเข้าสู่ transition stage จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพของการผลิต เข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมการผลิตแล้ว โดยประเทศที่อยู่ในรอยต่อดังกล่าว ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย ไต้หวัน การ์ตา และ บาห์เรน เป็นต้น

4. ปัญหาของประเทศไทย

เมื่อพิจารณาขีดความสามารถของไทยในแต่ละด้านในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามเกณฑ์ของ IMD จะพบว่าประเทศไทยมีจุดด้อยทางด้านสาธารณูปโภคเป็นหลัก โดยอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด ถึงแม้ว่าในปี 2551 อันดับจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ก็ยังคงอยู่ในครึ่งล่างของอันดับรวม ทั้งนี้ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย ชะงักงันมาตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2510-2514 หรือระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 อีกทั้งโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินในเขตกรุงเทพฯ ที่ถึงแม้จะมีการเร่งการขยายเส้นทาง แต่ด้วยการก่อสร้างที่ล่าช้าประกอบกับปัญหาทางการเมือง ทำให้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น รถไฟ ท่าเรือ และประสิทธิภาพของการจ่ายไฟฟ้าของประเทศไทย ก็ยังจัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

เมื่อพิจารณาเกณฑ์การจัดอันดับของ WEF จะพบว่า โครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพของตลาดแรงงานและขนาดของตลาดทั้งภายในและภายนอก เป็นปัจจัยเด่นของประเทศไทย โดยที่ในการพิจารณาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานนั้น WEF ประเทศไทยมีขีดความสามารถในแง่ของท่าอากาศยานที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก และมีความทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นยังคงเป็นจุดด้อยของไทย สอดคล้องกับการจัดอันดับของ IMD ส่วนประสิทธิภาพของตลาดแรงงานนั้น ได้คะแนนจากปัจจัยความร่วมมืออันดีของนายจ้างและลูกจ้าง ค่าตอบแทนแรงงานนอกเหนือจากค่าจ้างที่สูง ความมั่นคงของการจ้างงาน และอัตราสมองไหลที่ต่ำ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านสถาบัน ความมั่นคงของเศรษฐกิจ สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอบรมและการศึกษาขั้นสูง ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ความซับซ้อนของตลาดการเงิน ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ขนาดของตลาด ความซับซ้อนทางธุรกิจ และ นวัตกรรม ยังคงเป็นปัจจัยด้อยที่ฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยด้านการศึกษา ซึ่งเกี่ยวพันกับความพร้อมด้านเทคโนโลยีและปัจจัยด้านนวัตกรรมอื่นๆ ที่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเสมอมา ดังจะเห็นได้จากตัวเลขจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่มีอายุเกิน 15 ปี ที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาแต่ตัวเลขล่าสุดของปี 2549 อยู่ที่ 7.85 ปี หรือไม่เกินระดับมัธยมต้น ซึ่งยังคงต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับของไทย

จากการสำรวจตามแบบสอบถามที่ WEF ส่งไปยังนักธุรกิจทั่วโลก ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด 5 อันดับในการทำธุรกิจในประเทศไทย คือ ปัญหาด้านความมั่นคงของรัฐบาลและความเสี่ยงในการมีรัฐประหาร (Government instability/coup)ความไม่มั่นคงของนโยบาย (Policy instability) ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ (Inefficient government bureaucracy) การคอร์รัปชั่น (Corruption) และปัญหาด้านเงินเฟ้อ (Inflation) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปํญหา 4 ใน 5 ข้อ ล้วนมาจากเกณฑ์ด้านสถาบันและโครงสร้างการบริหารราชการ

เมื่อพิจารณาจุดเด่นและจุดด้อยของประเทศไทยในเชิงความสามารถทางการแข่งขันแล้ว สามารถสรุปตาม SWOT analysis ได้ดังนี้

จุดแข็ง (Strength)

(1) ภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนถึงร้อยละ 8.8 ของ GDP และเกษตรกรไทยเป็นผู้ผลิตที่มีฝีมือศักยภาพและมีประสบการณ์ โดยประเทศไทยมีเกษตรกรถึง 13.9 ล้านคน หรือร้อยละ 38 ของแรงงานรวม

(2) ระบบขนส่งทางถนนและทางอากาศที่ครอบคลุม โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิที่ใหญ่และทันสมัยรองรับผู้โดยสารได้ถึงปีละ 45 ล้านคน

(3) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดี ทั้งภายใน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำในระดับเฉลี่ยร้อยละ 2.3 ต่อปี ในปี2550 การว่างงานที่ต่ำที่ร้อยละ 1.4 ในช่วง 10 สิบเดือนแรกของปี 2551 และหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ร้อยละ 36.9 ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การออมอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 35) และภายนอก (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น)

(4) กระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และจดทะเบียนทรัพย์สินที่สะดวกรวดเร็ว โดยการขอใบอนุญาติก่อสร้างของไทยใช้เวลาเพียง 156 วัน และมีต้นทุนคิดเป็นร้อยละ 9.4 ของรายได้ประชาชาติต่อหัว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของในภูมิภาคอยู่ที่ 174.3 วัน และร้อยละ 171.0 ตามลำดับ

(5) ภาษีธุรกิจที่ต่ำ และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาก โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุนในไทยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(6) ตลาดที่ใหญ่ และการค้าข้ามพรมแดนที่สะดวก โดยตลาดอาเซียนมีประชากรถึงกว่า 570 ล้านคน

(7) ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมากมาย โดยเฉพาะทรัพยากรทางการท่องเที่ยว

จุดอ่อน (Weakness)

(1) ระบบขนส่งทางรางมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การให้บริการที่มีสภาพเก่า และไม่มีการขยายเส้นทาง นับตั้งแต่ทางรถไฟสายใต้แล้วเสร็จในปี 2446

(2) การก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

(3) ความพร้อมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต่ำ ขาดการวิจัย พัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม

(4) ต้นทุนการขนส่ง (Logistics) ที่สูงถึงประมาณ 2.1 ล้านล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 25 ของ GDP อีกทั้งการขนส่งยังมีการพึ่งพาเครือข่ายทางถนนเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 86 ของระบบการขนส่งรวม

(5) การเข้าถึงบริการโทรศัพท์พื้นฐานและบริการอินเตอร์เน็ตที่ต่ำ โดยอัตราการมีโทรศัพท์พื้นฐานของประชากรไทย (Penetration Rate) มีเพียงจำนวน 11.0 เลขหมายต่อประชากร 100 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (Narrowband) ประมาณ 13.42 ล้านคน หรือมีอัตราผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 21.0

(6) อัตราค่าไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง และไม่มีความแตกต่างระหว่างครัวเรือนและอุตสาหกรรมนัก โดยค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนขั้นต่ำสุด อยู่ที่หน่วยละ 1.3576 บาท ในขณะที่ค่าไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เริ่มต้นที่หน่วยละ1.666 บาท

(7) การใช้พลังงานที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติและพลังงานนำเข้าเป็นหลัก โดยในปี 2550 สัดส่วนของปริมาณการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 10.7

(8) การศึกษาเฉลี่ยที่ยังต่ำกว่ากำหนดขั้นต่ำและมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ โดยปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่มีอายุเกิน 15 ปีในปี 2549 อยู่ที่ 7.85 ปี

(9) อายุเฉลี่ยของรัฐบาลสั้น โดยภายในปี 2551 มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 ครั้ง

โอกาส (Opportunity)

(1) ภูมิภาคเอเชียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นภูมิภาคหลักของโลก มีปริมาณการค้าระหว่างกันมากขึ้น (Intraregional Trade) โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกด้วยกันเอง (Intra-Regional) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 35.0 ต่อการส่งออกรวมในปี 2535 เป็นร้อยละ 38.6 ในปี 2549

(2) ตลาดส่งออกที่ใหญ่และมีความหลากหลาย โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 ประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดหลัก G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น) เพียงร้อยละ 34.6 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 50.8 เมื่อปี2540 ในขณะที่ไทยเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่เช่นตะวันออกกลางและออสเตรเลีย ทำให้พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดหลักลดลง

(3) วิกฤตพลังงานที่ทำให้มีแนวโน้มการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก ทั้งไบโอดีเซลและเอธานอล

(4) เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าได้ง่าย ไม่มีการกีดกัน

(5) มีแรงงานฝีมือเพียงพอต่อการตอบสนอง FDI โดยสะท้อนได้จากการเป็นศูนย์กลางธุรกิจของหลายๆ กลุ่ม

ปัจจัยเสี่ยง (Threat)

(1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดย ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปี 2552 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี เศรษฐกิจไทยซึ่งมี Degree of openness สูงถึงร้อยละ 124 จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบ

(2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงผันผวน โดยในปี 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบพุ่งสูงขึ้นถึง 140.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม ต่อมาปรับตัวลดลงมากอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม

(3) การแข่งขันและการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

(4) พฤติกรรม herding ของนักลงทุน ที่ส่งผลให้ตลาดการเงินของไทยอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนเราสามารถสรุปจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนแนวนโยบายที่สอดคล้องได้ดังนี้

5. แนวนโยบาย

ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ให้ทัดเทียมประเทศคู่แข่งได้นั้น จำเป็นต้องแก้ไขจุดอ่อนของไทย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมจุดแข็งที่มี ให้ภาคการผลิตและภาคส่งออกได้ใช้จุดแข็งดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก แนวนโยบายเพื่อพัฒนาดังกล่าวได้แก่

กลยุทธ์ในการใช้จุดแข็งเพื่อขยายโอกาส เช่น

(1) การขยายการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ไปสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่นตลาดเวียดนาม ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีการเพิ่มมูลค่า เช่น ข้าวและอาหารกล่องกึ่งสำเร็จรูป อาหารทะเลปรุงสำเร็จ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

(2) การศึกษาและวิจัยการนำสินค้าเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทนให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดในเวลาเดียวกันอาจล้นตลาดได้ จึงควรจะมีช่องทางแปรรูปให้สินค้าเหล่านั้นกลายเป็นพลังงาน

(3) การลดหย่อนกฎระเบียบของนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนในไทยระยะกลางถึงระยะยาว อีกทั้งสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมเพื่อให้มีการถ่ายถอดเทคโนโลยี (Technological transfer) แก่แรงงานไทย

(4) การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว โดยอาจลดหย่อนภาษีสนามบินในบางช่วงเวลาที่ไม่ใช่ฤดุกาลท่องเที่ยว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักท่องเที่ยว

(5) การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่มีกำลังซื้อสูงและขาดการท่องเที่ยวแนวดังกล่าวในประเทศบ้านเกิด

กลยุทธ์ในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เช่น

(1) การพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ทันสมัยขึ้น เช่น นำรถไฟความเร็วสูงมาใช้วิ่งระหว่างเมืองใหญ่ๆของแต่ละภาค เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางและขนส่งภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็หันมาศึกษาการใช้พลังงานแนวใหม่สำหรับการขนส่งทางราง เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานรูปแบบเก่า

(2) การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเรื่องการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป อีกทั้งใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจการใช้พลังงานทางเลือก เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าแก่รถยนต์ไฮบริด

(3) การสนับสนุนโครงการลงทุนของต่างชาติในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

กลยุทธ์เสริมสร้างจุดแข็งเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยง เช่น

(1) การศึกษาและวิจัยการนำสินค้าเกษตร ทั้งในการเพิ่มมูลค่า (value-added) และศึกษาวิธีนำสินค้าเกษตรมาทำเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

(2) การส่งเสริมและให้ความรู้การใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

(3) การจัด Road show เพื่อให้ความรู้และความมั่นใจ เกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยแก่นักลงทุนต่างชาติ

กลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงจุดอ่อนจากปัจจัยเสี่ยง เช่น

(1) การศึกษาวิจัยเทคโนโลยี โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาและในระดับมหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับการศึกษาและการใช้พลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาทั้งการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า

(2) ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ให้มีต้นทุนต่ำ เพื่อจะได้แข่งขันในตลาดส่งออกได้

(3) พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับเวทีโลก เพื่อขจัดการกีดกันทางการค้าและแบ่งปันแนวนโยบายพัฒนาบุคลากรนอกจากนั้น แนวนโยบายพัฒนาโดยทั่วไปได้แก่

1. ส่งเสริมการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเฉพาะการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและการศึกษาวิชาชีพ

2. พัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบขนส่งในเมืองใหญ่ และระบบขนส่งระหว่างเมืองแบบที่ไม่ต้องพึ่งพารถยนต์

3. รัฐควรช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการบริหารความเสี่ยงภายนอก

4. ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ในสาขาต่างๆที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว เช่นด้านพลังงาน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ