รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 23, 2009 12:25 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลประจำเดือน ม.ค. 52 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 192.4 พันล้านบาทขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 21.5 ต่อปี เนื่องจากมีการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงเป็นพิเศษ เช่น ค่าใช้จ่ายอุดหนุนโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 126.0 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 34.1 ต่อปีขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่าย 52.0 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปีเนื่องจากมีปัจจัยฐานรายจ่ายที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลได้เบิกจ่ายงบอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้นจำ นวน 40.5 พันล้านบาทสำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค. 51 — ม.ค. 52) รัฐบาลเบิกจ่าย 596.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี โดยเป็นส่วนของงบประมาณประจำปี 52 จำนวน 540.3 พันล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 29.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ร้อยละ 30.3 ของกรอบวงเงินงบประมาณเล็กน้อย

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -26.5 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -27.1 ต่อปี โดยสินค้าหลักมีการหดตัวแทบทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ายานยนต์หดตัวลงถึงร้อยละ -33.4 -40.4 -29.5 และ -34.4 ต่อปี ตามลำดับ ผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาสินค้าส่งออกสำคัญลดลง และปัจจัยฐานสูง ในด้านมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ ยุโรโซน สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีการหดตัวที่ร้อยละ -28.4 -27.7 -18.8 -40.1 และ -26.2 ต่อปี ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -37.6 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ -35.3 ต่อปี ผลจากการนำเข้าหดตัวในทุกหมวด โดยสินค้าวัตถุดิบ หดตัวที่ร้อยละ -41.9 ต่อปี เป็นสัญญาณของการผลิตในประเทศที่จะหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวร้อยละ -29.5 และ -17.9 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลง สินค้าเชื้อเพลิงหดตัวที่ร้อยละ -53.4 ต่อปี ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงทั้งนี้ จากมูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าเดือน ม.ค.52 เกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ม.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -10.0 ต่อปี หดตัวลงจากเดือนธ.ค. 51 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 98.2 ต่อ โดยเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีรถยนต์ E20 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการเร่งการซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจนทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้การซื้อรถยนต์ปรับตัวลดลง

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เดือน ม.ค. 52 หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ-39.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -32.8 ต่อปี ถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยเป็นการหดตัวลงของยอดจำหน่ายรถปิกอัพและรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ที่หดตัวลงร้อยละ -39.6 และ -37.6 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ปริมาณการจำ หน่ายร ถจักรยานยนต์ เดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ-21.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.1 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ผู้บริโภคในชนบทมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในระดับสูง ทำ ให้มีกำ ลังซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ในปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรลดลง ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ลดลงเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนม.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 64.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 62.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น ตามการเมืองที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ได้ส่งผลให้ยอดขายภายในประเทศและยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการยังมีความกังวลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังที่รัฐบาลได้ยุติมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 51 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -25.0ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -19.7 ต่อปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกยังคงมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ ยุโรป จีน และสิงคโปร์

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลงในเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินหยวน

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากวิกฤตการเงินในทวีปยุโรปได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกหลังบริษัทจัดอันดับสินเชื่อ Fitch Moody’s และ S&P’s ได้ปรับลดหรือกำลังพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารในกลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าว โดยเฉพาะในยูเครนและโครเอเชียซึ่งมีความเสี่ยงต่อวิกฤตดุลการชำระเงินสูงหลังจากที่ธนาคารในยุโรปตะวันตกถอนการลงทุนจากประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลและถอนการลงทุนจากยุโรปอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินยูโรจึงอ่อนค่าลงจนทำให้รัฐบาลเยอรมนีต้องประกาศแผนเข้าช่วยเหลือภาคการเงินในยุโรปตะวันออกเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ลุกลามมายังยุโรปตะวันตก (Domino Effect) ทำให้ค่าเงินยูโร ณ ปลายสัปดาห์อยู่ที่ 1.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร ปรับลดลงเพียงร้อยละ 1.8 จากสัปดาห์ก่อน

ในขณะเดียวกัน กระแสข่าวที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยอีกมากนักเนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินเริ่มขาดประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และพร้อมจะใช้การเข้าอัดฉีดสภาพคล่องสู่ภาคการเงินอย่างรุนแรง(Quantitative Easing) ในขณะที่ BOE ยอมรับว่าเศรษฐกิจอังกฤษเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดสูงขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลและขายเงินปอนด์สเตอลิงค์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับในสหรัฐนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและแผนกระตุ้นภาคการเงินจำนวน 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดยังไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินฟื้นตัวได้ จึงยังคงเข้าลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven)

ด้านค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมากโดยเฉพาะวอนเกาหลีจากการที่นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเอเชียโดยเฉพาะเกาหลีใต้จากกระแสข่าวว่าธนาคารกลางเกาหลีจะอัดฉีดเงินจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินหลังภาคการเงินเกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง ทำให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงกว่าระดับจิตวิทยาที่ 1,400 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นตัวเลขGDP ไต้หวันในไตรมาส 4 ที่หดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนทำให้ธนาคารกลางไต้หวันลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลงร้อยละ 0.25 ทันที และตัวเลขการส่งออกในหลายประเทศเอเชียที่หดตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ทำให้ค่าเงินเอเชียโดยรวมอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือนเนื่องจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงถึง -26.5 ต่อปีในเดือน ม.ค. ประกอบกับสัญญาณด้านการบริโภคและลงทุนในเดือนเดียวกันที่หดตัวอย่างรุนแรงทำให้ตลาดคาดว่า GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 51 รวมถึงไตรมาส 1 ปี 52 จะหดตัวอย่างรุนแรงถึงประมาณร้อยละ 4-5 และคาดว่าทางการจะใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อนในการกระตุ้นการส่งออก จึงทำการขายเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ธปท. มิได้มีสัญญาณเข้าแทรกแซงค่าเงินมากนัก ทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่35.7 บาท จาก 35.1 บาทในสัปดาห์ก่อน

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์)ณ วันที่ 20 ก.พ. 52 อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยปี 51 ที่ร้อยละ 1.58 และอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.44

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินวอนเกาหลี (ร้อยละ 27.4) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 20.7) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 16.1) ยูโร (ร้อยละ 8.5) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.9) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.1)เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 6.6)ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 7.0) หยวน (ร้อยละ 8.2) และ เยน (ร้อยละ 15.0)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 13 ก.พ.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 118.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองประเทศ (Net Reserve)เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าบริหารจัดการค่าเงินบาท ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า จาก 34.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 0.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลข flash GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 51 ของกลุ่มประเทศยูโรโซนหดตัวลงร้อยละ -1.2 ต่อปี ลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ0.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า GDP ของกลุ่มประเทศยูโรโซนหดตัวลงร้อยละ -1.5 (qoq) ซึ่งถือเป็นการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การก่อตั้งยูโรโซน ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ฉุดให้ตัวเลข GDP ในไตรมาสนี้ลดลงมาจากการตึงตัวของตลาดการเงินและภาคการส่งออกที่เริ่มหดตัวลงมากในช่วงปลายปี 2551

ดุลการค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนธ.ค. 51 ขาดดุลที่ 700 ล้านยูโร ลดลงจากเดือนพ.ย. 51 ที่ขาดดุล 5.8 พันล้านยูโร เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัวลงมากกว่าการหดตัวลงของมูลค่าการส่งออก โดยมูลค่าการนำเข้าหดตัวลงร้อยละ -4.8 ต่อปี ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง และราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัวลงร้อยละ -2.2 ต่อปี ตามแนวโน้มยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นไตรมาสที่ 4 ปี 51 หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือร้อยละ -4.6 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยเป็นผลหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของ GDP ในปี 51 ที่หดตัวลงถึงร้อยละ -47.6 จากไตรมาสก่อนหน้าหรือร้อยละ -45.7 ต่อปี อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 15.6 ของ GDP หดตัวถึงร้อยละ -5.3จากไตรมาสก่อนหน้าหรือ -11.6 ต่อปี โดยทั้งปี 51 GDP ญี่ปุ่นหดตัวที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี หดตัวลงจากปี 50 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี

GDP อินโดนีเซียไตรมาสที่ 4 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 และหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 57.2 ของ GDP กับการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.8 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ จากไตรมาส 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 และ12.2 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 16.4 ต่อปี จากร้อยละ 14.1 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการ หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 11.0ต่อปี ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ GDP ของอินโดนีเซียในปี 51 มีการอัตราการเจริญเติบโต ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ชะลอลงจากปี 50 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี

GDP ของไต้หวันไตรมาสที่ 4 ปี 51 หดตัวเป็นประวัติการณ์ ที่ร้อยละ-8.4 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี โดยทางด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ของ GDP หดตัวลงถึงร้อยละ -20.2 ต่อปี อีกทั้งภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนสองในสามของ GDP หดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี ในขณะที่ทางด้านอุปสงค์ การลงทุนหดตัวถึงร้อยละ -23.2 ต่อปี โดยทั้งปี 51 GDP ไต้หวันขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี จากปี50 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี

การส่งออกสินค้าที่มิใช่น้ำมันของสิงคโปร์ เดือนม.ค.52 หดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2520ที่ร้อยละ -34.8 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -20.8 ต่อปี โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนหดตัวถึงร้อยละ -50.0 -13.0 และ -51.6 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวถึงร้อยละ -38.4 ต่อปีในขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นๆหดตัวถึงร้อยละ -32.4 ต่อปี

ยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมของมาเลเซียเดือนธ.ค.51 หดตัวร้อยละ-20.8 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี เป็นผลมาจากความต้องการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ธนาคารกลางไต้หวันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.5 เหลือร้อยละ 1.25 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ