แนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2009 16:54 —กระทรวงการคลัง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแถลงว่า ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังเรื่องแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) ซึ่งจะเป็นการปรับรูปแบบและแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนภาครัฐจากเดิมที่รัฐบาลดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อซื้อทรัพย์สินของโครงการ (Asset Based Contract) มาเป็นการที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนและเป็นผู้บริหารจัดการโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อบริการจากภาคเอกชนตามปริมาณและคุณภาพงานที่กำหนด (Output Performance Based Contract) ทำให้ภาครัฐสามารถลดปัญหาต้นทุนของโครงการ ที่เพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินโครงการ (Project Cost/Time Overrun) โดยภาครัฐจะ ชำระเงินเป็นค่าบริการจากภาคเอกชนเมื่อโครงการแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ตามข้อตกลงเท่านั้น (Payment Against Service Delivery) ซึ่งจะช่วยให้การบริหารงบประมาณของภาครัฐมีประสิทธิภาพและเป็นการลดภาระการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะในช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการ และทำให้รัฐบาลสามารถขยายการลงทุนในโครงการพื้นฐานต่างๆ ได้ทันต่อความต้องการของประชาชนผู้รับบริการภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการ รศก. ได้เห็นชอบในประเด็นการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำและปรับปรุงประกาศ กฎกระทรวง และระเบียบ รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ รศก. ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการระดมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPPs) ตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ รศก. เสนอ โดยเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีหน้าที่ ดังนี้ (1) พิจารณาแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs (2) กำหนดขั้นตอนและกระบวนการทำงานในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (3) ศึกษาแนวทางการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้นำผลการพิจารณาเสนอให้คณะกรรมการ รศก. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

สำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5710

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 25/2552 25 กุมภาพันธ์ 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ