วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้ ถือว่าร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงกว่าร้อยละ -24.3 ต่อปี
ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลง จะถูกส่งผ่านไปตามห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มตั้งแต่ด้านที่ 1 เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความต้องการสินค้าต่างประเทศลดลง จึงสั่งซื้อสินค้าของไทยน้อยลง ดูได้จากปริมาณการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ด้านที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตลง ด้านที่ 3 คือเมื่อลดปริมาณการผลิตลง ทำให้เกิดการลดอัตราการใช้กำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลงด้วย ด้านที่ 4 คือเมื่อมีการปิดเครื่องจักรหมายความว่ามีการลดการจ้างงานลงด้วย ด้านที่ 5 คือการขนส่งสินค้าจะซบเซาตามการปริมาณการผลิตสินค้าที่ลดลง และด้านที่ 6 เมื่อทุกอย่างหยุดชะงักสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากขายสินค้าไม่ได้เพราะกำลังซื้อลดลง
ผลกระทบครั้งนี้จะส่งผลให้ Real GDP ภาคอุตสาหกรรมจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 1 2 และ 3 ของปี 2552 และในไตรมาส 4 คาดว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งหมายความว่า Real GDP โดยรวมของประเทศจะหดตัวและฟื้นตัวในรูปแบบเดียวกัน
ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี เนื่องจากมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของ Real GDP ร้อยละ 78 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด และร้อยละ 15 ของการจ้างงานทั้งประเทศ
ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 และ 2 เดือนแรกของปี 2552 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ -8.7 -19.7 -25.5 และ -23.1 ต่อปี ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่ผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นการหดตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 2541 เนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงอย่างรวดเร็วตามความต้องการภายในประเทศที่หดตัว โดยดูได้จาก Real GDP ในช่วงกลางปี 2541 หดตัวลงถึงร้อยละ -13.5 ต่อปี ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปลายปี 2544 เนื่องจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเครื่องบินชนตึกที่สหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมาก ส่งผลเชื่อมโยงให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของไทยจากตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว
วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่มีต้นกำเนิดจากวิกฤต Sub-prime ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ทั้งทางตรงทางอ้อมในหลายช่องทาง เช่น ผลกระทบผ่านตลาดเงินตลาดทุน ผลกระทบผ่านตลาดโภคภัณฑ์ ผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และที่สำคัญที่สุดคือ ผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสะท้อนผ่านการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Goods) ย้อนไปถึงการประกอบเป็นสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) และสินค้าวัตถุดิบ (Raw Material Goods) ซึ่งอาจเป็นการผลิตภายในประเทศและหรือนำเข้าจากต่างประเทศมาอีกต่อหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศจะมีบทบาทต่อการซื้อขายทั้งสินค้าขั้นสุดท้าย ขั้นกลาง และขั้นต้นโดยเป็นผู้ซื้อหากการผลิตสินค้าในขั้นใดๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศหรือความต้องการในการส่งออกอีกต่อหนึ่งไปยังประเทศที่ 3 และเป็นผู้ขายหากการผลิตสินค้าในขั้นใดๆ เกินความต้องการใช้ภายในประเทศหรือต้องการขายตามความต้องการของประเทศที่ 3
จากแผนภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกได้ส่งผลกระทบผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศต่อทั้งประเทศต้นกำเนิดวิกฤตการณ์เอง คือ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศต่างๆ โดยแสดงให้เห็นว่าบรรดาประเทศคู่ค้าหลักของไทย 4 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ล้วนได้รับผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศจากปริมาณนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลงนับจากช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบขยายวงไปทั่วโลก และยังได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปภาคการผลิตอย่างรุนแรง เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ ล้วนลดปริมาณการนำเข้าสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตลง ซึ่งหากพิจารณาจากผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของแต่ละประเทศดังกล่าว ดังแสดงในกราฟใน
แผนภาพที่ 3 พบว่าในปี 2551 แต่ละประเทศล้วนมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอัตราการขยายตัวของผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มอียู สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ในปี 2551 เท่ากับร้อยละ -1.6 -1.8 -22.7 และ -3.2 ต่อปี ตามลำดับ จากที่ขยายตัวในช่วงปี 2550 ที่ร้อยละ 3.4 1.7 1.7 และ 3.0 ต่อปี ตามลำดับและคาดว่าในปี 2552 นี้ การผลิตจะหดตัวลงมากตามเศรษฐกิจโลกที่ยังหดตัวลงรวดเร็วและรุนแรง
ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลง จะถูกส่งผ่านไปตาห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มตั้งแต่เศรษฐกิจโลกมีความต้องการสินค้าต่างประเทศลดลง จึงสั่งซื้อสินค้าของไทยน้อยลง และเมื่อทั่วโลกคาดการณ์แล้วว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะกินเวลานานกว่าที่คาด รายได้ของแต่ละประเทศก็ลดน้อยลง ทำให้ยอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าหดหายไปด้วย สะท้อนได้จากปริมาณส่งออกสินค้าของไทยที่หดตัวรุนแรงมากขึ้น
เมื่อปริมาณการส่งออกสินค้ายังคงมีแนวโน้มหดตัว ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตลง ลดอัตราการใช้กำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม กล่าวคือ มีการหยุดเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น เมื่อมีการปิดเครื่องจักรก็หมายความว่ามีการลดการจ้างงานลงด้วย พร้อมกันนั้น การขนส่งสินค้าก็ซบเซาตามการปริมาณการผลิต และสินค้าสำเร็จรูปคงคลังก็จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากขายสินค้าไม่ได้เพราะกำลังซื้อที่ลดลง ผู้ผลิตจึงต้องจัดโปรโมชั่นหรืออาศัยมาตรการของรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อให้ขายสินค้าที่มีอยู่ในโกดังให้หมดโดยไว ท้ายที่สุดเมื่อสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเริ่มลดลงหรืออยู่ในปริมาณที่ไม่มากนัก แล้วจึงทำการผลิตสินค้าได้อีกครั้งหนึ่ง
อนึ่ง ผลกระทบลูกโซ่ที่กล่าวมาข้างต้นอาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกันหรือพร้อมกันจนแยกได้ไม่ชัดเจนนัก ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการธุรกิจของผู้ผลิต โครงสร้างต้นทุนการผลิต โครงสร้างตลาดสินค้าสายการผลิต และการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เป็นต้น แต่ในบทวิเคราะห์นี้จะแยกผลกระทบลูกโซ่ออกเป็น 6 รอบ ดังนี้
จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกถดถอยดังกล่าว ทำให้อุปสงค์ในตลาดโลกลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าของไทย โดยในปี 2550 ปริมาณส่งออกสินค้าขยายตัวถึงร้อยละ 12.2 ต่อปี ในปีนั้น Real GDP ไทยขยายตัวถึงร้อยละ 4.9 ต่อปี และปริมาณส่งออกสินค้าในปี 2551 ชะลอลงมาเหลือร้อยละ 4.4 ต่อปี ในปีนั้น Real GDP ไทยขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี
โดยการขยายตัวหรือหดตัวรายไตรมาสของปริมาณการส่งออกสินค้ารวมกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง ไตรมาสที่ 1 — ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ปริมาณส่งออกสินค้ารวมยังคงขยายตัวเป็นบวกส่งผลให้ Real GDP เป็นบวกด้วย แต่ในไตรมาส 4 ปี 2551 ปริมาณส่งออกสินค้ารวมหดตัวถึงร้อยละ -14.6 ต่อปี ส่งผลให้ Real GDP หดตัวตามไปด้วย เพราะสาขาส่งออกเป็นเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สุดถึงร้อยละ 72 ของ GDP ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2552คาดว่าปริมาณส่งออกสินค้ารวมจะหดตัวมากถึงร้อยละ -20.0 ต่อปี ดังนั้น คาดว่า Real GDP ในไตรมาส 1 ปี 2552 น่าจะหดตัวลงมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551
ในไตรมาส 1 ปี 2552 ปริมาณส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรวมหดตัวที่ร้อยละ -18.8 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ หดตัวที่ร้อยละ -36.8 -32.5 และ -37.4 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงมากขึ้น จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลัก คือ การหด ตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเศรษฐกิจคู่ค้าของไทย
เมื่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวจะส่งผลย้อนกลับไปยังห่วงโซ่ข้อติดกัน คือปริมาณการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะหดตัวลงด้วย โดยในในไตรมาส 4 ของปี 2551 ที่หดตัวลงร้อยละ -9.7 ต่อปีและหดตัวรุนแรงขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2552 เป็นร้อยละ -25.0 ต่อปี ซึ่งในหลายอุตสาหกรรมล้วนมีผลผลิตที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาต่างประเทศเป็นสำคัญจะได้รับผลกระทบทางลบมากเพราะการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจด้วย ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมเสื้อผ้า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ก็ล้วนหดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
เมื่อผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลง ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate; CUR) ของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมลดลงตามไปด้วย โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมลดลงจาก 66.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เหลือเพียง 49.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 และลดลงทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก จะพบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ลดลงจาก 97.9 เหลือ 41.8 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ลดลงจาก 65.5 เหลือ 53.2 และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงจาก 65.5 เหลือ 51.1 เท่านั้น
วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เข้ามากระทบต่อการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรวมหดตัวลงเหลือเพียงร้อยละ -1.0 ต่อปี ในช่วงปี 2551 ซึ่งลดต่ำลงกว่าในปีก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2551 นั้น แรงงานภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 15.5 ของจำนวนการจ้างงานทั้งประเทศ 36.97 ล้านคน (ขณะที่แรงงานในภาคบริการและภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 45.9 และ 38.5 ของการจ้างงานทั้งประเทศ ตามลำดับ) ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญแรงกดดันทั้งทางด้านยอดขายและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานประกอบการบางแห่งเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายโดยการเลิกจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง ใช้เทคโนโลยีในการผลิต และเป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งมีการจ้างงานรวมกันประมาณ 8-9 แสนคน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการว่างงานใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว 1 — 1.4 แสนคน ในปี 2552 ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน(Labor-intensive) ได้แก่ การผลิตอาหารฯ สิ่งทอฯ ก็ประสบความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างเช่นกัน เนื่องจากอุปสงค์และราคาผลิตภัณฑ์ไม่ทรงตัวในระดับสูงเช่นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าได้
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีการใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี สาเหตุหลักเกิดจากการหดตัวของแรงงานอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ ไฟฟ้า เครื่องแต่งกายและการปั่นการทอ ที่ร้อยละ -20.7 -18.7 -15.7 และ -12.5 ต่อปี เนื่องจากมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานลง
การขนส่งและการกระจายสินค้านับเป็นกิจกรรมสำคัญในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวข้างต้นเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เพิ่มคุณค่าของสินค้าในแง่ของการย้ายสถานที่จากโรงงานผลิตไปยังผู้ที่ต้องการสินค้าที่ผลิตนั้นๆ โดยในขั้นตอนการขนส่งจะมีทั้งการจัดเก็บ (Warehousing) และการกระจายสินค้า (Distribution) ที่ช่วยกระจายสินค้าจากจุดจัดเก็บไปยังร้านค้าปลีก ทั้งนี้ จากภาพที่ 3 สะท้อนว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบให้กิจกรรมการส่งสินค้าอุตสาหกรรมลดลง โดยดัชนีการส่งสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2551 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.4 ต่อปี ลดลงจากช่วงปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี (ทั้งนี้ ดัชนีการส่งสินค้าดังกล่าว แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ)
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ -21.7 ต่อปี สาเหตุหลักเกิดจากการหดตัวของการส่งสินค้ายานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ร้อยละ -45.6 และ -39.7 ต่อปี เนื่องจากมียอดสั่งซื้อลดลงทำให้การขนส่งสินค้าซบเซาตามไปด้วย
ผลกระทบสุดท้ายที่เกิดขึ้น คือปริมาณสินค้าคงคลังในสต็อกของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยโดยรวมจะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในทุกหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.0 ต่อปี ในช่วงปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราวหรือบางรายได้ลดกำลังการผลิตลงเกือบร้อยละ 50 จากที่ใช้อยู่ เพื่อรักษาสินค้าคงคลังไม่ให้มีมากเกินไป โดยเห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ดัชนีสินค้าคงคลังขยายตัวถึงร้อยละ 42.0 และ 18.0 ต่อปีตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 และ -2.0 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศค่อนข้างสูง (ทั้งนี้ ดัชนีสินค้าคงคลัง ดังกล่าว แสดงถึงทิศทางหรือระดับ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด)
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีสินค้าคงคลังขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปีสาเหตุหลักเกิดจากการที่ผู้ผลิตไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่มีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นมากได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า กระดาษโลหะ และรถยนต์
ทั้งนี้ จากภาพที่ 14 พบว่า สินค้าคงคลังในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2551 เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตเพื่อระบายสินค้าคงคลัง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งออกที่ชะลอลงจนหดตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 อุตสาหกรรมดังกล่าว
จากบทวิเคราะห์เรื่องนี้ ทำให้สรุปได้ว่า โคตรวิกฤตห่วงโซ่อุตสาหกรรม ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง รวดเร็ว และกินวงกว้างกว่าที่คิด ผลกระทบนี้จะส่งผลให้ Real GDP ภาคอุตสาหกรรมจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 1 2 และ 3 ของปี 2552 อย่างมีนัยสำคัญ และในไตรมาส 4 คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งหมายความว่า Real GDP โดยรวมของประเทศจะหดตัวและฟื้นตัวในรูปแบบเดียวกัน และเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว อุปสงค์ของต่างประเทศ ที่มีต่อสินค้าส่งออกของไทยขยายตัว เมื่อนั้นกิจกรรมการผลิต การส่งออกสินค้า และการจ้างงาน ก็จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง แต่ยังไม่รู้ว่าอีกนานเท่าใดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้อีกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาด้านอุปทานเพื่อเอื้อให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมายืนเป็นเสาหลักค้ำจุนเศรษฐกิจไทยได้ในเร็ววัน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th