รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 8, 2009 11:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. ภาคเอกชนขอรัฐเสริมสภาพคล่องสู้วิกฤตเศรษฐกิจ

2. ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 52 หดตัวร้อยละ-2.7

3. ส่งออก-นำเข้าไต้หวันทรุดหนัก หดตัวถึงร้อยละ -35.7 และ -49.5 ต่อปี ตามลำดับ

HIGHLIGHT:
1. ภาคเอกชนขอรัฐเสริมสภาพคล่องสู้วิกฤตเศรษฐกิจ
  • จากภาวะวิกฤตโลกที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคเอกชนหลายฝ่ายมีความกังวลในการดำเนินธุรกิจและเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือ โดยประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นการซื้อ โดยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้คนซื้อรถมากขึ้น รวมถึงลดภาษีสรรพสามิตเป็นระยะ 1 ปี ในขณะที่ ประธานอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขสภาพคล่อง และสนับสนุนเงินกู้ให้ภาคเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยผ่านทางยอดคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ทำให้การผลิตในประเทศลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากกลัวจะเกิดหนี้เสีย (NPL) ในระบบ จึงก่อให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) ได้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจใช้เครื่องมือทางการเงินกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อ ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 1.50 ) เพื่อให้การใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในยามที่ภาคการส่งออกถดถอยตามเศรษฐกิจโลก
2.ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 52 หดตัวร้อยละ-2.7
  • ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวถึงร้อยละ -2.7 เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมากรวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงซบเซามาตลอด 2-3 ปี ธนาคารโลกได้ให้น้ำหนักกับเรื่องเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ถดถอยมากกว่าประเด็นการเมืองภายในประเทศ โดยมองว่าความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศขณะนี้จะส่งผลกระทบเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้น นอกจากนี้ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 , 3.2, 4.6 และ5.0 ในปี 53-56 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยหดตัวนั้นเกิดจากการหดตัวของภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 72.1 เป็นการหดตัวลงตามเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อและความเชื่อมั่นที่ลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ผลจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งแผน 1 และ บางส่วนของแผน 2 จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวรุนแรง โดยคาดว่าจะหดตัวในปี 52 ร้อยละ -2.5 และมูลค่าส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -20.5
3. ส่งออก-นำเข้าไต้หวันทรุดหนัก หดตัวถึงร้อยละ -35.7 และ -49.5 ต่อปี ตามลำดับ
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของไต้หวันเดือนมี.ค.52 หดตัวร้อยละ -35.7 และร้อยละ -49.5 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัวถึงร้อยละ -33.6 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.1 ต่อปี ในขณะที่ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน (รวมฮ่องกง) ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไต้หวัน หดตัวมากที่ร้อยละ -37.5 ต่อปี อนึ่ง การนำเข้าที่หดตัวเร่งขึ้นมากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าไต้หวันเดือนมี.ค. 52 เกินดุลที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไต้หันเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในเอเชีย อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลไต้หวันเร่งสนับสนุนภาคการผลิตสินค้าเทคโนโลยีในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไต้หวัน โดยเฉพาะภาคการส่งออก พึ่งพาการผลิตสินค้าเพียงไม่กี่หมวด อีกทั้งสินค้าเทคโนโลยี เป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ออุปสงค์ในตลาดโลกสูง เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจึงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกของไต้หวัน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังไต้หวันด้วย อนึ่ง ไต้หวันเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 14 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกที่ร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมปี 51

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ