วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะภูมิภาคเอเซียตะวันออก เกาหลีใต้เป็น 1 ในจำนวนนั้น จึงได้มีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมามุ่งเน้นธุรกิจบริการมากขึ้น โดยออกแผนพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการด้านต่างๆ มาตั้งแต่เมษายน 2551 มาถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ 3 แล้ว เน้นการฝึกอบรมบ่มเพาะแรงงานให้มีคุณภาพสอดคล้องตรงกับความต้องการของบริษัทเอกชน โดยสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ในทุนการศึกษาอบรม ออกวีซ่าพิเศษแก่วิทยากร/ครูชาวต่างชาติที่มาช่วยฝึกอบรม สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาธุรกิจบริการ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อธุรกิจบริการมากขึ้นโดยเฉพาะประเภท Knowledge-based Industry บริการทางการแพทย์ เป็นต้น โดยหวังว่าจะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจบริการของประเทศโดยแผน Service PROGRESS I ได้ประกาศใช้ในเมษายน 2551 เน้นส่งเสริมบริการท่องเที่ยวและการศึกษา แผน Service PROGRESS II ใช้เมื่อกันยายน 2551 เน้นการออกกฏระเบียบที่ส่งเสริมธุรกิจบริการ ในขณะที่ Service PROGRESS III ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 เน้นการฝึกอบรมแรงงานให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและ พัฒนา โดยแผนฉบับล่าสุดมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
เพื่อความมั่นคงของแรงงานฝีมือ จะมีการอนุญาตให้บริษัทต่างๆ แสดงความต้องการและสามารถให้ความเห็นกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรม แนวคิดนี้มีบริษัทเป็นหลักในการพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย ส่วนรัฐบาลจะสนับสนุนการลดภาษีให้กับบริษัทต่างๆที่มีส่วนร่วมลงทุนในโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงาน โดยบริษัทจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งบริษัทจะได้รับการยกเว้นภาษีร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา (ทั้งที่เป็นเงินสดและ in-kind) จากปัจจุบันที่ได้รับการยกเว้นภาษีเพียงร้อยละ 15
อนึ่ง ตามกฎเกณฑ์ปัจจุบันบริษัทที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จึงจะสามารถจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมได้เอง โดยผู้ที่จะสามารถเข้าร่วมการอบรมได้นั้นจะต้องทำงานในบริษัทมากกว่า 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม ถึงสิ้นกุมภาพันธ์ปีถัดไป แต่จากนี้ไป ทุกบริษัทสามารถจัดตั้งศูนย์อบรมได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านจำนวนพนักงาน โดยพนักงานทุกคนสามารถเข้าร่วมการอบรมได้ รวมถึงบริษัทสามารถกำหนดระยะเวลาการอบรมได้ด้วยตนเอง
ส่วนศูนย์ฝึกอบรมทางด้านเทคนิคถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาประเภทหนึ่ง สามารถใช้ชื่อเรียกว่าโรงเรียนได้และมีสิทธิ์ออกวีซ่าพิเศษแก่วิทยากร/ครูชาวต่างชาติได้เป็นเวลา 3 ปี นักเรียนที่เข้ารับการฝึกอบรมมีสิทธิ์ขอรับทุนการศึกษาซึ่งจำนวน 2 ล้านวอน ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นผู้ตกงาน และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในระดับมัธยมปลาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการ 1st Industry-Academy Cooperation Project (2548-2551) ได้เน้นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการครั้งที่สอง 2nd Industry-Academy Cooperation Project (2552-2556) จะรวมการให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ บริการด้วย สนับสนุนให้ศูนย์ฝึกงานที่เน้นการปฎิบัติงานจริงได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาภายในปี 2553
นอกจากนี้ เพื่อให้การฝึกอบรมธุรกิจบริการเป็นไปอย่างเป็นระบบ ในปี 2552 นี้หน่วยงาน Human Resources Development Service of Korea จะจัดพนักงานจำนวนมากกว่าครึ่งมาเน้นการฝึกอบรมด้านธุรกิจบริการ ซึ่งรวมการวางแผนปรับมาตรฐานการอบรมงานด้านการบริการให้ดีขึ้น จากเดิมที่การฝึกอบรมที่ภาครัฐจัดให้ เน้นอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า(Manufacturing) มาเป็นการอบรมด้านธุรกิจบริการมากขึ้น ในการนี้ รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรม ทั้งหมดมาใช้ในการพัฒนาการฝึกอบรมด้านธุรกิจบริการ รวมทั้งจัดให้มีระบบการประเมินผลเพื่อให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภายในสิ้นปี 2552 นี้ ทางการจะจัดให้มีใบอนุญาตต่างๆ สำหรับการประกอบธุรกิจบริการต่างๆ มากขึ้น จัดให้มีการแข่งขันเพื่อหาผู้มีความสามารถเป็นเลิศในธุรกิจบริการประเภทแอนนิเมชั่น (Animation) หรือช่างภาพยอดเยี่ยม เป็นต้น
จะมีการศึกษากฎหมายหรือระบบที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริการ โดยเฉพาะประเภท Knowledge-based Industry มากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการธุรกิจบริการ ทั้งของภาครัฐและเอกชน จากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมการผลิตการผลิตสินค้า
เพื่อวางรากฐานเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมบริการ จะมีการตั้งสถาบันวิจัยสำหรับออกแบบอุตสาหกรรมบริการด้าน Knowledge-based Industry นักวิจัยหนุ่มจะได้รับการยดเว้นจากการข้อบังคับการเป็นทหาร ให้วีซ่าพิเศษแก่วิทยากร/ครูชาวต่างชาติได้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป
ในด้านงบประมาณ จะจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมธุรกิจบริการมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและการจัดตั้งงบประมาณนั้นจะต้องใช้เวลาดำเนินการมาก แต่รัฐบาลเกาหลีใต้จะพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริงเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมีแผนจะจัดทำโครงการจำนวน 44 โครงการ โดย 20 โครงการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 และอีก 17 โครงการในครึ่งปีหลัง ส่วนโครงการที่เหลือนั้นจะดำเนินการให้แล้วเสร็จให้แล้วเสร็จภายในปี 2553
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงโตเกียว
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th