Economic Indicators: This Week
สินเชื่อภาคเอกชนในเดือน มี.ค. 2552 ปรับตัวลดลง โดยสถาบันรับฝากเงิน (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน) มีสินเชื่อภาคเอกชนในเดือน มี.ค. 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ลดลงจากในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี โดยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 8,423.3 พันล้านบาท ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8,449.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจนั้นชะลอลงเนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลง ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า
เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือน มี.ค. 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน มี.ค. 2552 มีเงินฝากจำนวน 9,458.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 9,403.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี
Economic Indicators: Next Week
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 52 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -20.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ-23.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ผลจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกและการจ้างงานลดลง ซึ่งกระทบต่อรายได้ประชาชน ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ลดลง 2) ปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีรถยนต์ E20 ส่งผลให้ผู้บริโภคเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และ 3) ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ออกไป
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -41.5 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ -44.5 ต่อปี ตามการการลงทุนในประเทศที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ตามการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ (Mega Project) ที่จะเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าในประเทศ และจะจูงใจให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังปี 51
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 52 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปีตามการผลิตที่ลดลงของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาของสิน้คาเกษตรดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น
Foreign Exchange Review
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าจากมุมมองตลาดต่อระบบการเงินของสหรัฐฯรวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ตลาดมั่นใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น (risk appetite)ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเงินเยนและดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ตามความต้องการที่จะถือเยนและดอลลาร์สหรัฐที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ความปลอดภัยสูง(Safe Haven Asset) ลดลง โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นได้แก่ (1) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯได้แถลงว่าการทำ Stress test บ่งชี้ว่าไม่มีธนาคารชั้นนำของสหรัฐฯที่เผชิญความเสี่ยงต่อการล้มละลาย และสามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ (2) ตัวเลขการเลิกจ้างงานของสหรัฐในเดือน เม.ย. 52 ที่เพิ่มขึ้นมา 4.91 แสนตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และเป็นการเพิ่มขึ้นมาในระดับที่น้อยที่สุดในรอบ 7 เดือน (3)ตัวเลขบ่งชี้ภาวะอุตสาหกรรม (Institute for Supply Management’s index: ISM) ในเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.1 จุดจากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 36.3 จุดในเดือน มี.ค. และ (4) การขยายตัวของยอดขายบ้านคงค้าง (US Pending Home Sales) เดือนมี.ค. ออกมาดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า (3.2% เทียบกับ 2%)
ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีทิศทางที่ดีขึ้นและปัจจัยสนับสนุนจากการที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) และธนาคารกลางของ อังกฤษ (BOE) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและประกาศมาตรการนโยบายการเงินนอกเหนือภาวะปกติ (Non-conventional policy) อีกทั้งค่าเงินปอนด์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Nationwide Consumer Confidence) ของอังกฤษ ณ เดือน เม.ย. ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ50 จุดโดยเป็นการปรับสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปี ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing’s Manager Index Service) ของอังกฤษ ณ เดือนเม.ย. ดีกว่าที่ตลาดคาด (48.7 จุด เทียบกับตลาดคาด 46.3 จุด และเดือนก่อนหน้า 45.5 จุด) เป็นการปรับสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันและเป็นการปรับสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999
ด้านค่าเงินเยนในฐานะสกุลที่ความปลอดภัยสูง (Safe Haven currency)แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ จากตามความต้องการที่จะถือสินทรัพย์ที่ความปลอดภัยสูงที่ลดลงตามความเชื่อมั่นต่อการลงทนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงของตลาดที่เพิ่มขึ้น
ด้านสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่นำโดยสกุลเงินวอนและรูปีย์แข็งค่าขึ้นตามแรงซื้อเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสูงที่สุดในรอบ 7 เดือนจากปัจจัยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินรูปีย์ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยทางการเมืองของประเทศอินโดนีเซียที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
ในขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 และยังคงอยู่ในช่วงระดับ 35.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.5) ยูโร (ร้อยละ 4.1)ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.3) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1.0) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -5.2) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -4.5) หยวน (ร้อยละ-1.1) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ -1.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ -1.1) วอนเกาหลี(ร้อยละ -1.1) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ -0.9) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ -0.1)ตามลำดับ
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 1 พ.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 120.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนขณะที่ ส่วนหนึ่งลดลง จากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐ (Valuation Loss) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY อ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวถึงร้อยละ-0.20 และ 1.45 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ ก่อนหน้า (24 เม.ย.52) ร้อยละ -0.32 จาก 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ISM Manufacturing Index ของสหรัฐฯเดือนเม.ย. 52 ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 40 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 40.1 สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 36.3 โดยมีการปรับตัวสูงขึ้นแทบทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ การผลิต และการนำเข้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่ดัชนีที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ยังเป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
Manufacturing PMI Index ของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนเม.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 36.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนมี.ค. 52 ที่อยูที่ระดับ 33.9 โดยพบว่าการสะสมสินค้าคงคลังเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญานว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศยูโรโซนอาจจะยุติลงในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ดีขึ้นสอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรม และยอดคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่ต่างก็ปรับตัวดีขึ้นดัชนีอุตสาหกรรมจีนที่รวบรวมโดยทางการจีนและบริษัท CLSA เดือนเม.ย. 52 แตะระดับ 50 ทั้งสองตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ 53.5 และ 50.1 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ที่มีการนำมาปฏิบัติใช้จริงอย่างรวดเร็ว
ดัชนีอุตสาหกรรมฮ่องกงเดือนเม.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 44.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ที่ระดับ 42.7 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดัชนีที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธ.ค.51 เป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมฮ่องกงมีความหวังของการฟื้นตัว ถึงแม้ว่าระดับดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 จะยังคงบ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวก็ตาม
สิงคโปร์เผยตัวเลขดัชนีจัดซื้อจากโรงงาน (Purchasing Manger Index) ในเดือนเม.ย.52 อยู่ที่ 49.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 47.1 สะท้อนภาคการผลิตและยอดคำสั่งซื้อที่มีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเริ่มมีการคงสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยดัชนีในส่วนของภาคอิเล็กทรอนิกส์เกินกว่าอยู่ที่ 51.6 สะท้อนว่าภาคอิเล็กทรอนิกส์ (ที่มีสัดส่วนการผลิต 1/3 ของการผลิตทั้งหมด) เริ่มขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมากว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี ค่าดังกล่าวยังคงต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว จากปัจจัยการบริโภคภาคเอกชนจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ OECD ยังคงไม่กระเตื้อง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของอินเดียในเดือน เม.ย 52 ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.5 จาก 49.5 ในเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนเม.ย.52 ปรับตัวดีชึ้นที่ระดับ 54.9 จาก 49.5 ในเดือนก่อนหน้ามูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเดือน มี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -28.9 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -32.9 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกที่หักสินค้าพลังงานไปยังจีน และอาเซียน มีการหดตัวร้อยละ -33.3 และ -18.8 ต่อปี ตามลำดับในขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมี.ค.52 หดตัวร้อยละ -36.5 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -40.9 ต่อปี โดยสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบหดตัวที่ร้อยละ -27.9 และ -45.5 ต่อปี ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี
ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 7.25 จากร้อยละ 7.50 ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งที่ 6 จากร้อยละ 9.50 ในเดือนต.ค. 51 ซึ่งเป็นการปรับลดรวมทั้งสิ้นร้อยละ 2.25 นับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัว เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยเสริมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะบรรเทาความรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย.52 ของฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดพลังงานที่ดัชนีราคาหดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี และหมวดอาหารที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 11.4 ต่อปี ผลจากราคาข้าวที่ลดต่ำลง ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวชะลอตัวลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th