รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 3, 2009 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. คาดผลผลิตข้าวปีนี้ทุบสถิติ พื้นที่ปลูกเพิ่มกว่าร้อยละ2

2. ดัชนี PMI ยูโรโซนเดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 40.7

3. UN คาดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกขยายตัวร้อยละ 5.6 ในปี 53

HIGHLIGHT:
1. คาดผลผลิตข้าวปีนี้ทุบสถิติ พื้นที่ปลูกเพิ่มกว่าร้อยละ2
  • องค์การอาหารโลก (เอฟเอโอ) ชี้ว่า ราคาข้าวในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลง แม้จะยังไม่ลดลงถึงระดับเดิมก่อนปรากฏการณ์ข้าวแพงในปี 2551 ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก และปริมาณข้าวในตลาดที่มีอยู่มากจากผลผลิตของปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาพยากรณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกในช่วงปี 2552-2553 จะสูงมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 448.1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.5 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรและรัฐบาลในหลายประเทศต้องการเพิ่มผลผลิตเพื่อสนองตอบต่อราคาข้าวที่ทะยานสูงขึ้นในปี 2551
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงไตรมาส 1/2552 ดัชนีผลผลิตพืชผลในหมวดข้าวเปลือกของไทยมีการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 14.3 ต่อปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเพาะปลูกข้าวนาปรังที่เพิ่มมากขึ้นของเกษตรกร โดยผลผลิตข้าวนาปรังมีปริมาณกว่า 1.13 ล้านตัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 36.4 ต่อปี อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาข้อมูลในเดือน เม.ย. กลับพบว่าดัชนีผลผลิตพืชผลในหมวดข้าวเปลือกมีการหดตัวลงร้อยละ -7.7 ต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลผลิตข้าวมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากราคาข้าวเริ่มไม่เป็นที่จูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก โดยล่าสุดราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ในเดือน เม.ย. หดตัวกว่าร้อยละ -24.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่าผลผลิตข้าวในปี 2552 จะอยู่ที่ 31.2 ล้านตันหรือหดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี
2. ดัชนี PMI ยูโรโซนเดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 40.7
  • มาร์กิต อีโคโนมิค ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 40.7 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 40.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 36.8 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ต่อเดือน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 11 ปี 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2540 ทั้งนี้ การจัดทำดัชนีจัดซื้อจากโรงงาน หากมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า มีภาวะหดตัว และในยูโรโซน PMI ในเดือน พ.ค. ก็ได้กระเตื้องขึ้นมาจากระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี สถานการณ์นี้ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงความหวังที่เศรษฐกิจในยุโรปน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เมื่อการคำนวณใช้ฐานข้อมูลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ ออสเตรีย กรีซ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีขนาดของกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมรวมร้อยละ 92 ของทั้งภูมิภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. ของทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ชี้สัญญาณการพลิกฟื้นของภาคอุตสาหกรรม โดยในสหรัฐฯ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสถาบัน ISM อยู่ที่ 42.8 สูงขึ้นกว่าระดับ 40.0 ที่ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย (Danger Zone) ของการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ดัชนีการผลิตของยุโรปและจีนในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 40.7 และ 53.1 ก็ปรับตัวสูงกว่าระดับอันตรายเช่นเดียวกัน ส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ในภาคพลังงานกำลังเริ่มฟื้นตัว
3. UN คาดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกขยายตัวร้อยละ 5.6 ในปี 53
  • องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและโอกาส (WESP) ระบุว่า ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ในปี 2552 ลดลงจากปี 2551ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี แต่ในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจีนที่เริ่มส่งผลจากการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศเมื่อปลายปี 2551 จำนวน 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้ GDP ของจีนในไตรมาส 1 ปี 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ในขณะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -9.7 และ -4.3 ต่อปี ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าการส่งออกของไทย ไปจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์มีการขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนเมษายน 2552 การส่งออกของไทยไปจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราการหดตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -13.2 ร้อยละ -29.8 และร้อยละ -11.3 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ -14.0 ร้อยละ -30.1 และร้อยละ -16.7 ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ