การกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 3, 2009 17:13 —กระทรวงการคลัง

ความคืบหน้าการพิจารณาจัดทำกฎหมายท้องถิ่นตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

ในการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายท้องถิ่นตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....ร่างพระราชบัญญัติรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และ ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังโดยตรง สรุปสาระสำคัญโครงสร้างของกฎหมายแบ่งเป็น 5 หมวด ดังนี้

1. หมวด 1 โครงสร้างรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รายได้ของ อปท. ประกอบด้วย

1.1 รายได้ประเภทภาษีอากร ได้แก่

(ก) ภาษีท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดินภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีรถยนต์ ภาษีป้าย ภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ ภาษีค้าปลีกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันที่คล้ายกันและก๊าซปิโตรเลียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับรถยนต์ ภาษีค้าปลีกยาสูบ ภาษีการเข้าพักโรงแรมเป็นต้น

(ข) ภาษีที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐบาลกับ อปท. ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากแนวทางในปัจจุบัน ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม อปท. ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จัดเก็บเพิ่มให้ อปท. 1 ใน 9 ของที่ จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร ส่วนที่ 2 จัดสรรให้ อบจ. ร้อยละ 5 ของที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร และส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นการจัดสรรให้ อปท. ตาม พรบ. กำหนดแผนและ ขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ซึ่งกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 30 ของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้หลังจากหักส่วนที่ต้อง จ่ายคืนแล้ว เปลี่ยนแปลงเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มของ อปท. มีเพียงส่วนเดียว คือ ส่วนที่จัดเก็บเพิ่มให้กับ อปท.3 ใน 7 ส่วนของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร (ภาษีที่จัดเก็บทั้งหมดรัฐบาลได้รับร้อยละ 70 และ อปท.ได้รับร้อยละ 30)
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสุรา และภาษีสรรพสามิตซึ่งภาษีทั้ง 3 รายการดังกล่าว ปัจจุบันจัดเก็บเพิ่มให้ อปท.ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ โดยปรับปรุงเป็นจัดเก็บเพิ่มให้แก่ อปท. ในอัตราร้อยละ 30
  • ภาษียาสูบ (ปัจจุบันยังไม่จัดเก็บให้ อปท.) ให้จัดเก็บเพิ่มให้ อปท. ร้อยละ 30 ของภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ
  • ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและค่าภาคหลวงแร่ให้แบ่งรายได้ระหว่างรัฐบาลกับ อปท. ในสัดส่วนเดิม คือ 40:60

ทั้งนี้ ภาษีที่ใช้ฐานร่วมดังกล่าวให้หน่วยงานของรัฐบาลที่มีอำนาจจัดเก็บส่งมอบเงินภาษีที่จัดเก็บให้แก่ อปท. ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 1 ของเงินภาษีที่จัดเก็บได้หรือตามที่มีกฎหมาย บัญญัติไว้

(ค) ภาษีที่รัฐบาลจัดสรรให้ อปท. กรณีที่รัฐบาลเห็นสมควร รัฐบาลจะจัดสรรภาษีของรัฐบาลให้ อปท. ก็ได้ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

(ง) ภาษีอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ

1.2 รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ได้แก่ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ รายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากการพาณิชย์หรือวิสาหกิจของ อปท. ค่าตอบแทน ค่าบริการ เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ได้มีบทบัญญัติให้ อปท. มีรายได้เพียงพอกับการบริหารตามภารกิจของ อปท. ตามกฎหมายโดยให้คณะกรรมการรายได้ อปท. จัดทำแผนพัฒนารายได้ของ อปท. โดยคำนึงถึงเป้าหมายที่จะให้ อปท. มีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิของรัฐบาลภายในระยะเวลา 10 ปี

2. หมวด 2 อำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ สาระสำคัญที่บัญญัติไว้ได้แก่ อปท. ย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ และในกรณีที่ อปท. เห็นว่า ประชาชน จะได้รับประโยชน์มากขึ้นและการจัดเก็บรายได้นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น อปท. อาจมอบอำนาจให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ อปท. อื่น องค์กรเอกชน หรือองค์กรรวมใด ๆ จัดเก็บแทนได้

ทั้งนี้จะมีค่าตอบแทนด้วยก็ได้โดยหลักเกณฑ์ การมอบอำนาจและการจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการรายได้ อปท. กำหนด

3. หมวด 3 คณะกรรมการรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์ประกอบได้แก่

3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน

3.2 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพาสามิต อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

3.3 ผู้แทน อปท. จำนวน 5 คน จาก อปท. 5 ประเภทๆ ละ 1 คน

3.4 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษีอากร ด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านการงบประมาณและด้านเศรษฐศาสตร์ด้านละ 1 คน

โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เป็นกรรมการและเลขานุการและมีผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการฯ ได้แก่

(ก) จัดทำแผนพัฒนารายได้ อปท.

(ข) เสนอแนะหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ต่อ กกถ.

(ค) เสนอแนะการกำหนดสัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาลกับ อปท. ต่อ กกถ.

(ง) พิจารณารายได้ประเภทใหม่ๆ อปท.

(จ) พัฒนาศักยภาพและเสนอแนะการบริหารจัดเก็บ จัดหาและพัฒนารายได้ของ อปท.

(ฉ) ประเมินประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของอปท. และรายงานต่อ กกถ.

(ช) พิจารณาและเสนอแนะการพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. ให้เหมาะสมตามสภาวะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และสังคม

(ซ) ศึกษาวิเคราะห์และรายงานฐานะทางการเงินการคลังของ อปท. เป็นประจำทุกปี

(ฌ) พิจารณาและให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำในเรื่องการจัดเก็บรายได้ของ อปท.

4. หมวด 4 การจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. โดยแบ่ง

รายได้เป็น 2 ประเภท คือ

4.1 ภาษีที่จะจัดสรรได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสรรพสามิต และภาษียาสูบ ซึ่งกำหนดแนวทางการจัดสรรตามหลักแหล่งกำเนิดภาษี จำนวนประชากรและขนาดของพื้นที่ อปท. เป็นต้น

4.2 เงินอุดหนุน โดยกำหนดหลักการและแนวทางการจัดสรร ดังนี้

  • คำนึงถึงสถานะทางการคลังและความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ รวมทั้งระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น
  • ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในทางการคลังของ อปท.
  • เพื่อลดช่องว่างทางการคลังของ อปท.
5. หมวด 5 การคำนวณสัดส่วนรายได้ของ อปท.

กำหนดให้การคำนวณสัดส่วนของรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ให้นำเอารายได้จากภาษีท้องถิ่นและ รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ภาษีที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐบาลกับ อปท. ภาษีที่รัฐจัดสรรให้ อปท. และเงินอุดหนุนทั่วไปที่ อปท. ทุกแห่งได้รับรวมกัน แล้วนำไปเปรียบเทียบกับรายได้สุทธิของรัฐบาลในปีนั้น ๆ

สำหรับในประเด็นเรื่องเงินอุดหนุนที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายเปิดช่องให้มีการพัฒนาเงินอุดหนุน ที่มีหลายรูปแบบ เช่น เงินอุดหนุนแบบสมทบ (MATCHING GRANT) เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายท้องถิ่น จำนวน 4 ฉบับและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงร่างกฎหมายท้องถิ่นในบางประเด็นพร้อมทั้ง ตรวจสอบความถูกต้องรายละเอียดของร่างกฎหมายก่อนดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ