รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 16, 2009 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. ธนาคารพาณิชย์ทยอยปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ชั้นดี

2. ทุนนอกมั่นใจไทยตั้งโรงถลุงเหล็ก

3. รัฐมนตรีคลัง G-8 หารือแผนลดการขาดดุลการคลัง

HIGHLIGHT:
1. ธนาคารพาณิชย์ทยอยปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ชั้นดี
  • ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารดำเนินการเป็นการภายในเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดีที่ชำระหนี้ตรงตามเวลา ด้วยการลดดอกเบี้ยให้เป็นพิเศษ ปรับเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ลงมา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันปัญหาวิกฤตไปได้ เนื่องจากประเด็นที่ลูกค้าต้องการจริงๆ คือ ต้องการให้ได้รับการอนุมัติเงินส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยปลีกย่อยที่สามารถตกลงกันภายหลังโดยจะมีการพิจารณาความต้องการของลูกค้าเป็นรายๆ ซึ่งจะดูในรายละเอียดว่า ลูกค้าแต่ละรายต้องการสินเชื่อประเภทใดระหว่างสินเชื่อหมุนเวียนกับสินเชื่อระยะยาว เพื่อช่วยลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินกว่า 1.70 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 51 ที่มีอยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อจะเป็นการช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้นจะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างการผลิตและจ้างงาน เป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
2. ทุนนอกมั่นใจไทยตั้งโรงถลุงเหล็ก
  • ผอ.สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เผยเปิดว่า นักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำเพียงแต่ติดปัญหาพื้นที่ตั้งโครงการ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และความจำเป็นของโครงการเหล็กต้นน้ำยังต้องมีต่อไป แม้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง แต่ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ความต้องการจะเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะสถานที่ก่อสร้าง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำนั้นถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนภาคเอกชนจึงได้ให้ความสำคัญของการผลิตเหล็กต้นน้ำและมีแผนการเตรียมการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมหลังจากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นในไตรมาส 4 ของปี 52 ทั้งนี้ จากข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนล่าสุดของ BOI ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 52 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิน 377 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.0 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งตามลำดับ
3. รัฐมนตรีคลัง G-8 หารือแผนลดการขาดดุลการคลัง
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 8 ประเทศ (G-8) พิจารณาแผนการลดการขาดดุลการคลังหลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาประกอบกับความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น โดยแผนการดังกล่าว กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะมีรูปแบบอย่างไรหากเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวและสามารถกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ รมว.คลังสหรัฐฯ เห็นว่าทุกประเทศควรมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการขยายตัวเป็นหลัก เนื่องจากหากลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วไปอาจส่งผลให้เกิดการชะงักของการฟื้นตัว ในขณะที่หากคงมาตรการกระตุ้นที่ยาวนานเกินไปอาจเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมามาตรการการขาดดุลทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินในประเทศตะวันตกได้ช่วยกระตุ้นการบริโภคและช่วยเหลือภาคการเงินอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม การจัดทำมาตรการการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลต่อฐานะทางการคลังอย่างมาก และทำให้ความเสี่ยงต่อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นบ่งชี้ได้โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นไปมาก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาวะถดถอยจากการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง เนื่องจากหากเศรษฐกิจยังไม่สามารถเติบโตได้จากการฟื้นตัวของภาคเอกชน โดยเฉพาะในด้านของการลงทุนระยะยาวแล้ว การลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเป็นหลักในช่วงที่ผ่านมาลงอาจจะส่งผลให้การบริโภคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทรุดลง และส่งผลให้เศรษฐกิจทรุดลงไปอีกครั้ง ดังเช่นเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (The loss decade)ดังนั้น ทางการของประเทศต่าง ๆ จึงควรพิจารณาให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนก่อนที่จะลดมาตรการการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ