รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 3 กรกฏาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 9, 2009 11:49 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลเดือน พ.ค. 52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 161.0 พันล้านบาทเพี่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 27.0 ซึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนในระดับสูง ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำจำนวน 114.8 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวนสูงถึง 40 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับที่สูงถึงร้อยละ 244.4 ต่อปี เนื่องจากมีการโอนงบลงทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 21.7 พันล้านบาท และรายจ่ายในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 4.2 พันล้านบาทสำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค.51- พ.ค.52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวน 1.274 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 18.3 ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน 1.177 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.3 ของ กรอบวงเงินงบประมาณ (หรือจำนวน 1.952 ล้านล้านบาท เมื่อรวมรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 1.16 แสนล้าน)

ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศเดือนพ.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -13.0 และ -35.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัวลงตามภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การลงทุนภายในประเทศทางด้านอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงมาก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องต่อปริมาณยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และให้เหล็กหดตัวลง

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 52 มีจำนวน 0.92 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -21.2 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ —11.2 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากความกังวลเรื่องไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นหลัก และผลจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยเป็นการหดตัวในทุกกลุ่มภูมิภาค ยกเว้นเอเชียใต้ที่มีอัตราการขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะ อินเดียปากีสถาน และบังคลาเทศ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 5.0 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 52 อยู่ที่ร้อยละ -4.0 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -3.3 นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยมีสาเหตุจากฐานในการคำนวณในปีที่ผ่านมาที่สูงมาก แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีปัจจัยสำคัญคือราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 7.9 ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 7.7 เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับภาษีสรรพสามิตบุหรี่และสุราขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค. 52 ขณะที่ดัชนีในหมวดผักและผลไม้หดตัวร้อยละ -3.5 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด เช่น เงาะ แตงโม มังคุด และลองกอง ฯลฯ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มิ.ย. 52 หดร้อยละ -1.0 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

ดัชนีราคาวัสถุก่อสร้างในเดือนมิ.ย. 52 หดตัวร้อยละ -23.0 ต่อปี ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน (ธ.ค. 51 — มิ.ย. 52) ส่งผลให้ไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ -20.0 ต่อปี โดยสาเหตุที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวลงมากมาจากการลดลงของดัชนีราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวร้อยละ -46.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงในหมวดของเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตหดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี โดยเป็นการลดลงของราคาพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต และหมวดซีเมนต์หดตัวร้อยละ -6.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงในส่วนของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการลงทุนหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัวลง

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 52 เกินดุลที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการเกินดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น ตามมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า โดยมีการเกินดุลที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบริการขาดดุล -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการหดตัวลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากปัจจัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ประกอบกับเป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติส่งคืนกำไรและเงินปันผลกลับประเทศ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 52 คาดว่าจะหดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนที่หดตัวที่ร้อยละ -8.7 ต่อปี ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญบางชนิด โดยเฉพาะยางพาราที่คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามสถาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยางและผลผลิตมันสำปะหลังที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่จูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตข้าวนาปรังคาดว่าจะลดลง เนื่องจากในช่วงเดียวกันปีก่อนมีผลผลิตข้าวออกมามากตามราคาข้าวที่ขยายตัวสูงจนจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกเพิ่มขึ้นจึงทำให้ฐานในการคำนวณสูงกว่าปกติประกอบกับฝนที่ตกชุกในช่วงนี้ส่งผลให้ความชื้นสูง จึงคาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยกเว้นค่าเงินในภูมิภาคอาทิ วอน รูเปียห์ ดอลลาร์ไต้หวันที่แข็งค่าขึ้นเป็นต้น

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์นี้ตามความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดต่ำมาอยู่ที่ระดับ 49.3 จุด จากเดิมที่ระดับ 54.3 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 55.0 จุดมาก ในขณะที่ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 16 ปีที่ร้อยละ 9.6 ของกำลังแรงงานรวมและตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm payroll) ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดไว้ที่ 4.7 แสนคนเทียบกับที่คาดไว้ที่ลดลง 3.7 แสนคน สูงขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ปรับลดลงที่ 3.2 แสนคน โดยปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าวได้ส่งผลให้ความต้องการของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (safe haven) ปรับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง

ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงหลังจากที่ตัวเลขการว่างงานของยุโรปออกมาสูงกว่าคาดไว้ที่ร้อยละ 9.5 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่ตลาดคาดไว้ที่ร้อยละ 9.4 ) พร้อมทั้งได้รับแรงกดดันจากคำกล่าวของประธานธนาคารกลางยุโรปว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวในช่วงกลางปี 2553 ในขณะที่เงินปอนด์ สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเช่นกันหลังอังกฤษประกาศตัวเลข GDPไตรมาส 1 ปรับลดลงร้อยละ 2.4 ไตรมาสหรือลดลงร้อยละ 4.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ร้อยละ -2.1 ต่อไตรมาสและร้อยละ -4.3 ต่อปี และนับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 51 ปี

ในขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยขั้นต้น ประกอบกับค่าเงินเยนได้รับปัจจัยจากตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่าอาจจะยังไม่ฟื้น ตัวขึ้นในช่วงระยะใกล้นี้

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.41 นับจากช่วงต้นสัปดาห์และอ่อนค่าลงนับจากช่วงต้นเดือนเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.26

อัตราการเปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นสัปดาห์ดังกล่าวเป็นการอ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินภูมิภาคแทบทุกสกุลยกเว้นเปโซ บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทอาจเริ่มมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับภูมิภาคในระยะต่อไปหลังจากที่แข็งค่าขึ้นมามากเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินรูเปียห์เมื่อนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในช่วงค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยยกเว้นค่าเงินเปโซที่อ่อนค่าลงมาก จากความวิตกต่อเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในระยะต่อไปและตัวเลขฐานะการคลังที่ปรับลดลงไปมาก

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.41 จากสัปดาห์ก่อนหน้าสวนทางกับค่าเงินสกุลอื่นฯในภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 3 ก.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 2.54 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2. 67

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.4) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.0) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.4) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.9) วอนเกาหลี (ร้อยละ 2.7) ดอลลาร์ ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.1) ยูโร (ร้อยละ 1.9) หยวน (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.7) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.7) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -9.1) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -4.6) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 26 มิ.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 129.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นมากใน Forward Obligation จำนวน 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนักในตลาด Forward ในขณะที่เมื่อพิจารณาด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์พบว่า มีมูลค่าการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในตลาด FWD ของธปท.มีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (19 มิ.ย.52) ร้อยละ -0.21 บาท จาก 34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ดัชนี ISM Manufacturing Purchasing Manager Index (ISM PMI) ของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. 52 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องที่ระดับ 44.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.8 โดยการผลิต การจ้างงาน และความเร็วของการส่งสินค้าจากผู้ผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่และสินค้าคงคลังยังคงหดตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยังคงหดตัว

ดัชนี Purchasing Managers Index (PMI) ภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนมิ.ย. 52 แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ระดับ 42.6 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.7 เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ อยู่ที่ระดับ 44.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.2 สูงที่สุดในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ยังคงต่ำกว่าระดับหลังเหตุการณ์ 9/11

ดัชนีอุตสาหกรรมจีนเดือนมิ.ย. 52 โดยทางการจีน (NBS PMI) อยู่ที่ระดับ 53.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.1 ในขณะที่ดัชนีที่รวบรวมโดยบริษัท CLSA อยู่ที่ 51.8 สูงขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยดัชนีที่มากกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนอย่างต่อเนื่อง

ดัชนี Purchasing Managers Index (PMI) ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือนมิ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 48.2 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.6 สูงที่สุดตั้งแต่เดือนเม.ย.51 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีคำสั่งซื้อเพื่อส่งออกที่ระดับ 51.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.8 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

ดัชนีอุตสาหกรรม (PMI) ของสิงคโปร์เดือนมิ.ย.52 ปรับตัวลงมาเล็กน้อยที่ระดับ 51.1 จากระดับ 51.2 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของอินเดียในเดือน มิ.ย. 52 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 55.3 จาก 55.7 ในเดือนก่อนหน้า แต่เป็นการปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 50 เป็นเดือนที่ 3 สะท้อนว่าการผลิตเริ่มมีการขยายตัวจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น

ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนมิ.ย.52 ลดลงเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันถึง 467,000 ตำแหน่ง จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 322,000 ตำแหน่ง (ตัวเลขปรับปรุง) โดยตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการลดลงถึง 136,000 และ 244,000 ตำ แหน่ง ตามลำ ดับ โดยตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรลดลงถึง 6.4 ล้านตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบ 26 ปีที่ร้อยละ 9.5

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมิ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 49.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.8 (ตัวเลขปรับปรุง) โดยเป็นการปรับลดลงของทั้งดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผลจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้ที่ไม่แน่นอน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Tankan: Big Manufacturers) ไตรมาส 2 ปี52 อยู่ที่ระดับ -48 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ -58 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสองปีครึ่ง ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตรายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

มูลค่าการส่งออกสินค้าของออสเตรเลียเดือน พ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -10.9 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปีเนื่องจากการลดลงของมูลค่าสินค้าส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะถ่านหินและเหล็กที่ราคาลดลงมาก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวลงร้อยละ -19.2 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเดือนพ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -28.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -22.5 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -32.7 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -45.2 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 6.75 ต่อปีจากร้อยละ 7.0 ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ