รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฏาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 27, 2009 11:32 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลเดือน มิ.ย. 52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 139.5 พันล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -2.6 โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนในระดับต่ำ ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประกอบด้วยรายจ่ายประจำจำนวน 110.8 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 ต่อปี ในขณะที่รายจ่ายลงทุนจำนวน 20.3 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -32.1 ต่อปี เนื่องจากได้มีการโอนงบลงทุนให้แก่ อปท. ไปในเดือน พ.ค. 52 จำนวนหนึ่งแล้วสำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญของเดือน มิ.ย. 52 ได้แก่ รายจ่ายให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวน 9.5 พันล้านบาท สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค. 51 - มิ.ย. 52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 1,414.0ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.4 ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน 1,308.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ67.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (จำนวน 1,951.7 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีวงเงิน 1.16 แสนล้านบาท)

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,834.1 พันล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 43.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 35.1 พันล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 32.6 พันล้านบาท ซึ่งมีรายการที่สำคัญจากการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 60.1 พันล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 4.3 พันล้านบาท ประกอบกับการออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 47.0 พันล้านบาท สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินและหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน2.5 และ 2.9 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศสกุลเงินบาทที่ร้อยละ 90.1 และเป็นหนี้ระยะยาวมากกว่า 1 ปี ที่ร้อยละ 88.0 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน มิ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -25.9 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -23.6 ต่อปี หดตัวชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -24.2 ต่อปี ขณะที่ราคาหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 2 ของปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวที่ร้อยละ-26.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -20.5 ต่อปี ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน มิ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -29.3ต่อปี หดตัวน้อยสุดในรอบ 6 เดือน โดยปริมาณนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ -24.6 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -29.9 ต่อปี และราคาหดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี ทำให้ในครึ่งแรกของปี 2552 มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวที่ร้อยละ -35.4 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือนมิ.ย. 52 เกินดุลที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 52 หดลงร้อยละ -8.9 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -18.3 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ-8.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคของประชาชนทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ ลดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รัฐบาลมีนโยบายปรับลดอัตราภาษีสรรสามิตสำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง E20 จึงมีผลทำให้ผู้บริโภคมีการเร่ง ซื้อรถยนต์นั่งในช่วงปีก่อนหน้า

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -16.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวลงร้อยละ -31.1 ต่อปี และเป็นการหดตัวลงต่อเนื่อง 14 เดือนติดต่อกัน (พ.ค. 51 — มิ.ย. 52) ส่งผลให้ไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ-30.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวลงของยอดจำหน่ายรถปิกอัพ และรถบรรทุกขนาด 2 ตันที่หดตัวลงร้อยละ -17.3 และ -20.3 ต่อปี ตามลำ ดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงหดตัวลงตามภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การลงทุนภายในประเทศทางด้านปริมาณจำ หน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มิ.ย. 52 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ-7.0 ต่อปี ซึ่งจะเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือน พ.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ-12.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกในเดือน มิ.ย. 52 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการส่งออกสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 52 คาดว่าจะมีจำนวน 0.9 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -16.0 ต่อปี ส่งผลให้ ไตรมาส 2ปี 52 หดตัวลงร้อยละ -16.1 ต่อปี หดตัวรุนแรงกว่า ไตรมาส 1 ปี 52 ที่หดตัวร้อยละ-15.8 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย 1) การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ทีเริ่มแพร่ระบาดมากขึ้นจนส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของนักท่องเที่ยว 2) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและ 3) ความไม่สงบทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากช่วงสงกรานต์

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นค่าเงินเยนและเปโซที่อ่อนค่าลง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์นี้ตามความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนของนักลงทุนตามความเชื่อมั่นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยบวกอาทิ (1) ตัวเลขบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจหลายตัวที่ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ โดยยอดขายบ้านมือสอง(Existing home sales) ประจำเดือน มิ.ย. 52 ของสหรัฐฯที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อนหน้าหรือที่ 4.89 ล้านหลัง ในขณะที่ราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้นมาสูงที่สุดในรอบ 9 เดือน บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันยอดค้าปลีก (Retail sales) ของสหรัฐฯประจำเดือน มิ.ย.52 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.6 ต่อเดือนเช่นกัน (2) การบรรลุข้อตกลงกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ของบริษัท CIT Group ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้บริษัทไม่ต้องยื่นหรือชะลอการล้มละลายและ (3)การประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดไว้ของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของสหรัฐฯอาทิเช่น Apple และ Starbucks มีส่วนสนับสนุนให้ตลาดลดความต้องการที่จะถือสินทรัพย์สกุลที่ปลอดภัย (safe haven)อาทิดอลลาร์สหรัฐและเยน และเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและสกุลเงินของยุโรปและภูมิภาคซึ่งมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่า (High yielding) ส่งผลให้ค่าเงินสกุลของประเทศดังกล่าวแข็งค่าขึ้นตามลำดับ

ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามปัจจัยrisk appetite ข้างต้นซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเช่นกัน โดย ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมติการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีและมติไม่ขยายการซื้อสินทรัพย์ (Asset-buying program) วงเงิน1.25 แสนล้านปอนด์สเตอลิงค์จนถึงการประชุมครั้งหน้าของธนาคารกลางอังกฤษ(BOE)

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยความต้องการของเงินสกุลเยนในฐานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยลดลง นอกจากนั้นค่าเงินเยนยังได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์ว่าจะมีกระแสเงินไหลออกจากกองทุนเพื่อการลงทุนเช่นกัน

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.21 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.15 นับจากช่วงต้นเดือน

อัตราการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการแข็งค่าขึ้นในระดับที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคหลายสกุลยกเว้นค่าเงินเปโซและหยวน บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทในช่วงนี้เริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค หลังจากที่แข็งค่าขึ้นมามากเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆแทบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินรูเปียห์เมื่อนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยความต้องการเสี่ยงที่มีเพิ่มมากขึ้น( risk appetite) ข้างต้นตามแรงไหลเข้าของเงินลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียที่มีมากอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 เดือน โดยเฉพาะค่าเงินรูเปียห์ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมามากกว่าสกุลอื่นเนื่องจากการอ่อนค่าลงไปมากในสัปดาห์ก่อนหน้าจากเหตุวินาศกรรมในกรุงจาร์การต้า

ในขณะเดียวกันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อนหน้าแต่แข็งค่าขึ้นในระดับที่น้อยกว่าการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ บ่งชี้ได้ถึงเสถียรภาพของค่าเงินที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์)ณ วันที่ 24 ก.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 2.34และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2.22

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 6.8) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.8)เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.5) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.5) หยวน (ร้อยละ 2.7) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.4) วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.1) ยูโร (ร้อยละ 1.0) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์(ร้อยละ -9.6) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -5.6) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 17 ก.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 131.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนัก ในภาวะที่มีเงินไหลเข้า โดยในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งพบว่าต่างชาติมีการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับคาดว่าผู้ส่งออกยังคงมีความ ต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐจากการที่ยังคงมีการเกินดุลการค้าในเดือนมิ.ย.52 อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ของธปท.มีน้อยกว่าความต้องการ ขายเงินดอลลาร์สหรัฐโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (10 ก.ค. 52) ร้อยละ -0.03 บาท จาก 34.02 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐ เป็น 34.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) และใบขออนุญาตก่อสร้าง(Building Permits) ของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย.52 อยู่ที่ 582,000 และ563,000 หลัง ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 และ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ขยายตัวชะลอลงจากเดือนพ.ค.ที่ร้อยละ 17.3 และร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ (ตัวเลขปรับปรุง) โดยปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวเดี่ยวที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในขณะที่ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) เดือนมิ.ย.52 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อนหน้าจากเดือนพ.ค.ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 4.89 ล้านหลัง ในขณะที่ราคากลางบ้าน (Median Home Price) ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ 181,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 4.1 จากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินโลก เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

ดุลการค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนพ.ค. 52 เกินดุล 1.9 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2.7 พันล้านยูโร ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -24.0 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -27.0 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยูโรยังคงไม่มีสัญญาณฟื้นตัวในภาคการส่งออก

การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือนมิ.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ -35.7 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -40.9 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -41.9 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -42.4 ติ่ปี ทั้งนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ของสินค้าญี่ปุ่นจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีนปรับตัวดีขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ดุลการค้าเดือนมิ.ย.52 ปรับตัวสูงขึ้นที่ 508 พันล้านเยน

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนถึงเดือนมิ.ย.52 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ถึงร้อยละ 33.6 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 32.9 ต่อปี โดยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวถึงร้อยละ9.9 ต่อปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี และการลงทุนในโครงการของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นในช่วงครึ่งแรกของปี ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 41.4 และ 34.1 ต่อปี ตามลำดับ ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภคในเขตเมือง

การส่งออกไม่รวมน้ำมันของประเทศสิงคโปร์ในเดือนมิ.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -11.0 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ-12.3 ต่อปี เป็นปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ของทางการสิงคโปร์ที่มองว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว

GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 52 หดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -4.2 ต่อปี ในไตรมาสก่อน (ตัวเลขปรับปรุง) หรือร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เร่งขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยทางด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบหนึ่งในสามของ GDP มีการหดตัวต่อเนื่องที่อัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ -7.9 ต่อปี ในขณะที่ภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ทางด้านอุปสงค์ การลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในสินค้าทุนและการส่งออกหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -17.2 และ -4.3 ต่อปีตามลำดับ

มูลค่าการนำ เข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนพ.ค. 52 หดตัวร้อยละ-24.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -37.4 ต่อปี แต่มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน ผลจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัญญาณดีขึ้นโดยหดตัวร้อยละ -12.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -42.0 ต่อปี ทั้งนี้ในเดือนพ.ค. 52 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของมาเลเซียเดือนมิ.ย. 52 หดตัวต่ำสุดในรอบ 23 ปี ที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ผลจาก หมวดขนส่งที่มีสัดส่วนร้อยละ 15.9 หดตัวร้อยละ -18.0 ต่อปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง

การส่งออกสินค้าของเวียดนามในเดือนมิ.ย.52 หดตัวลงมากขึ้นที่ร้อยละ -14.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -14.3 ต่อปี โดยเป็นผลจาก การหดตัวของสินค้าสำคัญทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบที่หดตัวลงร้อยละ -13.2 ต่อปี และ -6.4 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ