รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27-31 กรกฏาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2009 11:32 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ -6.8 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.2 ต่อปี ส่งผลให้MPI ในไตรมาส 2/2552 หดตัวร้อยละ -10.7 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาส1/2552 ที่หดตัวร้อยละ -22.0 ต่อปี สาเหตุที่ MPI หดตัวในอัตราชะลอลงในเดือนมิ.ย. 52 มาจากผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิต Hard Disk Drive การผลิตเพชรพลอยและรูปพรรณ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประเภทน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม(TISI) เดือนมิ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 83.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 78.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และราคาขาย ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.52 ที่หดตัวเพียงร้อยละ -6.8 ต่อปี ถือเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน หลังจากที่หดตัวลงต่ำสุดที่ร้อยละ -25.5 ต่อปีในเดือน ม.ค. 52

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 52 เกินดุลที่ 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปี 52 เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากการเกินดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงน้อยกว่าการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า ขณะที่ดุลบริการขาดดุล -1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเดือน พ.ค.-มิ.ย.เป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติส่งคืนกำไรและเงินปันผลกลับประเทศประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงตามการหดตัวลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี ในไตรมาส 2 ปี 52

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 52 มีจำนวน 0.96 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -15.9 ต่อปี ส่งผลให้ ไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวลงร้อยละ -16.1 ต่อปี หดตัวรุนแรงกว่า ไตรมาส 1 ปี 52 ที่หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย 1) การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ทีเริ่มแพร่ระบาดมากขึ้นจนส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของนักท่องเที่ยว 2) ความไม่สงบทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากช่วงสงกรานต์และ3) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การหดตัวที่ร้อยละ -15.9 ต่อปี ในเดือนมิ.ย. นับเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น จากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม ASEAN+3 ที่จ.ภูเก็ต

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือน มิ.ย. 52 ขยายตัวลดลงสถาบันรับฝากเงิน (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน) ให้สินเชื่อภาคเอกชนในเดือน มิ.ย. 52 ชะลอลงต่อเนื่อง จากภาคธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อที่ลดลง รวมทั้งมีการตัดหนี้สูญจำนวนหนึ่ง โดยขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 8,515.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 8,480.5 พันล้านบาท ในด้านเงินฝากในเดือน มิ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.3 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งจากผลของฐานเงินฝากต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน (ซึ่งเกิดจากธนาคารพาณิชย์ลดการรับฝากเงินเพื่อลดภาระการนำเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) เนื่องจากการคำนวณค่าธรรมเนียมเดิมใช้วิธีการคำนวณจากยอดคงค้างเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 แต่หลังจากพรบ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 จึงได้ยกเลิกวิธีการคำนวณดังกล่าว) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ และนักลงทุนได้เริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนอื่นที่สูงขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน 2552 มีเงินฝากจำนวน 9,418.9 พันล้านบาท ลดลงจาก 9,557.5 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ อัตราส่วนของ Gross NPLs ต่อเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2552 คิดเป็นร้อยละ 5.4 ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.0 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุจากฐานในการคำนวณในปีที่ผ่านมาสูงมาก แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้เฉลี่ยแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก 1)ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 0.7 ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 2)ราคาเนื้อสุกรหดตัวร้อยละ -3.5 เป็นผลจากสุกรมีชีวิตที่หน้าฟาร์มมีราคาลดลง และ 3)ดัชนีราคาผักและผลไม้หดตัวร้อยละ -1.9 ซึ่งเป็นผลจากปริมาณผลผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาล เช่น ลำ ไย มังคุด และลองกอง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค. 52 หดร้อยละ -1.2 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลหลักของโลกในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในช่วงแคบยกเว้นค่าเงินวอนเกาหลีและค่าเงินรูเปียห์อินโดนิเซีย

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ตามความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีเพิ่มขึ้นจากปัจจัยลบอาทิ (1) ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯที่ประกาศโดย Conference board ที่ปรับลดลงจากระดับ 49.3 ในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ระดับ 46.6 ในเดือน ก.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 49.0 มาก (2) คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (US Durable goods orders)ในเดือน มิ.ย.ที่ปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ -2.5 ต่อปีซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี) (3) การปรับลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการที่จะถือสินทรัพย์สกุลที่ปลอดภัย (safe haven) อาทิดอลลาร์สหรัฐเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามลำดับ

ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีน้อยลง (risk aversion) ตามปัจจัยข้างต้น ประกอบกับเงินสกุลยูโรได้รับผลกระทบจากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่กล่าวว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ควรมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นจุดต่ำสุดแล้วและมองว่าค่าเงินยูโรนั้นแข็งค่ามากกว่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยพื้นฐานในขณะเดียวกันค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นปัจจัยเสริมจากตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษที่ประกาศออกมาดีกว่าคาดไว้จากตัวเลขดัชนีราคาบ้าน (Nationwide House Prices) ของอังกฤษในเดือน ก.ค. ที่ระดับร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยเป็นการปรับสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจอังกฤษมากขึ้น

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาทิเช่น (1) ตัวเลขการว่างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (2) ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง (3) ยอดค้าปลีกในช่วงที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเงินเยนปรับลดลง

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.21 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 นับจากช่วงต้นเดือน

อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทดังกล่าวเป็นการอ่อนค่าลงมากที่สุดเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคในช่วงนี้ หลังจากที่แข็งค่าขึ้นมามากเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินรูเปียห์เมื่อนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในช่วงแคบยกเว้นค่าเงินวอนที่แข็งค่าขึ้นหลังจากการประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของเกาเหลีใต้เดือน ก.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปีที่ 109 จุดในขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ได้รับปัจจัยบวกจากแรงเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อินนีเซียอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอินโดนิเซีย

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.21 จากสัปดาห์ก่อนและอ่อนค่าลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลในภูมิภาคสกุลอื่นๆในสัปดาห์นี้ สวนทางกับเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยสุทธิที่มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 5 พันล้านบาท บ่งชี้ได้ถึงการเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและผลจากนโยบายช่วยเหลือทางด้านค่าเงินบาทของรัฐบาลในช่วงต้นสัปดาห์

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์)ณ วันที่ 24 ก.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 2.25 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2.34

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.3) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.1) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.2) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.3) หยวน (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.0) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.0) ยูโร(ร้อยละ 1.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -9.7) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -6.4) วอนเกาหลี (ร้อยละ -0.4) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 24 ก.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 132.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนัก ในภาวะที่มีเงินไหลเข้า โดยในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าต่างชาติมีการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับคาดว่าผู้ส่งออกยังคงมีความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐจากการที่ยังคงมีการเกินดุลการค้าในเดือนมิ.ย.52 อย่างไรก็ตาม การเข้าดูแลค่าเงินบาทของธปท.ยังคงมีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (17ก.ค. 52) ร้อยละ -0.21 บาท จาก 34.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขเบื้องต้นของ GDP สหรัฐฯไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวลงร้อยละ-1.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) หดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ที่หดตัวถึงร้อยละ -6.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) และเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยการใช้จ่ายภาครัฐรวม ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ขยายตัวถึงร้อยละ 5.6 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการเบิกจ่ายแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -20.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนก.ค.52 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 46.6 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.3 โดยเป็นการปรับลดลงของทั้งดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดัชนีการคาดการณ์เภาวะเศรษฐกิจ และดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้ในอนาคตที่ไม่แน่นอน

ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ 76.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 73.2 ในเดือนก่อนหน้า ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคการบริโภค อุตสาหกรรมและบริการ ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดัชนีการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้น (Manufacturing Flash PMI) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 46.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.6 และนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนก.ย. 51 เนื่องจากผู้ประกอบการมีการระบายสินค้าคงคลังออกไปได้เป็นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากสัดส่วนของคำสั่งซื้อต่อสินค้าคงคลังที่ปรับตัวสูงสุด นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 51

ดัชนีการจัดซื้อจากโรงงาน (PMI) ของญี่ปุ่น เดือนก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ50.4 สูงขึ้นจากระดับ 48.2 ในเดือนก่อนหน้าเป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว จากผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้ผ่านระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับแบ่งแยกระหว่างภาวะเศรษฐกิจหดตัวและเศรษฐกิจขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน โดยดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 52.7 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.2

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฮ่องกงเดือนมิ.ย.52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.4 ต่อปี จากร้อยละ -14.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในแง่มิติสินค้า การส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้สำ นักงานขยายตัวถึงร้อยละ 16.0 และ 27.1 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังเอเชียขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยการส่งออกไปยังจีนขยายตัวถึงร้อยละ 9.3 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวถึงร้อยละ -23.7 และร้อยละ -13.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนมิ.ย.52 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -19.2 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าฮ่องกงเดือน มิ.ย 52 ขาดดุลที่ -16.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

เกาหลีใต้ประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.52 ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ระดับ 109 จากระดับ 106 ในเดือนก่อนหน้า ผลจากแรงผลักดันของนโยบายกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน และการเติบโตของ GDP ซึ่งในไตรมาสที่สอง เติบโตถึงร้อยล่ะ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตของเกาหลีใต้ (BOK BSI) เดือนก.ค.52 อยู่ที่ระดับ 78 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 76 และได้คาดการณ์ตัวเลขของเดือนส.ค.52 ไว้ที่ระดับ 79 ด้วย ผลจากแรงกระตุ้นทางภาคการบริโภคซึ่งดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาคการส่งออกที่หดตัวน้อยลง จากการส่งออกสินค้าประเภทส่วนประกอบและอะไหล่ไปจีน ซึ่งจีนนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้เป็นอันดับสองของการนำเข้ารวม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ