รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 27-31 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2009 11:37 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

บทสรุป

1. ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญเดือน มิ.ย. 52 ที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1.1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เทียบกับเดือน พ.ค.52 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว จากแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้น

1.2 ดัชนีราคาผู้บริโภค ลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลง 4 เดือนติดต่อกันแล้ว ภาวะเงินฝืดยังคงมีอยู่

1.3 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.4 เทียบกับร้อยละ 5.2 ในเดือน พ.ค.52 สูงที่สุดนับตั้งแต่ มิ.ย.46

2. จำนวนนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรญี่ปุ่นลดลง

3. ผลประกอบการสถาบันการเงินญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 หลังจากขาดทุนในไตรมาส 1

-----------------------------------

1. ดัชนีเศรษฐกิจที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1. 1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เดือน มิ.ย. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Industry)ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือน มิ.ย. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 81.0 (ปี 2005=100) ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว กระทรวง METI ระบุว่ามีแนวโน้มว่าการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1.2 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price Index) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน มิ.ย.52 ลดลงร้อยละ 1.7 อยู่ที่ 100.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคได้ลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว เนื่องจากราคาสินค้าบริโภคลดลง แสดงถึงภาวะเงินฝืดยังคงมีอยู่

1.3 อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.4 เทียบกับร้อยละ 5.2 ในเดือน พ.ค.52 สูงที่สุดนับตั้งแต่ มิ.ย.46

2. จำนวนนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรญี่ปุ่นลดลง

BOJ ได้เปิดเผยว่าจำนวนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 681.7 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือนมี.ค.52 แต่มีนักลงทุนต่างชาติถือมีเพียง 43 ล้านล้านเยน หรือร้อยละ 6.4 ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น ได้แก่สถาบันการเงินและบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น ในขณะที่ผู้ถือพันธบัตรสหรัฐฯ และเยอรมนี ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ สัดส่วนมูลค่าพันธบัตรญี่ปุ่นที่นักลงทุนต่างชาติถือครองไว้เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรปและสหรัฐฯ นับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมาก กระทรวงการคลังญี่ปุ่นมีนโยบายส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนพันธบัตรญี่ปุ่นมากขึ้นเพื่อให้ตลาดพันธบัตรมีความเสถียรภาพ โดยได้จัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนพันธบัตรญี่ปุ่นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ทำให้สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.7 ในณ ก.ย.51 จากร้อยละ 3 ในสิ้นปี 2546 แต่หลังจากวิกฤตการเงินเกิดขึ้น จำนวนพันธบัตรที่นักลงทุนต่างชาติถือได้ลดลงอีก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยโดยเปรียบเทียบในยุโรปและสหรัฐฯ สูงกว่าญี่ปุ่นส่งผลให้นักลงทุนยุโรปและสหรัฐฯ ขายพันธบัตรระยะยาวญี่ปุ่นมากขึ้น

ทั้งนี้ การลดลงจำนวนนักลงทุนต่างชาติไม่มีผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะออกพันธบัตรจำนวนมากกว่า 44 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2553

3. ผลประกอบการสถาบันการเงินญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.52 Nomura Securities บริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ระหว่างเดือนเม.ย. — มิ.ย.52 ว่ามีผลกำไรจำนวน 11.4 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ขาดทุนเป็นจำนวน 76.5 พันล้านเยน เป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส เนื่องจากการเพิ่มทุนของบริษัทขนาดใหญ่และราคาหลักทรัพย์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น.ในขณะที่ Sumitomo Mitsui Financial Group ก็มีผลกำไรในไตรมาสที่ 2 จำนวน 72.7 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยผลกำไรนี้มาจากธุรกิจหลักคือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Sumitomo Mitsui Bank) ซึ่งมีผลกำไร 195.4 พันล้านเยนเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ได้ลดต่ำลงทำให้การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลได้รับความนิยมและส่งผลให้ผลกำไรในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเท่ากับ 40.5 พันล้านเยนสถาบันการเงินทั้งสองแห่งมีผลประกอบการขาดทุน ณ ในปีงบประมาณ 2551 (มี.ค.52) ที่ผ่านมา

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ