รายได้รัฐบาลประจำเดือนกรกฎาคม 2552 และในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 11, 2009 15:59 —กระทรวงการคลัง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนกรกฎาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 98,100 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้รัฐบาลในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — กรกฎาคม 2552) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,120,898 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ และแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2552 จะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (1,604,640 ล้านบาท) ประมาณ 206,000 ล้านบาท ซึ่งดีขึ้นจากเดิม ที่คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการฯ 280,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. เดือนกรกฎาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 98,100 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกัน ปีที่แล้ว 9,850 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.1 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรขาเข้า ที่ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 9,609 4,474 และ 2,323 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.4 23.0 และ 26.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ 12,557 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 7,085 ล้านบาท หรือร้อยละ 129.5 เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมัน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีน้ำมันในเดือนเดียวกันปีที่แล้วอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น อย่างรวดเร็ว

สำหรับการจัดเก็บอากรขาเข้า แม้ว่าจะต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยผลการจัดเก็บฯ ในเดือนกรกฎาคม 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ในอัตราร้อยละ 12.0 ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นของกรมศุลกากร อากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ในเดือนกรกฎาคม 2552 ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด 3 อันดับแรก เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน คือ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เหล็กและเหล็กกล้า

2. ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — กรกฎาคม 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,120,898 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 118,965 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 9.6 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก ที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยเฉพาะ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเช่นกัน

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 894,815 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 88,596 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 60,451 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5

เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งที่เก็บจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 27.0 และ 3.5 ตามลำดับ อันเนื่องมาจากการหดตัวลงของสภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาษีที่จัดเก็บได้เป็นรายเดือน พบว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นมา

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 35,673 ล้านบาท

หรือร้อยละ 12.0 เป็นผลจากผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ที่ลดลงอันเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

  • ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 6,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2551

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,379ล้านบาท หรือร้อยละ 31.5 เนื่องจากผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวกับการขุดเจาะปิโตรเลียมในปี 2551 อยู่ในระดับที่ดี จากราคาน้ำมันดิบที่สูงในช่วงปี 2551

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 234,810 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,169 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.6 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าคงทน ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้เป็นรายเดือน พบว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการจัดเก็บภาษีน้ำมัน แม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 จะได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ตาม 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน แต่หลังจากที่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีในเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 4,465 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 65,949 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,411 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9 เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 17,103 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.3 ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้า โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 - มิถุนายน 2552) มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินบาทต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.8 และ 18.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการจัดเก็บอากรขาเข้าเป็นรายเดือน พบว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 70,800 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.1 โดยมีรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารออมสิน โรงงานยาสูบ และ บมจ.กสทโทรคมนาคม ตามลำดับ

2.5 หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 70,081 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,357 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ที่เกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 174,605 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 4.7 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 136,759 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3,993 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 และการคืนภาษีอื่นจำนวน 37,846 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11,835 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.5 เนื่องจากการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ค่อนข้างสูง

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 105/2552 11 สิงหาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ