รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 กันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 18, 2009 11:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ก.ย. 2552

Summary:

1. พาณิชย์เผย ส.ค. 52 ส่งออกหดตัวร้อยละ -18.4

2. ญี่ปุ่นยกไทยเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 1 ในเอเชีย

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น

Highlight:
1. พาณิชย์เผย ส.ค. 52 ส่งออกหดตัวร้อยละ -18.4
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออก เดือนส.ค. 52 มีมูลค่าสูงสุดในปีนี้ที่ 13,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหดตัวลงร้อยละ -18.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 11,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวลงร้อยละ -32.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 2.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลงที่ร้อยละ -10 ในปีนี้เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลดลง 15-19% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือนส.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการส่งออกของไทยในเดือนส.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหมวดใหญ่ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวร้อยละ -11.6 และ -11.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -17.0 และ -13.9 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกเคมีภัณฑ์ และโครงก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็กได้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ภาวะราคาทองอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้เดือนนี้มีการส่งออกทองคำมูลค่าสูงถึง 306.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกที่หักทองคำแล้ว จะพบว่าการส่งออกในเดือนนี้จะหดตัวที่ร้อยละ -20.2 ต่อปี
2. ญี่ปุ่นยกไทยเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 1 ในเอเชีย
  • หอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยเผยการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นฯ 1,300 ราย ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยพบว่า ทุกแห่งยังยืนยันว่าจะยังลงทุนอยู่ในไทย และจะไม่มีการถอนการลงทุนออกจากไทย เพราะไทยถือเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 1 ในเอเชีย แม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้การลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทยลดลงอย่างมาก แต่ยังถือว่าลดลงน้อยกว่าการลงทุนจากประเทศอื่นๆ ซึ่งหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันสร้างให้การลงทุนเติบโตต่อไป นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุน โดยจะช่วยยกระดับ เช่น มีการส่งถ่ายเทคโนโลยี และร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย ถือว่าสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ หากไทยต้องการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากนักลงทุนต่างชาติได้เพิ่มขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม และการกำหนดยุทธศาสตร์พื้นที่การลงทุน
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการญี่ปุ่น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการที่มาตรการดังกล่าวอาจจะชะลอตัวลงในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้ภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงอีกครั้ง ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.1 และยืดระยะเวลาโครงการสินเชื่อสำหรับธนาคารและภาคธุรกิจออกไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญความเสี่ยงอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ณ ช่วงสิ้นปี 2552 จะสูงถึงประมาณร้อยละ 200 รวมถึงอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม และมีการคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 53 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงมีแนวโน้มที่จะลดต้นทุนผ่านการลดค่าจ้าง (pay cuts) และการเลิกจ้าง (lay-offs) ซึ่งจะทำให้รายได้สุทธิของผู้บริโภค (Disposable Income) ลดลงและจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังเป็นไปได้ยากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ