รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 - 16 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2009 11:09 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 4.5 แสนคนของกำลังแรงงานรวม ถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่ เม.ย. 52 เนื่องจากมีการเรียกแรงงานกลับเข้ามาทำงานในบางอุตสาหกรรมที่เริ่มขยายตัวประกอบกับการบริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว

การจ้างงานเดือน ส.ค. 52 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4 ล้านคนจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.1 ต่อปี ส่งผลให้การจ้างงานใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ขยายตัวที่เฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี แต่เมื่อปรับค่าการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานลดลงจากเดือนที่แล้ว 2.7 แสนคนหรือร้อยละ -0.7 หากพิจารณาตามสาขาพบว่ามีการจ้างงานลดลงในภาคการเกษตร เนื่องจากมีฝนตกชุกและเกิดน้ำ ท่วมหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานภาคการศึกษาและภาคค้าส่งค้าปลีกลดลง 0.1 ล้านคน และ 2.3 หมื่นคน ตามลำดับ สำหรับการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ไม้

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ก.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -5.1 ต่อปี หดตัวรุนแรงขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำ คัญโดยเฉพาะข้าวนาปี ยางพารา และมันสำ ปะหลัง เนื่องจากฝนตกชุกหนาแน่น เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากมีผลผลิตออกมามากในช่วงต้นปี ประกอบกับราคามันสำปะหลังที่ทรงตัวในระดับต่ำ ไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวมากนัก ส่วนผลผลิตหมวดปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกร และไก่เนื้อ ในเดือน ก.ย. 52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.4 และ -0.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.5 และ -14.3 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศไม่ร้อนมากนัก ส่งผลให้สัตว์มีการเติบโตได้เร็วขึ้น

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี ถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน จากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้วที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในระดับสูงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 3 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -16.2 ต่อปี หดตัวชะลอเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -18.1 ต่อปี เนื่องจากราคายางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันเริ่มปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับต้นปีตามราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 52

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ก.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 14.7 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 52 คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งจะหดตัวที่ร้อยละ -10.0 ต่อปี (โดย 9 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -8.2 ต่อปี ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้)

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เดือน ก.ย. 52 หดตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ -6.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี ตามสัญณาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 52 หดตัวเพียงร้อยละ -6.6 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -30.2 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 52 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่จะมีการเบิกจ่ายจริงในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และจะช่วยให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นตาม

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ก.ย. 52 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.0 เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย.52 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

Foreign Exchange Review

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆแทบทุกสกุลยกเว้นบาทและเยน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าตามความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) ที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น อย่างต่อเนื่องบ่งชี้ได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 10,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีหลังจากที่ผลประกอบการของอดีตวาณิชย์ธนกิจขนาดใหญ่อาทิ JP Morgan Goldman Sach ประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ที่บ่งชี้ว่าผลกำไรปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ในขณะเดียวกันผลประกอบการของ Citi Group ในไตรมาสที่ 3 ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นการขาดทุนนั้นเป็นผลกำไร โดยการปรับตัวดีขึ้นมากของธนาคารพาณิชย์ขนาด ใหญ่ประกอบการตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงาน (Jobless claims) ที่ปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนและแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการประชุมล่าสุดที่บ่งชี้ว่า FED ยังคงไม่เห็นว่าเศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตอันใกล้นี้และจะยังรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำอีกซักระยะหนึ่งนั้นได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ลดการถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในสกุลดอลลาร์สหรัฐ (Safe haven) ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนมากกว่า (High Yielding) ในตลาดหลักทรัพย์ยุโรปและภูมิภาค

ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามแรงความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์ในรูปสกุลยูโรประกอบกับตลาดมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้ม ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อน FED ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงกว่าในอนาคตอันใกล้นี้จึงได้นำเงินลงทุนออกจากสกุลดอลลาร์สหรัฐมาลงทุนในรูปยูโรมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินยุโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้นมากถึงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่อัตราการว่างงานของอังกฤษประจำเดือน ส.ค. อยู่ที่ร้อยละ 8 ของกำลังแรงงานรวม

ด้านค่าเงินเอเชียในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมากแทบทุกสกุลตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนำโดยค่าเงินรูเปียห์และริงกิตมาเลเซีย ในขณะที่ค่าเงินเยน อ่อนค่าลงหลังจากที่ตัวเลขยอดคำ สั่งซื้อเครื่องจักร (Machinery orders)ประจำเดือน ส.ค. ของญี่ปุ่นขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปีส่งผลให้ความต้องการลงทุนในเงินเยนลดลงค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.45 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนสวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคสกุลอื่นๆที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่หากพิจารณาเทียบกับช่วงต้นเดือน ต.ค. พบว่าแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ แทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินหยวน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลง สวนทางกับค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆหลังจากได้รับปัจจัยข่าวลือที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศและส่งผลให้มีแรงขายบาทเพิ่มมากขึ้นในหมู่นักลงทุนจากนอกประเทศบ่งชี้ได้จากปริมาณการขายบาทสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์สัปดาห์นี้ที่ -2,200 ล้านบาทและส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพประเทศมาก

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 16 ต.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 0.67 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.39 ค่อนข้างมาก

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวน (ร้อยละ 3.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 3.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 3.8) เยน (ร้อยละ 3.7) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.1) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.1) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1.0) ดอลลาร์สิงคโปร์(ร้อยละ 0.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -10.8) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -7.1) วอนเกาหลี (ร้อยละ -4.8) และยูโร (ร้อย -2.9) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 9 ส.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net Reserve) อยู่ที่ระดับ 148.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำ นวน 2.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินไม่ให้แข็งค่า ในสภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้า โดยเมื่อพิจารณาเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีการเข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ยังคงมีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกและเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 ต.ค.52) แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าจาก 33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนก.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า จากเดือนส.ค.52 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนหน้า(ตัวเลขปรับปรุง) แต่หากหักสินค้ายานยนต์แล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ0.5 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากปัจจัยฐานสูงของยอดขายสินค้ายานยนต์ในเดือนส.ค. จากนโยบายให้เงินอุดหนุนแก่ประชาชนให้แลกซื้อรถใหม่ ในขณะที่ยอดขายปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.7 และ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ตามแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซน เดือนส.ค.52 หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า จะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 (%mom) ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3

คำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนของญี่ปุ่น เดือนส.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.5 (%mom) และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะหดตัวที่ร้อยละ -26.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -34.8 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนของญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเล็กน้อย สอดคล้องกับดัชนีการสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนส.ค. 52

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนก.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 40.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.1 และเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 9 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อความเป็นอยู่ อัตราการขยายตัวของรายได้ และการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อสินค้าคงทนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีน เดือนก.ย. 52 หดตัวชะลอลงเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -15.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -23.4 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวเพียงร้อยละ -3.5 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -17.0 ต่อปีสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามผลจากการนำเข้าที่หดตัวชะลอลงมากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าจีนเดือนก.ย. 52 เกินดุลลดลงที่ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้ เดือนก.ย.52 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของแรงงานทั้งหมด จากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนกันยายน

ตัวเลข GDP เบื้องต้นของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี จากที่เคยหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปีในไตรมาส 2 และหากพิจารณารายไตรมาสแล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 14.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) โดยอัตราการขยายตัวรายปีที่เป็นบวกบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจได้หลุดพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างสมบูรณ์แล้ว

ยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ เดือนส.ค. 52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.2 ต่อปี จากที่หดตัวร้อยละ -9.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.2 จากร้อยละ -1.3 ในเดือนก.ค. 52 โดยเป็นการขยายตัวของยอดค้าสินค้าประเภทยานยนต์ถึงร้อยละ 13.2 สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลข GDP เบื้องต้นในไตรมาสที่ 3 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้ผ่านพ้นช่วงตกต่ำไปแล้ว

ผลผลิตอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เดือนส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.4 ต่อปี โดยภาคการผลิตซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งหมด หดตัวที่ร้อยละ -6.6 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.0 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์ เดือนส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -21.0 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -25.4 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -18.7 ต่อปีทั้งนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ -3.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น ยังคงหดตัวสูงที่ร้อยละ -21.8 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ