รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2009 10:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พ.ย. 2552

Summary:

1. TDRI คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3

2. รัฐพิจารณามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัย

3. สหรัฐปรับลดคาดการณ์ GDP ไตรมาส 3 จีนผวาฟองสบู่

Highlight:
1. TDRI คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3
  • TDRI คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะเติบโตร้อยละ 3 จากแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐบาลผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง SP2 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าประเทศต่างๆจะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป โดยที่ปัจจุบันภาคเอกชนยังไม่พร้อมที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองภายในประเทศถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับประเทศไทยที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี ขณะที่ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ที่ปรับฤดูกาล (q-o-q SA) ขยายตัวร้อยละ 1.3 ซึ่งขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 2 ไตรมาส แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามนิยามทางด้านเทคนิค (Technical recovery) ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 คือ การส่งออกและการลงทุนที่ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (q-o-q SA) ที่ร้อยละ 5.2 และ 3.7 ตามลำดับ โดยเป็นผลของเศรษฐกิจโลก และนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในปี 52 และ 53 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.0 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ
2. รัฐพิจารณามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัย
  • เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ. ได้ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมเบี้ยประกันภัยทั้งระบบในปี 2553 จำนวน 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 % จะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 5 % ภายในปี 2554 จากปี 2552 อยู่ที่ 4.1 % ถึง 4.2 % จากปัจจัยหลายประการที่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี ที่คาดว่าจะได้รับการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้การปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น จะกระตุ้นให้เบี้ยประกันสินเชื่อ และประกันอัคคีภัยเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายผลักดันให้คนไทยหันมาทำประกันชีวิตมากขึ้นในสัดส่วนประมาณ 50% หรือประมาณ 30 ล้านคน จากจำนวนประชากรที่มี อยู่ทั้งหมดประมาณ 60 ล้านคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการออมของกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินแก่สังคม การนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับเบี้ยประกันชีวิต หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเบี้ยประกัน จะสามารถดึงดูดให้คนไทยเข้าสู่ระบบการออมระยะยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยปัจจุบันคนไทยทำประกันชีวิตเมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22.5
3. สหรัฐปรับลดคาดการณ์ GDP ไตรมาส 3 จีนผวาฟองสบู่
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไตรมาส 3 จากการคาดการ์เดิมที่ร้อยละ 3.5 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2.8 เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังทรุดตัวอยู่ ในขณะที่จีนเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจฟองสบู่ รัฐบาลจะเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้มากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังมีความเปราะบางสูง ดังจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 49.5 จุด ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.ที่ระดับ 48.7 จุด แต่ดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 จุดบ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ส่งผลให้อัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ที่ร้อยละ 10.2 ในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP สหรัฐจะปรับตัวมาอยู่ที่ร้อยละ -1.5 ในไตรมาส 4 หดตัวลดลงจากไตรมาส 3 ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังมีความกังวลเรื่องความเสื่องของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ที่มาจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มากเกินไป อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงฟองสบู่ยังเกิดขึ้นในบางเมืองเท่านั้น โดยที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มิย. 52 ถึง กย. 52) ราคาเฉลี่ยของอาคารที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี ดังนั้น รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ