รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2009 10:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ธ.ค. 2552

Summary:

1. คลังเล็งเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสรรพสามิต

2. ธปท. หนุนขยายค้ำประกันเอสเอ็มอี

3. ดูไบจ่อขายสินทรัพย์ หุ้นทรุดหนักวิกฤติหนี้

Highlight:
1. คลังเล็งเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสรรพสามิต
  • อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมมีแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมด โดยจะเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีที่ปัจจุบันจะคำนวณภาษีสินค้าหน้าโรงงานมาเป็นราคาขายซึ่งเป็นราคาขั้นสุดท้ายแทน ซึ่งจะสะท้อนต้นทุนผู้ประกอบการได้ชัดเจนกว่า และการคำนวณภาษีจากราคาขายนั้นง่ายกว่าคำนวณจากราคาหน้าโรงงาน แต่การจะเก็บภาษีจากราคาขายปลีกก็ต้องมีหลักการ ต้องวางกรอบให้ชัดเจนว่าจะคิดราคา ณ เวลาไหน จัดเก็บอย่างไร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา โดยจะแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตกับทุกสินค้าที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บอยู่ อาทิ สุรา น้ำอัดลม และเครื่องปรับอากาศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่จะช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการบางรายอาศัยช่องว่างนี้จงใจแจ้งราคาขายหน้าโรงงานต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อทำให้เสียภาษีสรรพสามิตในระดับต่ำ แต่เมื่อตรวจสอบราคาขายปลีกตามท้องตลาดกลับพบว่าสูงกว่าราคาหน้าโรงงานมาก นอกจากนั้น ยังช่วยให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากการคำนวณภาษีแบบเดิมมีความซ้ำซ้อนและยากในการคำนวณ ทั้งนี้ คาดว่าการคำนวณภาษีใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดย สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 53 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 ต่อปี
2. ธปท. หนุนขยายค้ำประกันเอสเอ็มอี
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SMEs ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) น่าจะมีผู้ประกอบการขอใช้เต็มวงเงินภายในเดือน มี.ค. - พ.ค. 53 ซึ่งจะครบ 1 ปีของโครงการพอดี เนื่องจากสินเชื่อในระยะต่อไปน่าจะเร่งตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อบสย. ล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีเพิ่มเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท และถึงสิ้นปีนี้ บสย.คาดว่าจะทำยอดได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารกสิกรไทย เริ่มมีการเร่งขยายสินเชื่อเอสเอ็มอี และนำลูกค้าของธนาคารมาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ช่วงหลังจากวิกฤติ Lehman Brothers สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อธุรกิจและบุคคลเพียงเฉลี่ย 1,798 ล้านบาทต่อเดือน ชะลอลงมากจากช่วงก่อนวิกฤติที่ปล่อยสินเชื่อสูงถึงเฉลี่ย 69,239 ล้านบาทต่อเดือน และหากพิจารณาเฉพาะสินเชื่อ SMEs พบว่าไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ -8.7 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินมีการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง ทั้งนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SMEs ของ บสย. น่าจะช่วยสนับสนุนให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันปรับตัวเพิ่มขึ้น
3. ดูไบจ่อขายสินทรัพย์ หุ้นทรุดหนักวิกฤติหนี้
  • รัฐมนตรีคลังของดูไบ เปิดเผยว่าดูไบเวิลด์ที่กำลังประสบปัญหาหนี้สินนั้นอาจจำเป็นต้องขายสินทรัพย์เพื่อระดมทุน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลดูไบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขยายสินทรัพย์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังของดูไบไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของสินทรัพย์ที่อาจนำมาขายทอดตลาด แต่ขณะนี้ดูไบอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่กำลังประสบปัญหาหนี้สิน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นดูไบปรับลงมาร้อยละ 4.12
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การหยุดพักชำระหนี้ของดูไบเวิลด์จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินไทยในวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี exposure กับกลุ่มบริษัทดูไบเวิลด์ และมีการลงทุนในตะวันออกกลางน้อยมาก อีกทั้งสถาบันการเงินไทยมีฐานะที่เข้มแข็งสามารถรองรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการผิดนัดชำระหนี้ของดูไบเวิลด์ได้ ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวอยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เพราะ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยและรัฐดูไบคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ