รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 28, 2010 10:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ม.ค. 2553

Summary:

1. ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 54 วงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท

2. การเมืองฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยทดสอบต่ำสุดที่ 540 จุด มาบตาพุดฉุดจีดีพีหดตัว 2%

3. ส่งออกญี่ปุ่นปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเลห์แมน บราเธอร์ส

Highlight:
1. ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 54 วงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท
  • คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 54 ตามที่สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.07 ล้านล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ 1.65 ล้านล้านบาท จึงเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท
  • ด้านรมว.คลัง เชื่อว่าจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะดีขึ้นในปีงบประมาณ 53 โดยเพิ่มจากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท เป็น 1.52 ล้านล้านบาท และเมื่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลดีขึ้นคาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณไปใช้ในการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการลดภาระการใช้เงินนอกงบประมาณ และทำให้เกิดความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า งบประมาณปี 54 นี้คิดเป็นการขาดดุลจำนวน 4.2 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 3.5 แสนล้านบาท แต่ถ้าพิจาราณาเปรียบเทียบกับ GDP จะพบว่าคิดเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือจากขาดดุลร้อยละ 3.8 ต่อGDP เป็นร้อยละ 4.1 ต่อ GDP โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 13.7 รายจ่ายลงทุน 3.4 แสนล้านบาทขยายตัวมากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 59.2 สาเหตุจากฐานที่ต่ำในปี 52 เนื่องจากมีการนำโครงการลงทุนบางส่วนมาใช้วงเงินในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทั้งนี้คาดว่างบประมาณนี้จะเพียงพอในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี 54 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี
2. การเมืองฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยทดสอบต่ำสุดที่ 540 จุด มาบตาพุดฉุดจีดีพีหดตัว 2%
  • สถาบันนิด้า ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ และผลกระทบจากการชะลอการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด ซึ่งทำให้จีดีพีหดตัว 2 % ปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยซ้ำ ราคาน้ำมัน ค่าเงิน หนี้สาธารณะ และสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินว่า ปัญหาการเมืองจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 540 จุด
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านปัญหาการเมือง และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/52 ได้แสดงถึงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 11.9 ปรับตัวดีขึ้นทุกหมวดสินค้าและประเทศคู่ค้า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 2.6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.1 ด้านเสถียรภาพยังมีความมั่นคง จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 และทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 52 สูงกว่า 138.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งได้รวมผลกระทบปัญมาบตาพุดแล้ว หากเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งวงเงิน 3.5 แสนล้าน และสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเศรษฐกิจและการเมืองให้มั่นคงเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวสูงที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี
3. ส่งออกญี่ปุ่นปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเลห์แมน บราเธอร์ส
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.52 ได้ขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่อปีสูงสุดในช่วง 15 เดือน นับตั้งแต่การเกิดวิกฤติการเงินโลก หากเปรียบกับเดือน พ.ย.52 ยอดการส่งออกในเดือน ธ.ค.52 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญจาก 1) การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์สินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น (รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์) จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะจากจีนที่ขยายตัวร้อยละ 42.8 ต่อปี และ 2) ปัจจัยฐานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการขยายตัวภาคส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค. 52 สูงกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 โดยมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคเอเชีย (มูลค่าส่งออกเกินกว่าร้อยละ 50) ขยายตัวร้อยละ 31.2 ต่อปี และมูลค่าส่งออกไปยังจีน (มูลค่าส่งออกสูงสุด) ขยายตัวถึงร้อยละ 42.8 ถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศปรับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกล่าสุดในปี 53 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.9 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 3.1 โดยภูมิภาคเอเชียถือเป็นกลไกสำคัญผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวซึ่งในปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี สหภาพยุโรปร้อยละ 1.0 ต่อปี ญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี จีนจะขยายตัวร้อยละ 10 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ