คลังเร่งให้บริการสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2010 09:40 —กระทรวงการคลัง

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกำชับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (I-Bank) เร่งโครงการสินเชื่อธนาคารชุมชน ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสินเชื่อรากหญ้า I-Bank ที่อยู่ภายใต้โครงการแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเงินทุนแก่กลุ่ม ผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สตูล ตั้งเป้า ธนาคารให้บริการสินเชื่อธนาคารชุมชน ได้ 9 สาขา ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในเดือนมิถุนายนปี 2553 และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 500 ล้านบาทในสิ้นปี 2553

โครงการสินเชื่อธนาคารชุมชน มุ่งสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือขยายกิจการขนาดเล็ก ที่ไม่ขัดต่อหลักชะรีอะฮ์ เพื่อให้เกิดการค้า การลงทุน หรือการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่งคั่งในการประกอบอาชีพ ทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ ความเชี่ยวชาญและการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการออมเงินและมีวินัยทางการเงินเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบการเงินตามปกติได้ โดยให้มีการประเมินผลโครงการทุกๆ 3 เดือน นับจากวันที่ได้มีการประกาศให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วในเดือนมกราคม 2553 ที่จังหวัดนราธิวาส 2 สาขาคือ สาขานราธิวาส และสาขาวิจิตรไชยบูลย์ เป็น 2 สาขานำร่อง

นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ ผู้จัดการ ibank ให้ข้อมูลคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อและเงื่อนไขสินเชื่อดังนี้

1. คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ

  • เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่ไม่ขัดต่อหลักชะรีอะฮ์ โดยมีผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายเป็นสมาชิกของกลุ่ม และให้พิจารณาเป็นการขอสินเชื่อร่วม
  • รายได้ของกลุ่มหรือรายได้ของกลุ่มผู้ขอสินเชื่อทุกรายรวมกันมีเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับธนาคารได้
  • อายุของผู้ขอสินเชื่อที่มีอายุน้อยที่สุดภายในกลุ่มเมื่อรวมกับระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้จะต้องไม่เกิน 60 ปี
  • เป็นกลุ่มผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ และรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด
  • เป็นกลุ่มที่มีถิ่นที่อยู่และสถานที่ประกอบอาชีพ หรือให้บริการที่มีหลักแหล่งแน่นอนสามารถติดต่อได้ และต้องเป็นกลุ่มผู้มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • กรณีกลุ่มผู้ขอสินเชื่อเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล ต้องแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าเงินทุนที่ได้รับมายังไม่เพียงพอ จึงจะสามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้

2. วงเงินสินเชื่อ

  • ให้วงเงินสินเชื่อขั้นต่ำ 5,000.- บาท (ห้าพันบาท) สูงสุดไม่เกิน 200,000.- บาท (สองแสนบาท) ต่อกลุ่ม

3. หลักประกัน

  • ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกันเนื่องจากเป็นการขอสินเชื่อร่วม (รับผิดชอบร่วมกัน)
  • กรณีจำนองหลักทรัพย์เป็นประกันให้ถือปฏิบัติตามที่ธนาคารกำหนด

4. หลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ

  • กรณีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 หมื่นบาท ไม่ต้องตรวจสอบประวัติข้อมูลเครดิต (NCB)

5. ระยะเวลาการผ่อนชำระ และหลักเกณฑ์การผ่อนชำระ

  • กำหนดระยะเวลาของสัญญาสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 60 เดือน โดยธนาคารอาจจะพิจารณาให้มีกำหนดระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ”โครงการสินเชื่อธนาคารชุมชนเป็นโครงการหนึ่งของกระทรวงการคลังที่มุ่งช่วยผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขาดโอกาสเข้าถึงระบบสินเชื่อ ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะนี้ i-bank ได้เปิดให้บริการแล้ว 2 สาขาในจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2553 และกำลังเร่งรัดให้เปิด 9 สาขาใน 5 จังหวัดภาคใต้ ให้ครบในเดือนมิถุนายนนี้”

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

โทร. (02) 650-6992

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 12/2553 1 กุมภาพันธ์ 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ