รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 30, 2010 15:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มี.ค. 2553

Summary:

1. พาณิชย์ยัน เกินดุลอาฟต้า 6.6 แสนล้านบาท

2. แนวโน้มสดใสตลาดข้าวของไทยครึ่งหลังปี 53 จากสต๊อกข้าวในตลาดโลกที่ลดลง

3. เตือนเศรษฐกิจ ฟองสบู่ — เงินร้อน รับปรากฏการณ์ ทุนไหลกลับตลาดหุ้นเอเซีย

Highlight:
1. พาณิชย์ยัน เกินดุลอาฟต้า 6.6 แสนล้านบาท
  • กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จากการประเมินผลเบื้องต้น ภายหลังการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) มา 1 ไตรมาส ไทยน่าจะได้มากกว่าเสีย โดยตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังตลอดปีนี้ น่าจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และเกินดุลการค้าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันที่ลดลงเป็นร้อยละ 0 อีกทั้งตลาดอาเซียนมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าที่ไม่เข้มงวดมากเหมือนตลาด G3 (สหภาพยุโรญี่ปุ่น สหรัฐฯ) และประเทศหลายประเทศในอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงเติบโตสูง จึงมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดจนวัสดุก่อสร้างสูง โดยสินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์สูง ได้แก่ ยานยนต์ มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดการค้าเสรีอาฟต้า น่าจะส่งผลบวกต่อผู้ส่งออกและนำเข้าของไทยสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการค้าระหว่างประเทศภายในอุตสาหกรรมสูง (Intra-industry trade) เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งผลิตสำคัญ อย่างไรก็ตาม การค้าในหลายกลุ่มสินค้ายังคงลดภาษีไม่ถึงร้อยละ 0 ในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ติดอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหว ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังคงมี 4 ประเทศที่ยังไม่ได้ลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 อันได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ดังนั้น อาเซียนจึงควรเร่งการลดภาษีนำเข้าของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกเพื่อให้ทุกประเทศได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน อนึ่ง ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 53 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับประเทศอาเซียน 11,213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
2. แนวโน้มสดใสตลาดข้าวของไทยครึ่งหลังปี 53 จากสต๊อกข้าวในตลาดโลกที่ลดลง
  • อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเผย โอกาสส่งออกข้าวไทยในครึ่งหลังปี 53 มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากสต๊อกข้าวโลกที่ลดลงและปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดโลกเริ่มลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้การแข่งขันลดลง โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนในการระบายสต๊อกข้าวที่มีอยู่ประมาณ 5.6 ล้านตัน ผ่านการเจรจาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G TO G) มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกข้าวน้อยกว่าทุกปี เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงมากโดยเปรียบเทียบ รวมถึงมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มในตลาด เช่น กัมพูชาและพม่า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สต๊อกข้าวโลกที่ลดลงเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวโลกที่ลดลงมากอัน เนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากเอลนินโญและภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกข้าวของไทยสดใสขึ้น และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อเกษตรกรของไทย ผ่านทางรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาข้าวในตลาดโลก (CBOT) ที่ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ก็จะช่วยผลักดันให้รายได้เกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกทางหนึ่ง อนึ่ง ราคาข้าวในตลาดโลก (CBOT) เดือนก.พ. 53 ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 13.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.7 ต่อปี
3. เตือนเศรษฐกิจ ฟองสบู่ — เงินร้อน รับปรากฏการณ์ ทุนไหลกลับตลาดหุ้นเอเซีย
  • สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เผยความเห็นนักลงทุนในการประชุม รอยเตอร์ส ยูโรเปียน ซัมมิต ที่ลักเซมเบิร์ก ที่เริ่มมองพัฒนาการในระยะสั้นของตลาดการเงินใหม่อย่างระมัดระวัง ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนด้านการจัดการสินทรัพย์หลากประเภทของแอลจีที แคปิตอล แมเนจเมนต์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดเกิดใหม่อาจเผชิญปัญหาภาวะฟองสบู่ในลักษณะเดียวกับตลาดทองคำ เนื่องจากมีกระแสเงินทุนจำนวนมหาศาลกำลังไหลเข้าสู่การลงทุนที่มีปริมาณจำกัด ส่งผลให้ระดับราคาสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเกินระดับที่สมเหตุสมผล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันมีเงินไหลเข้าสู่กองทุนตลาดเกิดใหม่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกองทุนตลาดหุ้นเอเซียที่ไม่รวมถึงญี่ปุ่นมีเงินไหลเข้ามากสุดที่ 730 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ การไหลเข้าของเงินทุนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาจากความผันผวนของเงินลงทุนระยะสั้นที่ไหลเข้า และอาจทำให้เกิดแรงกดดันของเงินเฟ้อขึ้น นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นจำนวนมากจะทำให้มีผลกระทบต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตลาดเงินและตลาดทุนมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ