รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 23, 2010 10:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 เม.ย. 2553

Summary:

1. มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 40.9 ต่อปีหรือที่ร้อยละ 2.0 ต่อเดือน

2. ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ชี้สถานการณ์การเมืองกดดัน ธปท.ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25

3. การส่งออกญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 43.5 ต่อปี

Highlight:
1. มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 40.9 ต่อปีหรือที่ร้อยละ 2.0 ต่อเดือน
  • กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 40.9 ต่อปี (หริอคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกขยายตัวในระดับสูงที่ 31.6 ต่อปี ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือน มี.ค.53 ขยายตัวในระดับที่สูงมากที่ 59.7 ต่อปีและส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าของไทยในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวได้ที่ระดับ 58.1 ต่อปี โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยในช่วงไตรมาสแรกนั้นได้แก่ประเทศจีน โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และสินค้าเกษตรกรรม ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาตามมิติตลาดพบว่าสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยเท่ากับร้อยละ 11.4 ในขณะที่สหรัฐและญี่ปุ่นมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 9.9 และ 10.3
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของภาคการส่งออกของไทยในระดับที่สูงนั้นเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากอุปสงค์ความต้องการในการนำเข้าของประเทศจีนและประเทศที่กำลังเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งบ่งชี้ได้จากการที่สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกของไทยยังประเทศที่กำลังเกิดใหม่โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันตกโดยเฉพาะสหภาพยุโรปนั้นมีแนวโน้มลดลง และเป็นการบ่งชี้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะถัดไปอาจจะเป็นการขับเคลื่อนจากในภูมิภาคและทวีปเอเชียมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ในระดับสูงอาจมาจากฐานที่ต่ำในช่วงการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 52
2. ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ชี้สถานการณ์การเมืองกดดัน ธปท.ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์กรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ว่าเป็นผลจากความเสี่ยงด้านสถานการณ์การเมืองที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจในระดับดี ทั้งในด้านการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ รวมทั้ง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ดังเห็นได้จากการปรับลดสถานะเรตติ้งของไทย โดยบริษัทจัดเรตติ้งชั้นนำของโลก ดังนั้น การที่ ธปท. ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสถานการณ์การเมืองได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าหากสถานการณ์การเมืองสามารถคลื่คลายได้โดยเร็ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 25 basis point มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (ช่วงคาดการณ์ 1.25-1.75) ภายในปี 53
3. การส่งออกญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 43.5 ต่อปี
  • การส่งออกญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 43.5 ต่อปี เป็นผลมาจากความต้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะจากจีนเป็นสำคัญ โดยการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังเอเชียขยายตัวอยู่ในระดับที่สูงที่ร้อยละ 52.9 ต่อปี ซึ่งการส่งออกไปประเทศจีนขยายตัวถึงร้อยละ 47.7 ต่อปีในขณะที่สหรัฐฯและยุโรป ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 และ 29.5 ต่อปี ตามลำดับ ในส่วนของการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 20.7 ต่อปี
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกของญี่ปุ่นที่ขยายตัวในระดับที่สูงเป็นผลมาจากฐานการส่งออกปีก่อนที่ต่ำ โดยหากคำนวณอัตราการขยายตัวของการส่งออกต่อเดือน โดยขจัดผลของฤดูกาลแล้ว พบว่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค. 53 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.03 จากเดือนก่อน (%mom sa) ดังนั้นจึงควรติดตามภาวการณ์ส่งออกของญี่ปุ่นต่อไป ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยอันดับที่ 3 โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ