o วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกจากวิกฤตคนว่างงานได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนผู้ประกอบการพูดตรงกันว่าแรงงานมีไม่เพียงพอ ดังนั้น สถานการณ์แรงงานขณะนี้จึงถือได้ว่าเข้าข่าย “วิกฤตการขาดแคลนแรงงาน” มากกว่า “วิกฤตการว่างงาน”
o การเคลื่อนย้ายแรงงานของไทยมีความยืดหยุ่นสูงหรือมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายระหว่างเกษตรอุตสาหกรรม และบริการ ดังนั้น การไหลเข้า — ไหลออก จากสาขาการหนึ่งไปอีกสาขาหนึ่ง จึงไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวหรือขาดแคลน
o แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวและขาดแคลน เกิดจาก 1) การผลิตประชากรที่ลดลงของเศรษฐกิจไทย 2) อุปทานแรงงานเติบโตไม่ทันกับความต้องการแรงงาน และ 3) อัตราการศึกษาต่ออยู่ในระดับสูง
o จำนวนการจ้างงานในสาขาเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีค่าสหสัมพันธ์สูงมากกับ Real GDP ทั้ง 6 สาขาเศรษฐกิจโดยภาคบริการโรงแรมภัตตาคาร ค้าส่งค้าปลีก และคมนาคมขนส่ง ให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.9193 0.9131 และ
0.8551 ตามลำดับ ภาคอุตสาหกรรมให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.8933 ในขณะที่ภาคบริการก่อสร้างและภาคเกษตร มีค่าสหสัมพันธ์ 0.7888 และ 0.7258 ตามลำดับ สะท้อนว่าการจ้างงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจอาจจะเพิ่มได้อย่างจำกัดในอนาคต ย่อมส่งผลต่อระดับ Real GDP ในสาขานั้นๆ ให้เพิ่มขึ้นระดับที่จำกัดในอนาคตด้วย
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า เมื่อต้นปี 2552 เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ของเศรษฐกิจ กล่าวคือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การลดกำลังการผลิตสินค้าและการชะลอการลงทุนใหม่ๆ ทำให้ภาคเอกชนปรับลดชั่วโมงการทำงานเพื่อบรรเทาภาวะการขาดทุนของกิจการ บางกิจการจำเป็นต้องลดการจ้างงานลงเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ -7.1 ต่อปี และจำนวนคนว่างงานสูงถึง 8.8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงาน รวม บ่งชี้ความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 หรือ SP1 และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 ปี 2552 และส่งผลให้ความต้องการแรงงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น จนล่าสุดอัตราการว่างงานของไทยได้ลดลงเป็นลำดับ โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเพียง 401,200 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 560 พันคน (เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) เมื่อมาผนวกกับการออกมาระบุว่าแรงงานมีไม่เพียงพอของผู้ประกอบการเอกชน วันนี้หลายฝ่ายจึงตั้งโจทย์ว่า “เรากำลังเข้าสู่ยุคของการขาดแคลนแรงงานหรือไม่ ?”
ทั้งนี้ ก่อนจะไปหาคำตอบว่า เราเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานหรือไม่ ขาดในสาขาการผลิตใด และระบบเศรษฐกิจจะสามารถผลิตแรงงานทันหรือไม่ ซึ่งต้องมาวิเคราะห์โครงสร้างการจ้างงานของระบบเศรษฐกิจและการไหลเข้า-ไหลออกของแรงงานไทยก่อน
วิเคราะห์ได้ว่า ผู้มีงานทำในสาขาบริการมีจำนวนและสัดส่วนมากขึ้นโดยผู้มีงานทำที่อยู่ในภาคบริการมีจำนวน 17.6 ล้านคนในปี 2552 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและสัดส่วนอย่างต่อเนื่องจากปี 2541 ถัดมา คือภาคเกษตรกรรม มีผู้ทำงาน 14.7 ล้านคนในปี 2552 แม้จำนวนจะเพิ่มขึ้นจากปี 2541 แต่สัดส่วนลดลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีผู้มีงานทำ 5.4 ล้านคนในปี 2552 แม้จำนวนจะเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนสัดส่วนจะลดลง
วิเคราะห์ได้ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีความยืดหยุ่นสูงหรือมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายระหว่างเกษตรอุตสาหกรรม และบริการ ในช่วงที่ 1 คือฤดูว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวของภาคเกษตรซึ่งตรงกับฤดูการผลิตสินค้า (ม.ค.-เม.ย.)แรงงานจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ช่วงที่ 2 เมื่อเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก (พ.ค.-ก.ค.) แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม ช่วงที่ 3 ฤดูรอเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งตรงกับฤดูผลิตสินค้า (ส.ค.-ต.ค.) แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการอีกครั้งหนึ่ง และในช่วงที่ 4 ฤดูเก็บเกี่ยว (พ.ย.-ธ.ค.) แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม แต่จะไหลกลับไม่ทั้งหมด เพราะตรงกับฤดูท่องเที่ยวของภาคบริการพอดี
ดังนั้น การไหลเข้า — ไหลออก จากสาขาการหนึ่งไปอีกสาขาหนึ่ง จึงไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวหรือขาดแคลน
3.1 การผลิตประชากรที่ลดลงของเศรษฐกิจไทย
o จะเห็นได้ชัดเจนว่า ดัชนีจำนวนประชากรไทยอยู่ในระดับที่น้อยกว่าดัชนีผู้มีงานทำและดัชนีกำลังแรงงาน ที่สำคัญคือดัชนีประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงเรื่อยๆสะท้อนว่าการเข้าสู่วัยแรงงานหรือกำลังแรงงานในอนาคตจะลดลงหรือเพิ่มในอัตราที่ลดลง
o จะเห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนประชากรไทยขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 1 ต่อปีในขณะที่กำลังแรงงานและผู้มีงานทำขยายตัวเกือบร้อยละ 2 ต่อปี และหากพิจารณาการขยายตัวของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงกว่าร้อยละ -20 ต่อปี หรือคิดเป็นจำนวน14 ล้านคน ลดลงจากปี 2541 ที่อยู่ที่ 16 ล้านคน ในขณะที่ประชากรอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปมากขึ้นเป็น 52.8 ล้านคน ตามภาพที่ 6 ในจำนวนนี้พบว่าประชากรวัยชราเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป มีมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมวัยชรา (Age Society)
o สะท้อนว่าหากตัวเลขยังเป็นแนวโน้มเช่นนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต ซึ่งโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างเต็มศักยภาพการผลิตย่อมลดน้อยลง เว้นแต่ 1) เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพแรงงานได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในระยะสั้น และ 2) ต้องนำเข้าเครื่องจักรในปริมาณที่มากพอหรือมีคุณภาพดีพอ ซึ่งจะทำให้เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังได้
3.2 อุปทานแรงงานเติบโตไม่ทันกับความต้องการแรงงาน
o จากภาพที่ 7 จะเห็นได้ชัดเจนว่า ดัชนีจำนวนผู้ที่ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งหลังจากเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541 โดยเฉพาะภาคบริการ และเร่งมากกว่าดัชนีจำนวนกำลังแรงงาน แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ดัชนีผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมลดลง เพราะไหลออกไปเข้าภาคบริการ ส่วนหนึ่งกลับไปภาคเกษตร
o จากภาพที่ 8 เมื่อพิจารณาภาคบริการพบว่ากลุ่มบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บริการด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ บริการชุมชน และโรงแรมภัตตาคาร กลุ่มที่เพิ่มขึ้นพอสมควรได้แก่บริการค้าส่งค้าปลีก และก่อสร้าง กลุ่มที่เพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ บริการราชการแผ่นดินการเงินการธนาคาร การศึกษา การขนส่ง และคนรับใช้ ในขณะที่บริการไฟฟ้า แก๊ส ประปาลดลงอย่างมาก
o จากแนวโน้มทั้ง 2 รูปนี้ หากตั้งเป็นสมมติฐานไว้ว่า 1) ผู้มีงานทำมีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้นในอนาคต 2) หากภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกย่อมต้องการแรงงานมากขึ้น เหมือนกับที่หลายอุตสาหกรรมออกมาเรียกร้องหาแรงงานเพิ่ม 3) หากภาคเกษตรกรรมไทยในช่วง 2 — 3 ปีนี้ เป็นปีทองจริง อย่างที่หลายหน่วยงานพยากรณ์ไว้ย่อมมีแรงงานที่สมัครใจอยู่ในภาคเกษตรกรรมต่อไปอีกจำนวนไม่น้อยและ 4) ประชากรที่ผลิตเพิ่มได้ในแต่ละปีมีไม่ถึงร้อยละ 1 ต่อปี หรือประมาณ 6.69 แสนคนต่อปี เท่านั้นคำตอบที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับ คือ ปัญหาแรงงานขาดแคลนกำลังคืบคลานสู่เศรษฐกิจไทย
3.3 อัตราการศึกษาต่อของคนไทยอยู่ในระดับสูง
- จากการศึกษาของสภาพัฒน์ฯ เรื่อง ศึกษาตลาดแรงงานเพื่อรองรับผู้สูงอายุ พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเรียนต่อระดับมัธยมฯ ตอนต้นและตอนปลาย ร้อยละ 94.4 และ 85.6 ตามลำดับ บวกกับประเทศไทยมีการจัดหลักสูตรสายสามัญมากกว่าสายอาชีพกว่าเท่าตัว โดยมีสายสามัญสัดส่วนร้อยละ 69 ที่เหลือเป็นสาย
- นอกจากนี้ อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยเท่ากับร้อยละ 41 ในปี 2547 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีเพียงร้อยละ 24 และภูมิภาคลาตินอเมริกาและคาริบเบียน ที่ร้อยละ 28 เอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ร้อยละ 23 แต่ต่ำกว่า ภูมิภาคยุโรปกลาง-ตะวันออก ที่ร้อยละ 54 ยุโรปตะวันตกและอเมริกาที่ร้อยละ 70 ตามลำดับ และเป็นที่ทราบกันว่าสัดส่วนของนักศึกษาที่จบในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีต่ำกว่าร้อยละ 30
- ขณะที่กระทรวงแรงงานได้ให้ข้อมูลว่าแรงงานที่มีความต้องการมากคือแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและอาชีวศึกษา แต่ค่านิยมของเด็กไทยจะมุ่งเรียนต่อปริญญาตรีมากกว่าที่จะหางานทำ ส่งผลให้ตลาดงานระดับอาชีวศึกษาที่เป็นตลาดใหญ่ขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมาก บวกกับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในช่วงปี 2551 — 2552 ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มีค่าจ้างสูงและมีอายุงานมาก เมื่อถูกเรียกกลับมาในค่าจ้างที่ต่ำกว่า ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ปฏิเสธที่จะกลับมาทำงานอีก
สิ่งที่ สศค. กังวล คือ ในปี 2553 เมื่อเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 3.5 ต่อปี (อยู่ในช่วงร้อยละ 3.0—4.0 ต่อปี) โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 ซึ่งดูได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ที่เร่งขึ้นมาบวกอย่างรวดเร็วที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วยืนเหนือระดับ 60 ด้วยแรงส่งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงส่งเชิงนโยบายของทางการต่อเนื่องไปยังปี 2553 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2553 จึงจำเป็นต้องมีการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งในภาคการเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยที่มีการว่างงานเพียง 4 แสนคน ในปี 2552 จะมีแรงงานเพียงพอหรือไม่ ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการย้ายแรงงานข้ามภาคเศรษฐกิจ และย้ายข้ามอุตสาหกรรมที่มีลักษณะการผลิตที่ใกล้เคียงกัน สถานการณ์แรงงานขณะนี้จึงเข้าข่าย“วิกฤตการขาดแคลนแรงงาน” มากกว่า “วิกฤตการว่างงาน”
จากกลไกวิเคราะห์ได้ว่าในปี 2552 มีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร คมนาคมขนส่ง และค้าส่งค้าปลีก รวม 32.2 ล้านคน จากการจ้างงานทั้งหมด 37.7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85.3 และหากในปี 2553 — 2555 เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ร้อยละ 4 — 5 ต่อปี จะส่งผลให้เศรษฐกิจ 6 สาขาหลักดังกล่าวมีความต้องการแรงงานมากขึ้น รวมถึงผลการสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวในช่วง 12 ปีข้างหน้านั้นกระจายไป อยู่ในสาขาใดบ้าง ยิ่งทำให้ข้อกังวลที่ว่า ระบบเศรษฐกิจจะสามารถผลิตแรงงานได้ทันหรือไม่ มีน้ำหนักมากขึ้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น เราพบว่า การลดลงของประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำให้กำลังแรงงานเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ และนับวันจะยิ่งมีประชากรในวัยชรามากขึ้น การจ้างงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจจึงเพิ่มได้อย่างจำกัด และย่อมส่งผลให้เกิดการเสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของระดับ Real GDP ในสาขานั้น
จะเห็นว่า จำนวนการจ้างงานในสาขาเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีค่าสหสัมพันธ์สูงมากกับ Real GDP ทั้ง 6 สาขาเศรษฐกิจ โดยภาคบริการโรงแรมภัตตาคาร ค้าส่งค้าปลีก และคมนาคมขนส่ง ให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.9193, 0.9131 และ 0.8551 ตามลำดับ ภาคอุตสาหกรรมให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.8933 ในขณะที่ภาคบริการก่อสร้างและภาคเกษตร มีค่าสหสัมพันธ์ 0.7888 และ 0.7258 ตามลำดับ สะท้อนว่าการจ้างงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจที่อาจจะเพิ่มได้อย่างจำกัดในอนาคต ย่อมส่งผลต่อระดับ Real GDP ในสาขานั้นๆ ให้เพิ่มขึ้นระดับที่จำกัดในอนาคตด้วย
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาใหญ่กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้แต่เศรษฐกิจจีน อินเดีย และเวียดนามที่มีประชากรมหาศาล และได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก ก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน และคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่ควรนิ่งเฉยต่อปัญหาดังกล่าว และควรเริ่มวางแผนกันตั้งแต่วันนี้
จุดแข็ง
1.เศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งภาคเกษตรภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
2.มีภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่หลากหลาย
3.การไหลเข้า-ไหลออก ของแรงงานทดแทนกันได้ดี ตามฤดูการผลิตที่สลับกันได้พอดี
4.อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาอยู่ในระดับสูง
จุดอ่อน
1.คนไทยแต่งงานช้า มีลูกช้า / น้อย
2.ประชากรไทยขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1
3.ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลง
4.อัตราการเรียนต่อสายอาชีพมีระดับต่ำกว่าสายสามัญมาก
5.ประเทศไทยมีการจัดหลักสูตรสายสามัญมากกว่าสายอาชีพกว่าเท่าตัว
6.แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ
7.อุตสาหกรรมแต่ละสาขามีความลึกแตกต่างกันจนจำเป็นต้องใช้แรงงานที่เชี่ยวชาญ
โอกาส
1.เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ราคาสินค้าเพิ่ม
2.รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เพื่อเพิ่มคุณภาพแรงงานและแรงงานมีฝีมือ
3.รัฐบาลมีนโยบายเร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว
4.มีแรงงานต่างด้าวต้องการเข้ามาในประเทศไทย
กลยุทธ์เชิงรุก
1.สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการแรงงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชนไทยบรรษัทข้ามชาติ
2.เร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อเป็นการทดแทนแรงงานไทยในสาขาที่แรงงานไทยไม่พึงประสงค์รับจ้าง
3.เปิดช่องว่างและสนับสนุนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในสาขาที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสามารถทำงานได้ในสาขาที่ขาดแคลนและแรงงานไทยไม่พึงประสงค์รับจ้าง
กลยุทธ์พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
1.สนับสนุนให้มีการแต่งงานเร็วขึ้นมีลูกเร็วขึ้น
2.สนับสนุนการเรียนฟรีสายอาชีพเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
3.ให้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ปรับหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อต่อการเรียนสายอาชีวะ เช่น เพิ่มวงเงิน/ดอกเบี้ยต่ำ
4.สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนการฝึกอบรมเฉพาะด้านให้แรงงานต่างด้าวในสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
5.เลื่อนการเกษียณอายุออกไปเช่น 63 ปี หรือ 65 ปี
ภัยคุกคาม
1.ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน เวียดนาม อินเดีย และตะวันออกกลางเจอปัญหาเดียวกัน จึงมีการแย่งแรงงานต่างด้าว
2.การแข่งขันกันขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานต่างด้าว
3.ต้นทุนที่มิใช่ค่าจ้างแรงงานสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจไทย เช่น logistic cost ทำให้ไทยเสียเปรียบเพื่อนบ้าน
กลยุทธ์เอาจุดแข็งต่อสู้ภัยคุกคาม
1.สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาสายเฉพาะทางมากขึ้น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์
2.เปลี่ยนจากการรับจ้างการผลิตในสาขาที่เป็น sun set เป็นสาขาการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
กลยุทธ์เชิงรับ
1.สนับสนุนสวัสดิการแรงงานเต็มรูปแบบให้แรงงานไทยและต่างด้าว เช่น ระบบประกันสุขภาพ ระบบสาธารณสุข
2.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเฉพาะด้านโดยจัดให้มีศูนย์วิจัยและศูนย์ฝึกอบรมกระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th