รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 กันยายน 2553

Summary:

1. รัฐบาลลงพื้นที่แก้ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

2. สบน.จ่อออกพันธบัตรระยะยาวรองรับเงินทุนไหลเข้า

3. ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ณ เดือน ก.ย. 53 ปรับตัวลดลง

Highlight:
1. รัฐบาลลงพื้นที่แก้ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
  • นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาบตาพุดจะหารือร่วมกับผู้แทนชุมชน และติดตามความก้าวหน้าการแก้ปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด โดยจะลงพื้นที่เดือนละ 2 ครั้ง ประมาณทุกวันที่ 14 และ 30 ของทุกเดือน โดยตั้งเป้าจะทำให้เป็นรูปธรรมใน 6 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การแก้ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 53 ให้เพิกถอนใบอนุญาติที่ออกแก่โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ในขณะที่รัฐบาลได้เร่งทำการตรวจสอบโครงการที่ไม่เข้าข่ายดังกล่าว และทำการชี้แจงให้เอกชนรับทราบเกี่ยวกับคำพากษาและขัอกำหนดต่างๆ รวมทั้งให้ผู้ประกอบการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อให้รัฐบาลสามารถพิจารณาหากไม่เข้าข่าย 11 ประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงจะดำเนินการตามกระบวนการอนุญาตต่อไป ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทำให้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีความชัดเจนและคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง
2. สบน.จ่อออกพันธบัตรระยะยาวรองรับเงินทุนไหลเข้า
  • ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวถึงสภาวะตลาดตราสารหนี้ในไตรมาส 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 (ก.ค.-ก.ย. 53) ว่า การไหลเข้าของเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดทุนในช่วงนี้มีสูงถึงกว่า 127,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก และร้อยละ 25 เป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งนี้ สบน.คาดว่าจะปรับนโยบายการระดมทุนของภาครัฐให้สอดรับกับภาวะเงินทุนไหลเข้า โดยการเร่งระดมทุนด้วยตราสารหนี้ระยะยาว สำหรับในไตรมาส 1/54 สบน. มีแผนการออกพันธบัตรรัฐบาล วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในระดับสูงนี้เป็นผลมาจาก ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรป ที่มีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง มีปัญหาการว่างงานสูง ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งพักพิงของเงินลงทุนที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ทำการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเต็มที่โดยพบว่าทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 145.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในเดือน ม.ค.53 เป็น 169.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในเดือน ก.ย.53 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ/เดือน แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้ การที่สบน.ออกพันธบัตรระยะยาวมารองรับเงินทุนส่วนนี้จะช่วยลดความร้อนแรงในการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะเร่งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างลงได้
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ณ เดือน ก.ย. 53 ปรับตัวลดลง
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ณ เดือนกันยายน 53 ได้ปรับลดลงสู่ระดับ 48.5 จากเดือนก่อนที่ระดับ 53.5 สาเหตุหลักมาจากอัตราการว่างงาน ณ เดือน ส.ค. อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 9.6 ประกอบกับราคาบ้านไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก เดือนก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐในเดือน ก.ย. 53 นั้น สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวลดลงที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ระดับ 5.4 ต่อปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศวางแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ประกาศเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 53

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ