(ต่อ1) ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และแนวโน้มปี 2548-2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2005 16:15 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          -อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนเอกชนเนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในไตรมาสที่สามการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5  ชะลอลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7  ในไตรมาสที่สอง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีโดยขยายตัวร้อยละ 11.5 แม้จะชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการลงทุนด้านการก่อสร้าง ตามภาวะความต้องการที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามนับว่าการลงทุนภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตลอดช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา สำหรับภาครัฐบาลนั้นการใช้จ่าย ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 โดยค่าตอบแทนแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 ทั้งนี้โดยเป็นการใช้จ่ายที่มีมูลค่าตามราคา
ตลาดเท่ากับ 232,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 16.8 จำแนกเป็นค่าตอบแทนแรงงาน 147,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการสุทธิมีมูลค่า 85,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 แต่การลงทุนภาครัฐขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ชะลอลงมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 21.1 ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนทางด้านการก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ
11.2 ในไตรมาสที่แล้ว เช่นเดียวกับการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 ชะลอลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 41.8 ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากได้มีการเร่งใช้จ่ายไปแล้วในสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณ และการก่อสร้างโครงการใหญ่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิใกล้เสร็จสมบูรณ์
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่แล้ว อย่างไรก็ตามการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ในสามไตรมาสแรกชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.9 ในปี 2547 ชัดเจน ซึ่งเป็นผลจาก สาเหตุสำคัญคือ ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาก การดำเนินโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง
- ผลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการใช้จ่ายครัวเรือนลงไม่ให้ร้อนแรงเกินไปจนสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้นและเป็นความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้สินครัวเรือนนั้นเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจาก (1) การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนั้นอยู่ในช่วงของการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่สาม เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ในปี 2547 (2) การออมเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์
ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่สาม โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 61,000 ล้านบาท หลังจากที่มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้เริ่มปรับดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายไตรมาสที่สองเป็นต้นมา ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวมากกว่าเงินฝากระยะสั้น (3) ในด้านสินเชื่อนั้นสินเชื่อธนาคารพาณิชย์โดยรวมทุกประเภท ณ สิ้นไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ซึ่งชะลอตัวจากที่ ขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 6.7 ในสองไตรมาสก่อนหน้า แต่การปรับตัวของสินเชื่อผู้บริโภคในส่วนที่ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์เพื่อการซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยนั้นโดยเฉลี่ยทั้งสามไตรมาสเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน
-โดยรวมในสามไตรมาสแรกปี 2548 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.4 ซึ่งสูงกว่าการประมาณการจากแหล่งต่างๆ แม้ว่าเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นมากถึงร้อยละ 47 และ ปัจจัยลบภายในประเทศทั้งภัยแล้ง ธรณีพิบัติภัย และความไม่สงบ
ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งสามไตรมาสเท่ากับร้อยละ 4.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 1.4
-ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น แต่ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
-การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลง ผู้มีงานทำในไตรมาสที่สามปี 2548 มีจำนวน 36.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 34.46 ล้านคน ในไตรมาสที่สองปี 2548 และ 36.10 ล้านคน ในไตรมาสที่สามของปี 2547 โดยผู้มีงานทำสาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.97 หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2548 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย ทำให้มีการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นในขณะที่ผู้มีงานทำสาขา อุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.2 โดยภาพรวมอัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสที่สามลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 1.36
-แรงกดดันราคาสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สามอัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 5.6 และเฉลี่ยสามไตรมาสอัตราเงิ นเฟ้อเท่ากั บร้อยละ 4.0 ความเคลื่อนไหวอัตราเงินเฟ้อในช่วง 3 ไตรมาสแรกแสดงว่าแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบได้ถูกส่งผ่านไปยังประชาชนที่เป็นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามลำดับ จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่สอง ร้อยละ 5.6 ในไตรมาสที่สาม(*) และจากการที่อุปสงค์ภายในประเทศยังมีการขยายตัวต่อเนื่องทำให้ผลของราคาน้ำมันต่อการปรับเพิ่มราคาสินค้า (The second round effect) นั้นมีมากขึ้นตามลำดับ และทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่ง
หลังปี 2547 เป็นร้อยละ 0.7 ในไตรมาสแรก ร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่สอง และร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่สาม ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.4 ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน แต่อย่างไรก็ตามราคาผู้ผลิตที่เพิ่มเร็วกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทำให้สัดส่วนของราคาผู้ผลิตต่อราคาผู้บริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งสะท้อนว่าแรงกดดันของต้นทุนที่จะถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภคยังมีอยู่มาก และทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงไปอีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 และบรรเทาลงเมื่อเข้าสู่ในครึ่งหลังของปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่ฐานราคาเปรียบเทียบทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงแล้ว เสถียรภาพด้านต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่สามดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าเกินดุลที่ 1,153 และ 204 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ หลังจากที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าที่ 4,710 ล้านดอลลาร์ และ 5,239 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่สอง ทำให้รวมสามไตรมาสดุลการค้าขาดดุล 8,261 ล้านดอลลาร์ สรอ. ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,057 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 มีจำนวน 49.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ คิดเป็นร้อยละ 2.9 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ
-ฐานะการคลังมีการขาดดุลเงินสดลดลง ในไตรมาส 3 ของปี 2548 รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 16.8 และเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 6.6 จากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย เมื่อพิจารณาฐานะการคลังฐานะการคลัง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2548 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 35,854 ล้านบาทและขาดดุลนอกงบประมาณเป็นเงิน 28,670 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 64,524 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ -0.9 ต่อ GDP ขาดดุลลดลงเมื่อเทียบกับการขาดดุลเงินสด 101,693 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาฐานะการคลังระบบ สศค. ซึ่งเป็นฐานะการคลังภาครัฐที่กระทบเศรษฐกิจจริง พบว่า
รัฐบาลเกินดุลการคลังคิดเป็นร้อยละ 0.8 ต่อ GDP
- หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 มีจำนวน 3.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.9 ต่อ GDP โดยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 3.21 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548
*******************************************************************************************************
(*) 2 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 6.2 ในเดือนตุลาคม และร้อยละ 5.9 ในเดือนพฤศจิกายน และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนเท่ากับร้อยละ 4.4
********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../ภาคการเงิน...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ