ภาวะการทำงานของประชากร เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Thursday January 27, 2011 16:25 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า จากจำนวนผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือผู้อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น 53.68 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมทำงาน 38.71 ล้านคนซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.18 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.89 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 1.40 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 14.97 ล้านคน

จำนวนผู้มีงานทำ 38.18 ล้านคนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลง 1.5 แสนคน (จาก 38.33 ล้านคน เป็น 38.18 ล้านคน) หรือลดลงร้อยละ 3.9 โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.2 แสนคน (จาก 15.06 ล้านคน เป็น 15.18 ล้านคน) ส่วนผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 2.7 แสนคน (จาก 23.27 ล้านคน เป็น 23.00 ล้านคน) ซึ่ง เป็นการลดลงในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร 4.3 แสนคนสาขาการบริการชุมชนและสาขาการก่อสร้างลดลงเท่ากัน 1 แสนคน สาขาการผลิต 9 หมื่นคน ที่เพิ่มขึ้นเป็นสาขาการบริหารราชการแผ่นดินมากที่สุด 2.7 แสนคน ขายส่ง ขายปลีกฯ 2 แสนคน สาขาการศึกษา 8 หมื่นคน ที่เหลือกระจาย อยู่ในสาขาอื่นๆ

หากพิจารณาถึงลักษณะของการทำงานไม่เต็มเวลาจากชั่วโมงการทำงาน พบว่า ในจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด 38.18 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 6.89 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.0 ของผู้มีงานทำ ซึ่งกลุ่มผู้ทำงานเหล่านี้ คือผู้ที่ทำ งานไม่เต็มเวลา หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 ผู้ทำงานไม่เต็มเวลามีจำนวนลดลง 1.5 แสนคน (จาก 6.14 ล้านคน เป็น 6.89 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 (จากร้อยละ 16.0 เป็นร้อยละ 18.0)

สำหรับจำนวนของผู้ว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.89 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 3 พันคน หรืออัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2553) มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.4 หมื่นคน (จาก 3.55 แสนคน เป็น 3.89 แสนคน)

เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานจากประสบการณ์การทำงานพบว่า ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 9 หมื่นคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.99 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.6 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 (จาก 2.63 แสนคน เป็น 2.99 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากภาคการบริการและการค้า 1 แสนคน ภาคการผลิต 9 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.09 แสนคน

หากพิจารณาการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มวัยเยาวชน หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.6 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูงส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.6 เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.6 (จากร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 3.6) และกลุ่มวัยผู้ใหญ่มีอัตราการว่างงานเท่าเดิม

สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนมากที่สุด 1.14 แสนคน (ร้อยละ 1.7) รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.2 หมื่นคน (ร้อยละ 1.5) ระดับประถมศึกษา 7.4 หมื่นคน (ร้อยละ 0.9) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.6 หมื่นคน (ร้อยละ 1.1) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.3 หมื่นคน (ร้อยละ 0.4) เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนต้น และระดับอุดมศึกษา 3.9 หมื่นคน ส่วนระดับการศึกษาไม่มีและต่ำกว่าประถมศึกษา และประถมศึกษามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.6 หมื่นคน

หากพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่าภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือร้อยละ 2.4 รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากันคือร้อยละ 0.9 ภาคเหนือร้อยละ 0.7 และกรุงเทพมหานครร้อยละ 0.4 ถ้าเปรียบเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดร้อยละ 0.7 รองลงมาเป็นภาคเหนือลดลงร้อยละ 0.3 ภาคกลางลดลงร้อยละ 0.1 ส่วนภาคใต้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2

1. สรุปผลที่สำคัญ

1.1 โครงสร้างกำลังแรงงาน

ผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 53.68 ล้านคนเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 38.71 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.1 ของประชากร (ชายร้อยละ 80.2 และหญิงร้อยละ 64.5) เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 14.97 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.9 (ชายร้อยละ 19.8 และหญิงร้อยละ 35.5) สำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้มีงานทำ จำนวน 38.18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.6 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน (ชายร้อยละ 98.6 หญิงร้อยละ 98.7)

2. ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ไม่มีงานทำและพร้อมที่จะทำงาน มีจำนวน 3.9 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 (ชายร้อยละ 1.0 และหญิงร้อยละ 1.0)

3. ผู้ที่รอฤดูกาล หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ทำงานและไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากจะรอทำงานในฤดูกาลต่อไปมีจำนวน 1.4 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.4 (ชายร้อยละ 0.4 และหญิงร้อยละ 0.3)

1.2 ภาวะการมีงานทำของประชากร

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงานของประชากรเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พบว่า จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.18 ล้านคน (ชาย 20.63 ล้านคน และหญิง 17.55 ล้านคน) เป็นผู้ทำงานภาคเกษตรกรรมประมาณ 15.18 ล้านคน หรือร้อยละ 39.8 ของผู้มีงานทำ (ชาย 8.64 ล้านคน และหญิง 6.54 ล้านคน) และทำงานนอกภาคเกษตรกรรมประมาณ 23.00 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 60.2 ของผู้มีงานทำ (ชาย 11.99 ล้านคน และหญิง 11.01 ล้านคน)

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ผู้มีงานทำลดลงประมาณ 1.5 แสนคน โดยผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมลดลงประมาณ 2.7 แสนคน (ลดลงจาก 23.27 ล้านคน เป็น 23.00 ล้านคน) ส่วนผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2. แสนคน (เพิ่มขึ้นจาก 15.06 ล้านคน เป็น 15.18 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการบริหารราชการแผ่นดินฯ มากที่สุด 2.7 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ 2 แสนคน สาขาการศึกษา 8 หมื่นคน สาขาการเงินการธนาคาร 1 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงเป็นสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลง 4.3 แสนคน สาขาการก่อสร้าง และสาขาการบริการชุมชน สังคม และส่วนบุคคล ลดลงเท่ากัน 1 แสนคน สาขาการผลิต ลดลง 9 หมื่นคน สาขาการขนส่งฯ ลดลง 7 หมื่นคน สาขาการทำเหมืองแร่ และเหมืองหิน ลดลง 2 หมื่นคน สาขากิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ จำนวนผู้มีงานทำไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ

เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พบว่า ส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน มีจำนวน 31.29 ล้านคน หรือร้อยละ 82.0 ของผู้มีงานทำทั้งสิ้น (ชายร้อยละ 81.8 และหญิงร้อยละ 82.1) และผู้ที่ทำงาน 1 - 34 ชั่วโมงมีจำนวน 6 ล้านคน หรือร้อยละ 15.7 (ชายร้อยละ 15.2 และหญิงร้อยละ 16.3) สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์สำรวจ (ระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์) แต่เป็นผู้มีงานประจำซึ่งถือว่าในสัปดาห์สำรวจไม่มีชั่วโมงทำงาน (0 ชั่วโมง) มีจำนวน 8.9 แสนคน หรือร้อยละ 2.3 (ชายร้อยละ 3.0 และหญิงร้อยละ 1.6) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าจำนวนของผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์การสำรวจ (0 ชั่วโมง) เพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน และผู้ที่ทำงาน 1 - 34 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น 1.9 แสนคน ส่วนผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปมีจำนวนลดลงประมาณ 9 แสนคน

1.3 ภาวะการว่างงานของประชากร

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 มีผู้ว่างงานประมาณ 3.89 แสนคน (ชาย 2.14 แสนคน และหญิง 1.75 แสนคน) คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 (ชายร้อยละ 1.0 และหญิงร้อยละ 1.0) และถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3 พันคน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงเกือบทุกภาค โดยกรุงเทพมหานครลดลงมากที่สุด 2.7 หมื่นคน ภาคเหนือลดลง 1.8 หมื่นคน และภาคกลางลดลง 1.3 หมื่นคน ส่วนภาคใต้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.1 หมื่นคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 2.4 หมื่นคน

ถ้าพิจารณาอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 เป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดคือร้อยละ 2.4 รองลงมาคือ ภาคกลาง เท่ากันกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.9 ภาคเหนือร้อยละ 0.7 และกรุงเทพมหานครร้อยละ 0.4

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานของแต่ละภาคกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า อัตราการว่างงานลดลงเกือบทุกภาคโดยกรุงเทพมหานครอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดร้อยละ 0.7 รองลงมาคือ ภาคเหนือลดลงร้อยละ 0.3 ภาคกลางลดลงร้อยละ 0.1 ส่วนภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะที่น่าสนใจของผู้ว่างงาน 3.89 แสนคน พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนประมาณ 9 หมื่นคน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.1 ของผู้ว่างงานทั้งสิ้น ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีประมาณ 2.99 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 76.9 โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากนอกภาคเกษตรกรรม 1.90 แสนคน ซึ่งประกอบด้วยภาคการผลิต 9 หมื่นคน ภาคการบริการและการค้า 1 แสนคน สำหรับผู้ว่างงานในภาคเกษตรกรรมมีประมาณ 1.09 แสนคน

เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานจำนวน 3.89 แสนคน พบว่า ระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมากที่สุดคือ ระดับอุดมศึกษา 1.14 แสนคน รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.2 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 7.4 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.6 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ว่างงานลดลงเกือบทุกระดับการศึกษาโดยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงมากที่สุด 1.6 หมื่นคน รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 1.2 หมื่นคน และระดับอุดมศึกษาลดลง 1.1 หมื่นคน ส่วนระดับประถมศึกษาจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นคน

จากการพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำ เร็จ พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือร้อยละ 1.7 รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 1.5 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 1.1 ระดับประถมศึกษาร้อยละ 0.9 และผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษาและ ต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานลดลงเกือบทุกระดับการศึกษา โดยผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดเท่ากันคือ ร้อยละ 0.3 รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลงร้อยละ 0.2 ส่วนระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.1

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ