แก้สถานการณ์แรงงานขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2011 09:54 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

อย่างที่ทราบปัญหาการว่างงานของไทยในปัจจุบันมีอยู่น้อยมาก ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่ามีสถานการณ์การว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 268,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 0.7 ลดลงจากปีก่อน 82,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยมีงานทำมาก่อน ถึง 169,000 คน ที่เหลืออีก 99,000 คนไม่เคยทำงานมาก่อนเลย โดยแบ่งเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 65,000 คน ภาคเกษตรกรรม 57,000 คน และภาคการผลิต 47,000 คน

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ข้อมูลการเพิ่ม-ลดของจำนวนผู้ที่ทำงานทำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรมที่ระบุว่าผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมเพิ่มจาก 15.99 ล้านคนเป็น 16.95 ล้านคน ขณะที่ผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนลดลงจาก22.55 ล้านคนเป็น 22.24 ล้านคนโดยมีแรงงานในภาคการผลิตมีอัตราการลดลงเป็นอันดับสองรองจากภาคการขายส่งและค้าปลีก

ข้อมูลเหล่านี้น่าจะสะท้อนถึงความวิตกกังวลของนักลงทุนเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นได้ดี ทั้งนี้จากการหารือแนวทางการส่งเสริมการลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าญี่ปุ่น สมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (ไคดันเรน) และส่วนราชการญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า สิ่งที่พวกเขากังวลอย่างมากนอกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันแล้วการขาดแคลนแรงงานก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา

ทั้งนี้ผลกระทบจากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นทำให้นักลงทุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดโดยเฉพาะแผนการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าเพื่อลดปัญหาดังกล่าวและประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจในลำดับต้นๆแต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถผลิตแรงงานรองรับได้หรือไม่? เนื่องจากในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานไทยมากถึง300,000-700,000 คน

เท่าที่ทราบภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งหลายกำลังดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงานที่ตอบรับความร่วมมือกับภาคเอกชนในการให้ใช้ศูนย์อบรมที่อยู่ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มทักษะฝีมือและความสามารถแรงงาน โดยภาคเอกชนสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้ตอบรับแผนการเพิ่มสัดส่วนผู้ที่ศึกษาต่อระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 61 ต่อ 39 เป็น 40 ต่อ 60 ให้ได้ภายในปี2561 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหรือนักลงทุนในอนาคต

เราเห็นว่าสถานการณ์ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เหล่านักลงทุนญี่ปุ่นแสดงความเป็นห่วงนั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงกับความต้องการของนักลงทุนโดยเฉพาะพวกเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นและนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 17 - 19 ก.พ. 2554--

รหัสข่าว: B-110217022100

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ