สรุปขอมูลผลกระทบจากอุทกภัยต&อสถานประกอบการธุรกิจทางการคและธุรกิจทางการบริการ (จากโครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ.2555)

ข่าวทั่วไป Thursday March 14, 2013 14:09 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในระหว่างเดือน ก.ค.- ธ.ค. 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและบริการเป็นอย่างมาก โดยครอบคลุมในหลายพื้นที่ โดยมีทั้งสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากภัยพิบัติเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมต่อธุรกิจทำให้ยอดขายหรือยอดสั่งซื้อลดลง ขาดแคลนวัตถุดิบ/สินค้าที่ซื้อมาจำหน่ายหรือบริการ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ทราบผลกระทบและความเสียหาย/ความสูญเสียจากภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำท่วมของสถานประกอบการ ในโอกาสครบรอบการทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ.2555 สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัยต่อสถานประกอบการในปี 2554 ไว้ด้วย เช่น การได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ระดับผลกระทบ ระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบ แนวทางแก้ไขปัญหา และมูลค่าความเสียหาย/สูญเสีย เป็นต้น โดยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน พ.ค.- ส.ค.55

การจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 ครั้งนี้กำหนดระเบียบวิธีทางสถิติ โดยคุ้มรวมสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-10 คน ทำการสำรวจด้วยตัวอย่าง ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 11 คนขึ้นไปจะทำการเก็บรวบรวม ข้อมูลทุกแห่งสำหรับสรุปผลข้อมูลฉบับนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2554 ของสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการที่มีคนทำงาน 11 คนขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 45,898 แห่ง ดังนี้

1. ผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2554

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการที่มีคนทำงาน 11 คนขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 45,898 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 61.2 พบว่า ในภาพรวมสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2554 มีประมาณร้อยละ 48.4 ได้รับผลกระทบทางตรง ร้อยละ 15.6 และได้รับผลกระทบทางอ้อม ร้อยละ 32.8

1.1 ผลกระทบจากอุทกภัย จำแนกตามภาค

เมื่อพิจารณาผลกระทบจากอุทกภัยเป็นรายภาค พบว่า สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในปริมณฑลได้รับผลกระทบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 65.7 โดยได้รับผลกระทบทางตรงร้อยละ 35.4 และผลกระทบทางอ้อมร้อยละ 30.3 รองลงมาคือ สถานประกอบการในกรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ ได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 56.6 และร้อยละ 52.2 ตามลำดับ สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ และภาคกลาง มีประมาณร้อยละ 48.2 และร้อยละ 36.7 ตามลำดับ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 32.2 โดยได้รับผลกระทบทางตรงร้อยละ 3.2 และได้รับผลกระทบทางอ้อม ร้อยละ 29.0

1.2 ผลกระทบจากอุทกภัย จำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ ซึ่งวัดด้วยจำนวนคนทำงาน พบว่า สถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน ได้รับผลกระทบมากที่สุดประมาณร้อยละ 62.4 โดยได้รับผลกระทบทางตรง ร้อยละ 24.6 และได้รับผลกระทบทางอ้อม ร้อยละ 37.8 ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 11-25 คน ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 46.0 โดยได้รับผลกระทบทางตรง ร้อยละ 14.6 และได้รับผลกระทบทางอ้อม ร้อยละ 31.4

1.3 ผลกระทบจากอุทกภัย จำแนกตามประเภทธุรกิจ

สถานประกอบการธุรกิจ ส่วนใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุด ประมาณร้อยละ 57.2 ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงประมาณร้อยละ 18.0 และผลกระทบทางอ้อม ประมาณร้อยละ 39.2 รองลงมาคือ สถาน-ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจการขายส่ง(ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประมาณร้อยละ 54.5 ธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) และกิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 49.3 และร้อยละ 48.1 ตามลำดับ สำหรับสถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้อยที่สุดประมาณร้อยละ 27.8 โดยได้รับผลกระทบทางตรงประมาณร้อยละ 10.3 และผลกระทบทางอ้อม ประมาณร้อยละ 17.5

2. ระดับของผลกระทบจากอุทกภัยต่อสถานประกอบการ

สำหรับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ จากอุทกภัย (สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 11 คนขึ้นไป) ภาพรวม พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในแต่ละด้านค่อนข้างมาก โดยอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะผลกระทบต่อยอดขาย/รายรับยอดสั่งซื้อสินค้า และการขนส่งสินค้า(โลจิสติกส์) ที่มีสัดส่วนของ สถานประกอบการมากที่สุด ประมาณร้อยละ 58.2 ร้อยละ 52.9 และร้อยละ 51.3 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า สถานประกอบการในแต่ละภาคมีระดับของผลกระทบด้านต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น

3. แนวทางแก้ไขปัญหาของสถานประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบต่ออุทกภัย

แนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยของสถานประกอบการธุรกิจฯ ที่มีคนทำงานตั้งแต่ 11 คน ขึ้นไปทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 36.4) แก้ไขปัญหาโดยหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว รองลงมา คือรอผู้จัดหาสินค้าส่งสินค้าที่สามารถส่งสินค้าให้ได้ ประมาณร้อยละ 31.4 สถานประกอบการที่แก้ไขปัญหาโดยหาผู้จัดหาสินค้ารายอื่นมาทดแทน ลดการจ้างงาน และเปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่นชั่วคราว มีประมาณร้อยละ 19.8 ร้อยละ 8.9 และร้อยละ 1.3 ตามลำดับ

3.1 แนวทางแก้ไขปัญหาของสถานประกอบการ จำแนกตามภาค

หากพิจารณาตามภาค พบว่า สถาน-ประกอบการที่ตั้งอยู่ใน ปริมณฑล กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ ส่วนใหญ่ มีแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว ประมาณร้อยละ 60.8 ร้อยละ 42.8 และร้อยละ 36.1 ตามลำดับ สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคกลาง แก้ไขปัญหาโดยการรอผู้จัดหาสินค้าส่งสินค้าให้ในสัดส่วนมากที่สุด ประมาณร้อยละ 57.0 ร้อยละ 41.9 และร้อยละ 32.6 ตามลำดับ

3.2 แนวทางแก้ไขปัญหาของสถานประกอบการ จำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ

สำหรับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยในกิจการแต่ละขนาด พบว่า สถานประกอบการทุกขนาด ส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 60.0) มีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว และรอผู้จัดหาสินค้าที่สามารถส่งสินค้าให้ได้

3.3 แนวทางแก้ไขปัญหาของสถานประกอบการ จำแนกตามประเภทธุรกิจ

เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจ พบว่า สถานประกอบการธุรกิจเกือบทุกประเภท (มากกว่าร้อยละ 30.0 ) มีแนวทางแก้ไขปัญหาของสถานประกอบการโดยการหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวมากที่สุด ยกเว้นธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ และธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) มีแนวทางแก้ไขปัญหาโดยวิธีรอผู้จัดหาสินค้าที่สามารถจัดส่งสินค้าให้ได้ ประมาณร้อยละ 45.4 และร้อยละ 40.8 ตามลำดับ ส่วนสถานประกอบการธุรกิจที่พักแรมได้แก่ โรงแรม/รีสอร์ท และเกสต์เฮาส์มีแนวทางแก้ไขปัญหาของสถานประกอบการโดยวิธีหาผู้จัดหาสินค้าเพื่อให้บริการทดแทน ในสัดส่วนมากที่สุด ประมาณร้อยละ 35.6

4. ระยะเวลาที่สถานประกอบการ ได้รับผลกระทบ/ ความเสียหายจากอุทกภัย

ระยะเวลาที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบจาก อุทกภัย พบว่า ในภาพรวมสถานประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบประมาณ 1- 3 เดือน โดยร้อยละ 25.0 ได้รับผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัย ประมาณ 2 เดือน สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบฯประมาณ 1 เดือน และ 3 เดือน มีประมาณร้อยละ 24.3 และ ร้อยละ 21.1 ตามลำดับ สำหรับสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า 1 สัปดาห์ มีสัดส่วนน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 7.7

4.1 ระยะเวลาที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบ/ความเสียหายจากอุทกภัย จำแนกตามภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในปริมณฑล ภาคกลางและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบประมาณ 2-3 เดือน ประมาณร้อยละ 68.9 ร้อยละ 55.5 และร้อยละ 52.1 ตามลำดับ สำหรับสถานประกอบการในกรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบประมาณ 1-2 เดือน มีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณร้อยละ 61.3 และร้อยละ 38.4 ตามลำดับ ส่วนสถานประกอบการในภาคใต้ ได้รับผลกระทบฯ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ มีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณร้อยละ 50.3

4.2 ระยะเวลาที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบ/ความเสียหายจากอุทกภัย จำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการทุกขนาด ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประมาณ 1-3 เดือน สถานประกอบการที่เหลือส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบ มากกว่า 3 เดือน 1-2 สัปดาห์ และน้อยกว่า 1 สัปดาห์ ตามลำดับ

4.3 ระยะเวลาที่สถานประกอบการ ได้รับผลกระทบ/ความเสียหายจากอุทกภัย จำแนกตามประเภทธุรกิจ

เมื่อพิจารณาประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พบว่า ธุรกิจทุกประเภท ส่วนใหญ่มากกว่า ร้อยละ 60.0 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประมาณ 1-3 เดือน โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุด ประมาณร้อยละ 75.5 รองลงมา คือ ธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคนิค และธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประมาณร้อยละ 73.8 ร้อยละ 73.4 และร้อยละ 72.4 ตามลำดับ

5. มูลค่าความเสียหาย/มูลค่าความสูญเสีย

สถานประกอบการธุรกิจที่มีคนทำงาน 11 คนขึ้นไป ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากอุทกภัยประมาณ ร้อยละ 10.6 ได้ตอบข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายของสถานประกอบการ พบว่า ในภาพรวมมีมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สิน/สินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 3.3 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ

ด้านมูลค่าความสูญเสียของสถานประกอบการ ซึ่งมีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งทางตรงและทางอ้อม ประมาณร้อยละ 39.3 ที่ตอบข้อมูลในเรื่องนี้ โดยสถานประกอบการได้ประมาณการมูลค่าความสูญเสียจากยอดขาย/รายรับ/ยอดสั่งซื้อ/บริการ หรือกำไรในช่วงภัยพิบัติเหตุการณ์น้ำท่วมโดยเฉลี่ยประมาณ 15.2 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ