สรุปข้อมูลเบื้องต้น: สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 (การแจงนับข้อมูลรายละเอียด) ธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการภาคเหนือ

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2013 14:21 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ มาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2509 2531 และ 2545 และจัดทำ สำมะโนอุตสาหกรรม มาแล้ว 3 ครั้งเช่นกัน ในปี 2507 2540 และ 2550 โดยในปี 2555 ครบรอบ 10 ปี การทำสำมะโนธุรกิจทางการค้า และธุรกิจทางการบริการ และครบรอบ 5 ปี การทำสำมะโนอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้บูรณาการการจัดทำสำมะโนดังกล่าวไปพร้อมกันภายใต้ ชื่อ "โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทางด้านธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิต ที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทั้งในด้านจำนวน การกระจายตัวและผลการประกอบการในรอบปี สำหรับข้อมูลเรื่องจำนวน และการกระจายตัวของสถานประกอบการต่าง ๆ นั้น ได้นำเสนอไปแล้วในรายงานผลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ฉบับเสนอผลการนับจดข้อมูลของสถานประกอบการทุกแห่งทั่วประเทศ

การทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 ในขั้นตอนการแจงนับหรือการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดได้กำหนดระเบียบวิธี ทางสถิติ โดยสถานประกอบการ ที่มีคนทำงาน 1- 10 คน ทำการสำรวจด้วยตัวอย่าง ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 11 คน ขึ้นไป จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกแห่ง แต่อย่างไรก็ตามข้อมูล ที่ได้รับตอบกลับนั้นไม่ครบถ้วนจึงต้องทำการประมาณค่าข้อมูลสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 11 คนขึ้นไป ตามระเบียบวิธีทางสถิติ

สำหรับสรุปผลข้อมูลเบื้องต้นฉบับนี้เป็นผล ที่ได้จากการแจงนับเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดของสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ โดยดำเนินธุรกิจตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC-2009) ได้แก่ การขายส่ง การขายปลีก ที่พักแรม การบริการอาหาร และเครื่องดื่ม ข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคนิค กิจกรรม การบริหาร และการบริการสนับสนุน ศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ และกิจกรรมการบริการอื่น ๆ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นผลการดำเนินการในรอบปี 2554 สรุปดังนี้

1. จำนวนสถานประกอบการ จำแนกตามหมวดย่อยธุรกิจ

ผลจากสำมะโนฯ พบว่าสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคเหนือ มีจำนวนทั้งสิ้น 319,120 แห่ง ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 47.8 ประกอบธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) รองลงมาประกอบธุรกิจที่พักแรม บริการอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณร้อยละ 16.2 สถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบริการอื่น ๆ การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ มีประมาณร้อยละ 12.3 ร้อยละ 8.9 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจนอกเหนือ จากที่กล่าวข้างต้น แต่ละหมวดมีสัดส่วนต่ำกว่า ร้อยละ 5.0 ของจำนวนสถานประกอบการ ธุรกิจทั้งสิ้น

2. ขนาดของสถานประกอบการ

ขนาดของสถานประกอบการธุรกิจฯ เมื่อวัดด้วยจำนวนคนทำงาน พบว่า เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน จำนวน 316,224 แห่ง หรือ ร้อยละ 99.1 ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้นไป มีจำนวน 2,896 แห่ง หรือร้อยละ 0.9

เมื่อพิจารณาสถานประกอบการ ที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้นไป ในจำนวนนี้เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16-25 คน จำนวน 1,435 แห่ง สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 26-30 คน 31-50 คน และ 51-200 คน มีประมาณ 315 แห่ง 610 แห่ง และ 485 แห่ง ตามลำดับ ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีจำนวนเพียง 51 แห่ง

3. รูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมาย

สถานประกอบการธุรกิจฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 92.6 มีรูปแบบการจัดตั้งตามกฏหมายเป็นส่วนบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่เป็นนิติบุคคล ส่วนที่มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทจำกัด (มหาชน) และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีประมาณร้อยละ 3.0 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ สำหรับสถานประกอบการที่มีรูปแบบเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม และอื่น ๆ มีเพียงร้อยละ 1.8

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ดำเนินกิจการในรูปแบบที่เป็นส่วนบุคคล มากที่สุดถึงร้อยละ 93.2 ในขณะที่สถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน จะดำเนินกิจการ ในรูปแบบเป็นบริษัทจำกัด บริษัทจำกัด (มหาชน) มากที่สุดประมาณร้อยละ 80.4

4. รูปแบบการจัดตั้งทางเศรษฐกิจ

สถานประกอบการธุรกิจฯ ในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 97.0 เป็นสำนักงาน แห่งเดียว ไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาอยู่ที่ใดที่เหลือร้อยละ 2.4 มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นสำนักงานสาขา และอีกร้อยละ 0.6 เป็นสำนักงานใหญ่

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ (ตามจำนวนคนทำงาน) พบว่า สถานประกอบการในทุกขนาดส่วนใหญ่มากกว่าครึ่ง มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นสำนักงานแห่งเดียว โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ที่มีสัดส่วนของสำนักงานแห่งเดียวสูงที่สุดถึงร้อยละ 97.3

5. ระยะเวลาในการดำเนินกิจการ

สถานประกอบการธุรกิจฯ ร้อยละ 29.2 ดำเนินกิจการน้อยกว่า 5 ปี ที่ดำเนินกิจการระหว่าง 5-9 ปี และระหว่าง 10-19 ปี มีสัดส่วนเท่ากันประมาณร้อยละ 27.8 ตามลำดับ สำหรับสถานประกอบที่ดำเนินกิจการ 20-29 ปี และตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป มีประมาณร้อยละ 9.6 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ (ตามจำนวนคนทำงาน) พบว่า สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 57.2 ดำเนินกิจการ น้อยกว่า 10 ปี ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่หรือมากกว่า ร้อยละ 60.0 ดำเนินกิจการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

6.ทุนจดทะเบียน

สถานประกอบการธุรกิจฯในภาคเหนือ ที่มีทุนจดทะเบียนมีจำนวน 11,793 แห่ง หรือร้อยละ 3.7 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งสิ้น ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 10 ล้านบาท ที่มีทุนจดทะเบียน 10-99 ล้านบาท มีประมาณร้อยละ 7.7 สำหรับสถานประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 1.7

7. การร่วมลงทุนหรือถือหุ้น

การประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 99.9 ไม่มีการร่วมลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนที่มีต่างประเทศร่วมลงทุนหรือถือหุ้น ในกิจการมีอยู่เพียงร้อยละ 0.1 ในจำนวนนี้ พบว่า สถานประกอบการที่มีต่างประเทศร่วมลงทุน โดยถือหุ้น 10-50% มีประมาณร้อยละ 86.6 ในขณะที่สถานประกอบการที่มีต่างประเทศ ร่วมลงทุนโดยถือหุ้นมากกว่า 50% มีประมาณ ร้อยละ 13.0 ที่เหลือร้อยละ 0.4 เป็นสถานประกอบการที่มีต่างประเทศร่วมลงทุนโดยถือหุ้นน้อยกว่า 10%

8. จำนวนคนทำงาน และลูกจ้าง

คนทำงาน ซึ่งหมายถึงเจ้าของกิจการหรือหุ้นส่วนที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเงินเดือน และรวมลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ พบว่า ในปี 2554 มีคนทำงานในสถานประกอบการธุรกิจฯในภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 926,192 คน ในจำนวนนี้เป็นคนทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง/เงินเดือน จำนวน 473,463 คนหรือร้อยละ 51.1 มีการจ้างงานหรือลูกจ้างจำนวน 452,729 คนหรือร้อยละ 48.9 โดยเป็นลูกจ้างระดับปฏิบัติการ จำนวน 402,814 คน หรือร้อยละ 89.0 ส่วนที่เป็นลูกจ้างระดับบริหารจัดการมีจำนวน 49,915 คน หรือร้อยละ 11.0

เมื่อพิจารณาการจ้างงานตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ประมาณร้อยละ 74.4 เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 51-200 คน และ 16-25 คน ประมาณร้อยละ 9.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ สำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 31-50 คน และมากกว่า 200 คน มีประมาณร้อยละ 5.0 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีประมาณร้อยละ 1.9

เมื่อพิจารณาการจ้างงานตามหมวดย่อยธุรกิจ พบว่า มีลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในธุรกิจที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่ม มากที่สุดจำนวน 158,403 คน หรือร้อยละ 35.0 รองลงมาปฏิบัติงานอยู่ในธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) จำนวน 133,033 คน หรือ ร้อยละ 29.4 สำหรับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ มีจำนวน 48,883 คน หรือร้อยละ 10.8 ที่เหลือปฏิบัติงานในธุรกิจนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น

9. จำนวนวัน และชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างของสถานประกอบการธุรกิจฯ

สถานประกอบการธุรกิจฯ ในภาคเหนือที่มีการจ้างงานมีทั้งสิ้นจำนวน 91,479 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 28.7 ของสถานประกอบการทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง พบว่า สถานประกอบการที่มีลูกจ้างปฏิบัติงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ มีประมาณร้อยละ 55.3 ที่ปฏิบัติงาน 7 วันต่อสัปดาห์ มีประมาณ ร้อยละ 41.8 ที่เหลือร้อยละ 2.9 ปฏิบัติงานน้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์

เมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อวันของลูกจ้าง พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.5 มีลูกจ้างปฏิบัติงานเฉลี่ย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน สถานประกอบการที่มีลูกจ้างปฏิบัติงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มีประมาณ ร้อยละ 12.8 ส่วนที่มีลูกจ้างปฏิบัติงานมากกว่า 10 ชั่วโมง มีประมาณ ร้อยละ 10.7

10. ค่าตอบแทนแรงงาน
          ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคเหนือ ได้รับค่าตอบแทนแรงงาน          รวมทั้งสิ้นประมาณ 39.9 พันล้านบาท หรือโดยเฉลี่ย 88,048 บาท ต่อคนต่อปี โดยลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร ได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงสุดคือ 115,737 บาท รองลงมาคือลูกจ้างที่ปฎิบัติงานในธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคนิค และธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปี 109,875 บาท และ 103,383 บาท ตามลำดับ สำหรับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในธุรกิจศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำที่สุดคือ 42,658 บาท

11. รายได้จากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายขั้นกลาง และมูลค่าเพิ่ม

ในปี 2554 การประกอบธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคเหนือ มีรายได้จากการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 814.5 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายขั้นกลางประมาณ 598.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มรวมทั้งสิ้นประมาณ 215.6 พันล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มต่อรายได้จากการดำเนินงานมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 26.5 สำหรับรายได้จากการดำเนินงานเฉลี่ยต่อสถานประกอบการมีมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านบาท และรายได้จากการดำเนินงานเฉลี่ยต่อคนทำงานมีมูลค่าประมาณ 879,400 บาท ในด้านมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อสถานประกอบการ และเฉลี่ยต่อคนทำงาน มีมูลค่าประมาณ 675,600 บาท และ 232,800 บาท ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตามหมวดย่อยธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการขายปลีก(ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) มีรายได้จากการดำเนินงานสูงที่สุดประมาณ 394.4 พันล้านบาท รองลงมาคือธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ มีรายได้จากการดำเนินงาน ประมาณ 137.0 พันล้านบาท สำหรับมูลค่าเพิ่มพบว่า ธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดประมาณ 91.0 พันล้านบาท รองลงมา คือสถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่ม มีมูลค่าเพิ่มประมาณ 37.0 พันล้านบาท สำหรับธุรกิจข้อมูลข่าวสารและ การสื่อสาร มีรายได้จากการดำเนินงานและมูลค่าเพิ่มต่ำสุดคือประมาณ 1.3 พันล้านบาท และ 600.9 ล้านบาท ตามลำดับ

12. ปัญหาและอุปสรรคของสถานประกอบการ

ผู้ประกอบการธุรกิจฯ ในภาคเหนือ ประมาณร้อยละ 68.6 ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินกิจการ ดังนี้ การแข่งขันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี/ชะลอตัว และกำลังซื้อของลูกค้าลดลง เป็นต้น

13. ความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐ

สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐและข้อเสนอแนะนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจฯ ในภาคเหนือ ประมาณร้อยละ 62.1 ได้ระบุความต้องการและข้อเสนอแนะ ดังนี้ รัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการควบคุมราคาสินค้า สนับสนุนแหล่งเงินทุน มาตรการลดอัตราภาษี และลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

14. การเปรียบเทียบการดำเนินธุรกิจ ทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา

ภาพรวมของการประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคเหนือระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนสถานประกอบการ การจ้างงาน มูลค่ารายรับ และมูลค่าเพิ่ม มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี 2552 ที่หดตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก สำหรับในปี 2554 ซึ่งเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยใน ทุกพื้นที่ของประเทศ สถานประกอบการธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมของผลประกอบการธุรกิจก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง สำมะโน/สำรวจของธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการปี 2555 กับปี 2545 ซึ่งเป็นข้อมูลผลการดำเนินกิจการในรอบปีก่อนหน้าสำมะโน/สำรวจพบว่า ในช่วง 10 ปีนี้ สถานประกอบการธุรกิจฯที่มีคนทำงาน 1 คนขึ้นไป ที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.3 สำหรับจำนวนคนทำงานและคนทำงานเฉลี่ยต่อสถานประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.2 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ

ในด้านการจ้างงาน พบว่า จำนวนลูกจ้างเพิ่มขึ้น 1.2 เท่า หรือร้อยละ 117.3 จำนวนลูกจ้างเฉลี่ยต่อสถานประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 สำหรับค่าตอบแทนแรงงานที่ลูกจ้างได้รับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 เท่า หรือร้อยละ 249.4 ในช่วง 10 ปี

สำหรับรายได้จากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า หรือร้อยละ 228.7 ซึ่งส่งผลให้มูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคเหนือในช่วง 10 ปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 2.4 เท่า หรือร้อยละ 239.9

15. สรุปและข้อเสนอแนะ

ผลจากการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 ของธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ พบว่า มีสถานประกอบการธุรกิจที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 319,120 แห่ง ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 99.1 เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีคนทำงาน 1-15 คน ธุรกิจที่สำคัญได้แก่ ธุรกิจการขายปลีก(ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) มีประมาณร้อยละ47.8 คนทำงานในสถานประกอบการมีจำนวนทั้งสิ้น 926,192 คน มีการจ้างงานทั้งสิ้น 452,729 คนค่าตอบแทนเฉลี่ยของลูกจ้างต่อคนต่อปีประมาณ 88,048 บาท สำหรับรายได้จากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายขั้นกลางและมูลค่าเพิ่มมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 814.5 พันล้านบาท 598.8 พันล้านบาท และ 215.6 พันล้านบาท ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการสำรวจ/สำมะโนระหว่างปี 2545-2555 พบว่า ผลจากการสำรวจ/สำมะโน สะท้อนให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการประกอบธุรกิจในภาคเหนือ มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการจ้างงานและอัตราค่าตอบแทนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น มีการลงทุนขยายกิจการและการจ้างงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ