สรุปสำหรับผู้บริหาร การสำรวจสุขภาพจิตกับความพิการ พ.ศ. 2555 (เดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ.2555)

ข่าวทั่วไป Thursday October 17, 2013 10:43 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจสุขภาพจิตของประชากร พ.ศ.2555 ในเดือนตุลาคม- ธันวาคม พ.ศ.2555 โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิตฉบับสั้น 15 ข้อ ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต และได้สำรวจพร้อมกับ การสำรวจความพิการ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลสำรวจที่สำคัญดังนี้

1. สุขภาพจิต จำแนกตามลักษณะของประชากร

เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพจิตของประชากร ทั้งผู้พิการ(1/) และผู้ไม่พิการ ปี 2555 นั้น พบว่า คะแนนสุขภาพจิตของผู้พิการ (คะแนน 31.58) เท่ากับคนทั่วไป ส่วนผู้ไม่พิการ (คะแนน 34.06) มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป และสัดส่วน ผู้ที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปของผู้พิการ มีมากกว่าผู้ไม่พิการอย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 21.6 และ 9.4 ตามลำดับ) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ ความลำบาก ในการดูแลตนเอง หรือลักษณะความบกพร่อง อย่างน้อย 1 ลักษณะที่เกิดขึ้นกับผู้พิการ ได้ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้พิการในทางที่ลดลง

1.1 เขตการปกครองและภาค

เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพจิตของประชากร ปี 2555 จำแนกตามเขตการปกครองและภาค พบว่า ผู้พิการที่อยู่ในเขตเทศบาลมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้พิการที่อยู่นอกเขตเทศบาล (คะแนน 32.0 และ 31.4) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พิการที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล มีโอกาสได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อุปกรณ์ หรืออวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้มากกว่าผู้พิการที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล สำหรับผู้พิการและผู้ไม่พิการที่จำแนกตามภาค พบว่า ภาคใต้มีคะแนนสุขภาพดีสุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมที่ดีของทางภาคใต้ ถึงแม้ว่าคะแนนสุขภาพจิตของผู้ไม่พิการดีกว่าผู้พิการก็ตาม

1.2 เพศ

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตผู้พิการ และผู้ไม่พิการตามเพศ พบว่า ผู้ชายจะมีคะแนนสุขภาพจิตดีกว่าผู้หญิง ถึงอย่างไรก็ตามทั้งเพศชายและเพศหญิง ในทุกกลุ่ม (ผู้พิการและผู้ไม่พิการ) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่แตกต่างกันมาก

1.3 สถานภาพสมรส

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตผู้พิการ และผู้ไม่พิการตามสถานภาพสมรส พบว่าผู้ที่สมรสมีสุขภาพจิต ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มสถานภาพสมรสอื่นๆ ถึงแม้ว่าคะแนนสุขภาพจิตของผู้ไม่พิการดีกว่าผู้พิการก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ที่สมรสนั้น อาจจะมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ที่ส่งผลต่อความใกล้ชิด ความอบอุ่น และความสุข ในครอบครัว รวมถึงการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และการเอื้ออาทรต่อกัน

1.4 ระดับการศึกษา

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตผู้พิการ และผู้ไม่พิการตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีสุขภาพจิตดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มระดับการศึกษาอื่นๆ เนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาที่สูงกว่าสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและโอกาสทางสังคมได้มากกว่า ได้รับโอกาสที่ดีกว่า ในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับตนเอง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ดีกว่า จึงทำให้สุขภาพจิตดีกว่า เมื่อมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าคะแนนสุขภาพจิตของผู้ไม่พิการดีกว่าผู้พิการก็ตาม

2. สุขภาพจิตกับความลำบากหรือข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในครัวเรือน

สำหรับสุขภาพจิตกับผู้พิการที่มีความลำบากหรือจำกัดในการทำกิจกรรมในครัวเรือน อันเนื่องจากปัญหาสุขภาพและลักษณะความบกพร่อง พบว่า ผู้พิการที่ไม่มีความลำบากหรือข้อจำกัดจะมีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าผู้พิการที่มีความลำบากหรือข้อจำกัด (คะแนน 32.36 และ 30.17 ตามลำดับ) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พิการที่มีความลำบากหรือข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในครัวเรือนนั้น ย่อมมีการทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกในครัวเรือนน้อยลง เช่น การทำงานบ้าน ซื้อของ และไปตลาด เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจต่อผู้พิการที่มี ความลำบากหรือข้อจำกัดดังกล่าว

3. สุขภาพจิตกับความลำบากหรือข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนที่ต้องการเข้าร่วม

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตกับผู้พิการที่มี ความลำบากหรือข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนที่ต้องการเข้าร่วม อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง พบว่า ผู้พิการที่ไม่มีความลำบากหรือข้อจำกัดจะมีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าผู้พิการที่มีความลำบากหรือข้อจำกัด (คะแนน 32.35 และ 30.21 ตามลำดับ) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พิการที่มีความลำบากหรือข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนที่ต้องการเข้าร่วมนั้น ย่อมทำให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่อสังคมน้อยลง เช่น ไปวัด โบสถ์ มัสยิด งานแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น ความสามารถในการแสดงศักยภาพ ความภาคภูมิใจ การพบปะสังสรรค์ การได้รับการยกย่อง และการยอมรับจากสังคมลดลง เป็นเหตุส่งผลต่อสภาวะจิตใจที่ลดลงของผู้พิการที่มีความลำบากหรือข้อจำกัดดังกล่าว

1/ ผู้พิการ หมายถึง ผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ลักษณะ ได้แก่

1) ความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ

มีจำนวน 17 ประเภท

2) ความลำบากในการดูแลตนเองหรือลำบากในการทำกิจวัตรส่วนตัว มีจำนวน 5 ประเภท

3) ลักษณะความบกพร่อง มีจำนวน 25 ประเภท

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ