สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Monday June 28, 2010 16:35 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนในด้านต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโดยชุมชน/หมู่บ้าน ความพึงพอใจต่อมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม สาเหตุสำคัญและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนความกังวลกับภาวะโลกร้อน กิจกรรมที่ทำเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และมาตรการที่สำคัญของภาครัฐ ตลอดจนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบาย ประเมินผล และปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 3,900 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 5 — 20 เมษายน 2553 และเสนอผลสำรวจในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และทั่วประเทศ ในรูปร้อยละ

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ

1. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหา

1.1 การประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน/หมู่บ้าน

จากผลการสำรวจ มีประชาชนร้อยละ 70.4 ระบุว่าประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน/หมู่บ้าน ในรอบปีที่ผ่านมา และร้อยละ 29.6 ไม่ประสบปัญหา โดยประชาชนในกลุ่มที่ประสบปัญหา ได้ระบุถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 5 อันดับแรก ดังนี้ การเกิดภาวะภัยแล้ง ร้อยละ 72.6 การเกิดภาวะน้ำท่วม ร้อยละ 25.3 มลพิษทางอากาศ ร้อยละ 22.5 การทำลายป่าไม้ ร้อยละ19.8 และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ร้อยละ 18.1

1.2 การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโดยชุมชน/หมู่บ้าน

เมื่อสอบถามประชาชน ที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีประชาชนร้อยละ 27.6 ระบุว่า มีการแก้ไขปัญหากันเองเบื้องต้นในชุมชน/หมู่บ้าน และร้อยละ 72.4 ไม่มีการแก้ไขสำหรับประชาชนในกลุ่มที่มีการแก้ไขปัญหากันเองเบื้องต้นได้ระบุเรื่องที่แก้ไขมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การรณรงค์ ปลูกต้นไม้/เพิ่มพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 25.5 การขุดลอกคูคลองเพื่อหาแหล่งน้ำทำการเกษตร/ขุดบ่อบาดาล/ขุดสระเก็บน้ำร้อยละ 22.3 การใช้น้ำอย่างประหยัด/ลดทำการเกษตรในฤดูแล้ง ร้อยละ 19.8 รณรงค์ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ร้อยละ 10.4 และดูแลการเก็บแยกขยะ ร้อยละ 8.7

1.3 ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้รัฐดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด

ประชาชนที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าต้องการให้รัฐดำ เนินการอย่างเร่งด่วนที่สุดกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน/หมู่บ้าน 5 อันดับแรก คือ เรื่องการเกิดภาวะภัยแล้ง ร้อยละ 59.8 เรื่องมลพิษทางอากาศ ร้อยละ 8.8 เรื่องการเกิดภาวะน้ำท่วม ร้อยละ 8.7 เรื่องมลพิษจากขยะ ร้อยละ 5.4 และเรื่องการทำลายป่าไม้ ร้อยละ 4.3

2. ความพึงพอใจต่อนโยบายหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจต่อนโยบาย/มาตรการต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เกินกว่าร้อยละ 80 โดยนโยบายที่พึงพอใจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นโยบายสนับสนุนบทบาทชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ (การทำฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ) ร้อยละ 89.0 นโยบายป้องกันการชะล้างทำลายหน้าดินโดยการปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ ร้อยละ 87.9 และนโยบายเร่งรัดให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 87.5

3. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

3.1 ความรู้สึกเปรียบเทียบสภาพอากาศในปัจจุบันกับสภาพอากาศในรอบปีที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 96.6 รู้สึกว่าสภาพอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับสภาพอากาศในรอบปีที่ผ่านมาและร้อยละ 3.4 รู้สึกว่าสภาพอากาศไม่เปลี่ยนแปลง

3.2 การรับรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และแหล่งที่รับรู้

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.7 ระบุว่า เคยรับรู้ หรือได้ยินคำว่าภาวะโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร้อยละ 4.3 ไม่เคยรับรู้/ได้ยินคำนี้

เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับแหล่งที่รับรู้ หรือได้ยินคำว่าภาวะโลกร้อน พบว่า รับรู้จากทางโทรทัศน์สูงสุดร้อยละ 98.5 รองลงมาเป็นวิทยุร้อยละ 38.9 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 29.9 เพื่อน/ญาติ ร้อยละ 12.7 และอินเตอร์เน็ต ร้อยละ 7.9

3.3 ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน

ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.9 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน (โดยกังวลมากร้อยละ 52.7 ปานกลาง ร้อยละ 39.9 น้อย ร้อยละ 4.3) และไม่กังวล ร้อยละ 3.1

3.4 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ามาจากเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ การจุดไฟเผา (เผาป่า เผาขยะ เผาฟาง เพื่อการเพาะปลูก) ร้อยละ 69.2 การตัดไม้ทำลายป่า ร้อยละ 52.8 การปล่อยควันจากท่อไอเสียจากยานพาหนะ ร้อยละ 43.7 การใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขี้น ร้อยละ 31.0 การปล่อยก๊าซพิษต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 21.3

3.5 การทำกิจกรรมเพื่อลดภาวะโลกร้อน

จากการสอบถามประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ากิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ได้แก่ การปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งานร้อยละ 80.7 และการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน ร้อยละ 70.3 การไม่เปิดน้ำทิ้งระหว่างการแปรงฟัน — อาบน้ำ ร้อยละ 66.2 การกักน้ำในภาชนะเพื่อชำระล้างแทนการผ่านน้ำจากก๊อก ร้อยละ 58.7 และการเลือกใช้ เครื่องไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ร้อยละ 52.6 สำหรับกิจกรรมที่ทำเป็นบางครั้ง ได้แก่ การช่วยกันปลูกต้นไม้ และอนุรักษ์ป่า ร้อยละ 63.0 ลดการใช้กล่องโฟม ร้อยละ 56.6 ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ร้อยละ 54.5 และเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว ร้อยละ 54.1 และการใช้หลอดไฟแบบประหยัด ร้อยละ 38.6 นอกจากนี้ มีประชาชนร้อยละ 73.3 ที่ระบุว่า ไม่เคยตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส

3.6 ผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อน

ประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่า ปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเด่นชัดที่สุด 5 อันดับแรก คือ ร้อยละ 73.0 เห็นว่าจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น หนาวสลับร้อน รองลงมาปัญหาภัยแล้ง ร้อยละ 72.5 น้ำท่วมฉับพลัน/น้ำป่า ร้อยละ 22.1แผ่นดินไหว ร้อยละ 17.3 และไฟป่า ร้อยละ 17.2

4. ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

4.1 มาตรการ/แนวทางของภาครัฐ ที่คิดว่าจะช่วยรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อน

เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับมาตรการ/แนวทางต่างๆ ของภาครัฐที่คิดว่าจะช่วยรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อนมีประชาชนร้อยละ 85.9 เห็นว่า ควรรณรงค์การประหยัดพลังงานรองลงมา ร้อยละ 57.0 ควรส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบพอเพียง และร้อยละ 40.1 ควรใช้พลังงานทดแทน

4.2 การประหยัดพลังงานที่ภาครัฐกำหนดให้เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดไฟแบบประหยัดเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

จากการสอบถามประชาชนเกี่ยวกับเรื่องที่ภาครัฐกำหนดให้สถานที่ราชการทุกกระทรวงเปลี่ยนหลอดไฟ เป็นหลอดไฟแบบประหยัด เพื่อเป็นต้นแบบให้องค์กรภาคเอกชน ประหยัดพลังงานนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อนได้ในระดับมาก ร้อยละ 32.8 ปานกลาง ร้อยละ 48.9 น้อย ร้อยละ 9.6 ที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยฯ มีร้อยละ 2.5 และ ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.2

4.3 การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

เมื่อสอบถามเรื่องการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในสถาบันการศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้ ประชาชนเกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อนนั้นประชาชนร้อยละ 98.3 เห็นว่า ควรมีการจัดทำหลักสูตร และร้อยละ 1.7 เห็นว่า ไม่ควรจัดทำ

4.4 การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน

เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น มีประชาชน ร้อยละ 79.1 ระบุว่าภาครัฐมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฯ ในระดับปานกลางถึงมาก (มาก ร้อยละ 29.3 และปานกลาง ร้อยละ 49.8) ประชาสัมพันธ์น้อย ร้อยละ 15.3 ไม่มีการประชาสัมพันธ์ร้อยละ 1.6 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.0

4.5 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาวะโลกร้อน

สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อน มีประชาชนร้อยละ 31.1 ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็น ได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้

ควรปลูกต้นไม้/ปลูกป่าทดแทน ร้อยละ 26.4 ควรประหยัดพลังงานทุกชนิด ร้อยละ 20.0 ควรใช้กฎหมายที่เข้มงวดในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ร้อยละ 10.5 ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์/จัดกิจกรรมให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ร้อยละ 10.3 และควรรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติก ร้อยละ 5.8

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ