สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Tuesday October 5, 2010 15:31 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) พ.ศ. 2537 และพ.ศ.2549 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงเริ่มดำเนินการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สำหรับการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2553 ครั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อติดตามและประเมินผลการดำ เนินงาน โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความพึงพอใจในระบบการประกันสุขภาพ และให้เป็นหลักประกันสุขภาพของประชาชนที่แท้จริง โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 3,900 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 — 15 เมษายน 2553 และเสนอผลสำรวจในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และทั่วประเทศ ในรูปร้อยละ

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ

1. การใช้บริการและความพึงพอใจต่อการให้บริการใน

สถานพยาบาล

1.1 การเข้ารับบริการสาธารณสุขในรอบ 6 เดือน

ในรอบ 6 เดือน ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับบริการสาธารณสุขร้อยละ 57.5 ส่วนอีกร้อยละ 42.5 ไม่ได้เข้ารับบริการสาธารณสุข ซึ่งเมื่อจำแนกตามประเภทของการใช้สิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุข พบว่ามีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 46.8 ใช้สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 4.4 ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 3.0 ใช้สิทธิอื่นๆ ร้อยละ 1.0 และที่เข้ารับบริการสาธารณสุขแต่ไม่ใช้สิทธิ ร้อยละ 3.4 ซึ่งให้เหตุผลว่า ต้องการความรวดเร็วในการตรวจรักษา(ร้อยละ 77.6) สิทธิรักษาพยาบาลที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม (ร้อยละ 39.2) ต้องการบริการที่ดีจากแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ (ร้อยละ 9.4) เป็นต้น

1.2 ปัญหาการใช้สิทธิรักษาพยาบาล

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบปัญหาจากการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามี ร้อยละ 21.9 ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นปัญหาใช้เวลารอนานมากที่สุด ร้อยละ 78.0 รองลงมา กิริยามารยาทของบุคลากรไม่เหมาะสม ร้อยละ 43.2 และ การรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมผู้ใช้สิทธิอื่น ร้อยละ 22.9 ทั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ประสบปัญหาร้อยละ 78.1

1.3 ผลของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ

ประชาชนที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคิดว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผลทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้น ร้อยละ 68.0 เหมือนเดิมร้อยละ 29.9 ส่วนที่คิดว่าแย่ลงมีเพียง ร้อยละ 0.9

1.4 ค่าใช้จ่ายรายหัวต่อคนต่อปีที่รัฐจ่ายให้กับโรงพยาบาล

ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศร้อยละ 35.2 มีความเห็นว่าค่าใช้จ่ายรายหัวต่อคนต่อปี (2,400 บาท /คน / ปี) ที่รัฐจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพียงพอต่อการให้บริการแก่ผู้เข้ารับบริการสาธารณสุข ที่คิดว่าไม่เพียงพอมี ร้อยละ 38.0 และที่ยังไม่แน่ใจ / ไม่ทราบ ร้อยละ 25.9

1.5 ความพึงพอใจต่อการใช้บริการในสถานพยาบาล

จากการให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คะแนนความพึงพอใจของการใช้บริการในสถานพยาบาลครั้งล่าสุด โดยกำหนดการให้คะแนนตั้งแต่ 0 — 10 คะแนน ในประเด็นต่างๆ ของการใช้บริการ ซึ่ง พบว่า มีคะแนนความพึงพอใจ อยู่ระหว่าง 7.26 — 7.96 คะแนน

โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละประเด็นของการให้บริการพบว่า ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลได้ให้คะแนนความพึงพอใจโดยเฉลี่ยด้านคุณภาพบริการของแพทย์สูงสุด คือ 7.96 คะแนน รองลงมาเป็นความพึงพอใจด้านผลของการรักษา และด้านคุณภาพการบริการของเจ้าหน้าที่อนามัย มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 7.83 คะแนน และ 7.81 คะแนน ตามลำดับ

2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2.1 ความพึงพอใจต่อสิทธิหลักประกันสุขภาพหน้า

จากการสำรวจพบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศมีความพึงพอใจต่อสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงถึง ร้อยละ 91.5

ส่วนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยังไม่พึงพอใจ มีร้อยละ 6.2 โดยให้เหตุผล ดังนี้ การที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่เท่าเทียมกัน ยาไม่ได้มาตรฐานเท่าเทียมสวัสดิการอื่น สิทธิไม่ครอบคลุมทั่วประเทศและไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลเองได้ เป็นต้น

2.2 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้รับบริการ

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีข้อเสนอแนะว่าควรปรับการให้บริการแก่ผู้รับบริการ ร้อยละ 27.2 ซึ่งเรื่องที่ควรปรับปรุง ดังนี้ คุณภาพของยาควรเท่าเทียมกับสวัสดิการการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลารอรับการตรวจวินิจฉัย เป็นต้น สำหรับผู้ที่เห็นว่าไม่ควรปรับปรุง ร้อยละ 49.4

2.3 ความพึงพอใจต่อนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั่วประเทศมีความพึงพอใจต่อนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล โดยเฉลี่ย 6.99 คะแนน

เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า ประชาชนที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภาคเหนือมีความพึงพอใจโดยเฉลี่ย มากที่สุด คือ 7.23 คะแนน รองลงมาเป็นภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

3. การใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน

3.1 อาการเจ็บป่วยต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน(1669)

เมื่อสอบถามประชาชนที่มีหลักประสุขภาพถ้วนหน้า ถึงอาการเจ็บป่วยที่ต้องรีบโทรแจ้งบุคลากกรทางการแพทย์ฉุกเฉิน (1669) ให้รีบมาช่วยเหลือ คือ อาการหมดสติ ช๊อค ซึม สลึมสลือร้อยละ 72.0 รองลงมากอาการกินสารพิษ หรือยาพิษ ร้อยละ 70.7 และ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจ ไม่สะดวก หายใจลำบาก ร้อยละ 57.8

3.2 ความพึงพอใจต่อการใช้บริการหน่วยกู้ชีพ

ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 16.4 เคยใช้บริการหน่วยกู้ชีพ และที่ไม่เคยใช้บริการ ร้อยละ 82.9

สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เคยใช้บริการหน่วยกู้ชีพ ร้อยละ 64.7 มีความพึงพอใจในความรวดเร็วในการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ มากถึงมากที่สุด พึงพอใจในศักยภาพของบุคลากรที่ช่วยเหลือ มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 64.6 และ พึงพอใจในความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการช่วยเหลือ มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 65.7 สำหรับที่มีความพึงพอใจน้อยในแต่ละบริการอยู่ระหว่างร้อยละ 4 - 10

3.3 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการให้บริการของหน่วยกู้ชีพ

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพียงร้อยละ 8.1 ได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการให้บริการของหน่วยกู้ชีพ ดังนี้ เจ้าหน้าควรมีความพร้อมตลอดเวลาและรวดเร็ว ความรู้เบื้องต้นในการปฐมพยาบาล การดูแลทรัพย์ของผู้ประสบเหตุ เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยกู้ภัยให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ฯลฯ

แผนการสุ่มตัวอย่าง

แผนการสุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นแบบ Stratified Three — Stage Sampling โดยมี กรุงเทพมหานคร และภาค จำนวน 4 ภาค เป็นสตราตัม คือ ภาคกลาง (ยกเว้น กทม.) ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในแต่ละสตราตัมได้ทำการแบ่งออกเป็น 2 สตราตัมย่อย ตามลักษณะเขตการปกครองของกรมการปกครอง คือ ในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาลโดยมีชุมรุมอาคาร (ในเขตเทศบาล) และหมู่บ้าน (นอกเขตเทศบาล) เป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่หนึ่ง ครัวเรือนที่มีสมาชิกอายุระหว่าง 15 ขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหน่วย ตัวอย่างขั้นที่สอง และสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ15 ขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่สาม

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบสัมภาษณ์

ผู้ตอบสัมภาษณ์เป็นชายร้อยละ 43.9 เป็นหญิง ร้อยละ 56.1 มีอายุระหว่าง 15 — 19 ปี ร้อยละ 5.4 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 11.0 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุ 40 — 49 ร้อยละ 25.2 อายุ 50 — 59 ปี ร้อยละ 21.5 และ อายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 17.7 การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีร้อยละ 89.2 ปริญญาตรีขึ้นไปร้อยละ 7.3 ที่เหลือเป็นผู้ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 3.5

สรุปผลการสำรวจ

การใช้บริการและความพึงพอใจต่อการให้บริการในสถานพยาบาล

การใช้สิทธิรักษาพยาบาลในรอบ 6 เดือน

จากการสอบถามประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกี่ยวกับการเข้ารับบริการสาธารณสุขในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีผู้เข้ารับบริการสาธารณสุข ร้อยละ 57.5 ส่วนอีกร้อยละ 42.5 ไม่ได้เข้ารับบริการสารธารณสุข ซึ่งเมื่อพิจารณาระดับภาค พบว่าภาคเหนือผู้มีเข้ารับบริการสาธารณสุขร้อยละ 63.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 59.5 ภาคกลางร้อยละ 54.1 ส่วนกรุงเทพมหานครและภาคใต้ มีสัดส่วนเข้ารับบริการสาธารณสุข ร้อยละ 45.9 และ 45.8 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาถึงการใช้สิทธิการเข้ารับบริการสาธารณสุขของประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพร้อยละ 46.8 สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 4.4 สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ3.0 สิทธิอื่น ร้อยละ 1.0 ส่วนที่เข้ารับบริการสาธารณสุขแต่ไม่ใช้สิทธิเลย ร้อยละ 3.4

เหตุผลที่ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพที่เข้ารับบริการสาธารณสุขแต่ไม่ยอมใช้สิทธิ

เมื่อสอบถามเหตุผลของประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้ารักษาพยาบาลแต่ไม่ยอมใช้สิทธิ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.6 ให้เหตุผลว่า ต้องการความรวดเร็วในการตรวจรักษารองลงมา คือ สิทธิรักษาพยาบาลที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม ร้อยละ 39.2 และต้องการบริการที่ดีจากแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 9.4

หากพิจารณาในระดับภาคแล้ว พบว่า ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกภาคต้องการความรวดเร็วในการตรวจรักษามากที่สุด รองลงมา คือ สิทธิรักษาพยาบาลที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม ต้องการการบริการที่ดีจากแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ยกเว้นภาคเหนือ ให้เหตุผลไว้เพียง 2 ข้อ คือ ต้องการความรวดเร็วในการตรวจรักษา ร้อยละ 90.0 และไม่ทราบว่ามีสิทธิรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้ ร้อยละ 10.0

สถานพยาบาลที่เข้ารับบริการ

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 65.7 เข้ารับบริการสถานพยาบาลโรงพยาบาลรัฐ รองลงมา คือ สถานีอนามัย ร้อยละ 24.1 และโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 5.7

เมื่อพิจารณาระดับภาคก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกันกับทั่วประเทศ คือ เข้ารับบริการสถานพยาบาลโรงพยาบาลรัฐ สถานีอนามัย และโรงพยาบาลเอกชน ยกเว้น กรุงเทพมหานครที่ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับบริการสถานพยาบาลโรงพยาบาลรัฐมากที่สุด รองลงมาคือ โรงพยาบาลเอกชน และคลีนิคของรัฐ(อยู่นอกโรงพยาบาล)

การเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเมื่อใช้สิทธิรักษาพยาบาล

จากการสอบถามประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสาธารณสุข (ในรอบ 6 เดือน) พบว่า ผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลถึงร้อยละ 95.2 ระบุว่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนที่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมีเพียงร้อยละ 4.6 โดย ร้อยละ 63.6 ของผู้ที่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มระบุว่า เป็นค่ายา ร้อยละ 29.9 ระบุว่าเป็นค่าบริการ และร้อยละ 21.7 เป็นค่าอุปกรณ์การแพทย์

เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มากกว่า ร้อยละ 90 ในทุกภาคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยกเว้นกรุงเทพมหานครมีผู้ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ร้อยละ 87.1 โดยมีผู้ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 12.9

การใช้สถานพยาบาลเดิม

ผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลถึงร้อยละ 93.2 คิดว่าจะกลับไปใช้บริการในสถานพยาบาลเดิม ส่วนที่คิดว่าจะไม่กลับไปรับบริการในสถานพยาบาลเดิมมี ร้อยละ 1.3 และที่ยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 5.3 เมื่อพิจารณาในระดับภาคก็เช่นเดียวกัน คือประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่วนใหญ่มากกว่า ร้อยละ 85 ในทุกภาคจะกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลเดิม

ความพึงพอใจต่อการใช้บริการในสถานพยาบาล

จากการให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คะแนนความสำคัญ และคะแนนความพึงพอใจของประเด็นการให้บริการของสถานพยาบาล โดยกำหนดคะแนนตั้งแต่ 0 — 10 คะแนนพบว่า ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คะแนนความสำคัญสูงกว่าคะแนนความพึงพอใจแล้วทุกประเด็น โดยคะแนนความสำคัญในทุกประเด็นการบริการอยู่ระหว่าง 7.98 - 8.68 คะแนน ส่วนคะแนนความพึงพอใจในทุกประเด็นการบริการ อยู่ระหว่าง 7.26 — 7.96 คะแนน

โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละประเด็นย่อยของการให้บริการ พบว่า ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คะแนนความสำคัญในประเด็นบริการด้านคุณภาพบริการของแพทย์สูงสุด คือ 8.68 คะแนน รองลงมาคือด้านผลของการรักษา 8.54 คะแนน ด้านคุณภาพยา 8.53 คะแนน ทั้งนี้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คะแนนความพึงพอใจด้านคุณภาพบริการของแพทย์สูงสุดเช่นกัน คือ 7.96 รองลงมา คือ ด้านผลของการรักษา 7.83 คะแนน ด้านคุณภาพยา 7.63 คะแนน

ปัญหาการใช้สิทธิรักษาพยาบาล

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้บริการสาธารณสุขแล้วไม่ประสบปัญหามีถึง ร้อยละ 78.1 และที่เคยประสบปัญหามี ร้อยละ 21.9 ซึ่งปัญหาที่มีผู้ประสบมากที่สุด คือ ใช้เวลารอนาน ร้อยละ 78.0 กิริยามารยาทของบุคลากรไม่เหมาะสม ร้อยละ 43.2 การรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมผู้ใช้สิทธิอื่น ร้อยละ 22.9

เมื่อพิจารณาระดับภาค พบว่า ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกภาคประสบปัญหาเช่นเดียวกับในภาพรวมทั่วประเทศ คือ การใช้เวลารอนาน กิริยามารยาทของบุคลากรไม่เหมาะสม การรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมผู้ใช้สิทธิอื่น

ความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การติดต่อขอความช่วยเหลือ หรือ ร้องเรียน

จากการสอบถามประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงบุคคล/หน่วยงานที่จะติดต่อในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิ หรือต้องการร้องเรียน พบว่า ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 40.4 รู้จักศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล และสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้รองลงมา คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน/ชุมชน (อสม.) ร้อยละ 39.2 ผู้นำชุมชน / กำนัน /ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 33.8

เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า บุคคล/หน่วยงานที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคใต้ รู้จักและสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้มากที่สุด คือศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ บุคคล/ หน่วยงานที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารู้จักและสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้มากที่สุดคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน / ชุมชน (อสม.)

ความพึงพอใจต่อสิทธิหลักประกันสุขภาพหน้า

จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศ ร้อยละ 91.5 มีความพึงพอใจต่อสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.3 รองลงมา คือ ภาคเหนือ ร้อยละ 94.0 ภาคใต้ ร้อยละ 90.5 ภาคกลาง ร้อยละ 86.3 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 84.5 ทั้งนี้มีผู้ไม่พึงพอใจ ร้อยละ 6.2 โดยผู้มีสิทธิฯ ในกรุงเทพมหานครไม่พึงพอใจในสัดส่วนที่สูงสุด ร้อยละ 15.3 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 9.1 ภาคใต้ ร้อยละ 6.9 ภาคเหนือ 5.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.3

สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่พึงพอใจกับสิทธิที่ได้รับ ให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่เท่าเทียมกัน ยาไม่ได้มาตรฐานเท่าเทียมสวัสดิการอื่น การใช้สิทธิไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลเอง

มาตรฐานการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับมาตรฐานสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลประเภทอื่น (เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการประกันสังคม)

ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศ ร้อยละ 46.4 คิดว่ามาตรฐานการรักษาพยาบาลของสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ได้มาตรฐานเดียวกับสิทธิรักษาพยาบาลประเภทอื่น ส่วนที่คิดว่าได้มาตรฐานเดียวกับสิทธิสวัสิดการอื่น ร้อยละ 30.1 และที่คิดว่าดีกว่าในบางโรค มีร้อยละ 4.54 นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ยังไม่แน่ใจอีกร้อยละ 19.0

เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า มีผู้ที่เห็นว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับสิทธิอื่นในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่เห็นว่ามีมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิอื่น

ผลของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ

ผู้ที่เห็นว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผลทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้นมี ร้อยละ 68.0 ที่เห็นว่าเหมือนเดิมมี ร้อยละ 29.9 ส่วนที่คิดว่าแย่ลงมีเพียง ร้อยละ 0.9

เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้นในสัดส่วนที่สูงที่สุดร้อยละ 74.5 รองลงมาเป็น ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 68.5 68.1 58.5 และ 55.6 ตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายรายหัวต่อคนต่อปี

ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศ ร้อยละ 35.2 มีความเห็นว่าค่าใช้จ่ายรายหัวต่อคนต่อปี (2,400 บาท / คน / ปี) เพียงพอต่อการให้บริการแก่ผู้เข้ารับบริการสาธารณสุขไม่เพียงพอมี ร้อยละ 38.0 และที่ยังไม่แน่ใจ / ไม่ทราบ ร้อยละ 25.9

เมื่อพิจารณาระดับภาคแล้ว พบว่า ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกรุงเทพมหานครภาคกลาง และภาคใต้ มีความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่รัฐจ่ายให้รายหัวต่อคนต่อปียังไม่เพียงพอในสัดส่วนที่สูงกว่าเห็นว่าเพียงพอ ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เห็นว่า เพียงพอในสัดส่วนที่สูงกว่าเห็นว่าไม่เพียงพอ

การเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของโรงพยาบาลเอกชน

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 96.6 เห็นว่าการเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของโรงพยาลเอกชนเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่วนที่ยังเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์มีเพียงร้อยละ 1.8 โดยได้ให้เหตุผลของการไม่เป็นประโยชน์ ได้แก่ การรักษาไม่แตกต่างกัน การปฏิบัติต่อคนไข้ไม่เท่าเทียมกัน โรงพยาบาลเอกชนมักเก็บส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล

ความเข้าใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จากการสอบถามเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 3 ประเด็น คือ

  • กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิรับบริการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการอื่นๆ ที่ไม่ระบุในบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้าใจว่าสามารถใช้สิทธิรับบริการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการอื่นๆ ได้ มีร้อยละ 57.5 ส่วนที่เข้าใจว่าไม่ได้มีร้อยละ 16.7 และที่ยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 25.8
  • ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำที่ระบุในบัตรได้ปีละ 2 ครั้ง พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้าใจว่าขอเปลี่ยนได้ ร้อยละ 28.9 และเข้าใจว่าขอเปลี่ยนไม่ได้ ร้อยละ 21.2 ส่วนผู้ที่ตอบว่ายังไม่แน่ใจมีถึงร้อยละ 48.4
  • กรณีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลสามารถขอรับเงินชดเชยความเสียหายเบื้องต้น พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้าใจว่าสามารถขอรับเงินชดเชยได้ ร้อยละ 31.5 และเข้าใจว่าไม่สามารถขอรับเงินชดเชยได้ ร้อยละ 19.9ส่วนผู้ที่ตอบว่ายังไม่แน่ใจมีถึงร้อยละ 47.5

ความพึงพอใจต่อนโนบายสาธารณสุขของรัฐบาล

จากการให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเมินความพึงพอใจต่อนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล โดยให้คะแนน ตั้งแต่ 0 — 10 คะแนน ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศ ให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโนบายสาธารณสุขของรัฐบาลเฉลี่ย 6.99 คะแนน หากพิจารณาในระดับภาค พบว่า ประชาชนที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคเหนือ ให้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงสุด 7.23 คะแนน รองลงมาคือ ภาคใต้ 7.16 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.06 คะแนน ภาคกลาง 6.82 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 6.19 คะแนน

ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้รับบริการ

จากการสอบถามในเรื่องการปรับปรุงการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 49.4 เห็นว่าการดำเนินการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินได้ดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอีก ส่วนอีก ร้อยละ 27.2 เห็นว่าควรปรับปรุง โดยเสนอให้ปรับปรุงในเรื่องคุณภาพของยาให้เท่าเทียมกับสวัสดิการอื่น การให้บริการของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัย เป็นต้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 16.7 ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยแนะนำในเรื่องที่สำคัญๆ ได้แก่ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรมีมาตรฐานเดียวกับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ สามารถใช้สิทธิได้ทุกสถานพยาบาลครอบคลุมอุบัติเหตุและทุกโรค เป็นต้น

การใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน

อาการเจ็บป่วยที่ต้องรีบแจ้งบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อสอบถามประชาชนที่มีสิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้า เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยที่เห็นว่าต้องรีบโทรแจ้งบุคลากกรทางการแพทย์ฉุกเฉิน (1669) เพื่อให้รีบมาช่วยเหลือ พบว่า อาการหมดสติ ช๊อค ซึม สลึมสลือ เป็นอาการที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรรีบแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ มากที่สุด ร้อยละ 72.0 รองลงมา คือ อาการกินสารพิษ หรือยาพิษ ร้อยละ 70.7 และ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจ ไม่สะดวก หายใจลำบาก ร้อยละ 57.8

การใช้บริการหน่วยกู้ชีพในการนำผู้ป่วย / ผู้บาดเจ็บ ส่งโรงพยาบาล

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.9 ไม่เคยใช้บริการหน่วยกู้ชีพสำหรับผู้ที่เคยใช้บริการมี ร้อยละ 16.4 เมื่อพิจารณาระดับภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ที่เคยใช้บริการมากที่สุด ร้อยละ 21.9 สำหรับภาคอื่นมีการใช้บริการในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ภาคใต้ ร้อยละ 14.4 ภาคเหนือ ร้อยละ 14.2 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 13.3 ภาคกลางร้อยละ 11.9

ความพึงพอใจต่อการให้บริการหน่วยกู้ชีพ

จากการให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเคยใช้บริการหน่วยกู้ชีพ ประเมินความพึงพอใจในประเด็นการบริการ 3 ประเด็น โดยให้คะแนน ตั้งแต่ 0 — 10 คะแนน พบว่า ประเด็นความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการช่วยเหลือ มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูง 7.12 คะแนน รองลงมา คือ ประเด็นศักยภาพของบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือ มีคะแนนเฉลี่ย 6.96 คะแนน ประเด็นศักยภาพของบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือหลังจากเกิดเหตุ มีคะแนนเฉลี่ย 6.94 คะแนน

สำหรับประชาชนผู้มีหลักประกันถ้วนหน้าที่เคยมีประสบการณ์ใช้บริการหน่วยกู้ชีพ มีความพึงพอใจในความรวดเร็วในการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 64.7 ความพึงพอใจในศักยภาพของบุคลากรที่ช่วยเหลือ มากถึงที่สุด ร้อยละ 64.6 และ ความพึงพอใจในความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการช่วยเหลือ มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 65.7

ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการให้บริการของหน่วยกู้ชีพ

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 8.1 ได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการให้บริการของหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน ดังนี้ เจ้าหน้าที่ควรมีความพร้อมตลอดเวลาและรวดเร็ว ควรมีความรู้เบื้องต้นในการปฐมพยาบาลและการดูแลทรัพย์ของผู้ประสบเหตุ เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยกู้ภัยให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ