สศก. แจง ผลการศึกษาการปลูกพืชหลังนาข้าวในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2554

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2012 13:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดผลศึกษา การปลูกพืชหลังนาข้าวในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 54 ชู ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นพืชที่ควรได้รับส่งเสริมให้ปลูกทดแทนการปลูกข้าวรอบ 2 มากที่สุด เนื่องจากให้ผลตอบแทนสุทธิ และอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าข้าวรอบ 2แนะ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพในแต่ละแหล่งปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และดันมาตรการด้านตลาดรองรับ กรณีเกิดปัญหาราคาตกต่ำ

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเสรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาการปลูกพืชหลังนาข้าวในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2554 พบว่า ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นพืชที่ควรได้รับส่งเสริมให้ปลูกทดแทนการปลูกข้าวรอบ 2 มากที่สุด เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าข้าว คือ 1.83 และ 1.55 ตามลำดับ ขณะที่ข้าวรอบ 2 ให้อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 1.42 ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นาปรังตามโครงการจัดระบบการปลูกข้าว โดยการศึกษาการศึกษาการปลูกพืชหลังนาข้าวในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทน ระหว่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วลิสง และถั่วเหลือง กับการปลูกข้าวรอบ 2 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 - เมษายน 2554 ใน 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี

ผลการศึกษาต้นทุนการผลิต พบว่า ข้าวรอบ 2 มีต้นทุนการผลิต 3,655 บาท/ไร่ ถั่วลิสง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าข้าวรอบ 2 คือ 11,345 บาท/ไร่ และ 4,283 บาท/ไร่ ขณะที่ถั่วเขียว และถั่วเหลือง มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการปลูกข้าว คือ 3,074 บาท/ไร่ และ 3,055 บาท/ไร่ ตามลำดับ สำหรับผลตอบแทนสุทธิ พบว่า ข้าวรอบ 2 ให้ผลตอบแทนสุทธิ 1,300 บาท/ไร่ ถั่วลิสง ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าข้าวรอบ 2 คือ 4,390 บาท/ไร่ 1,403 บาท/ไร่ และ 1,397 บาท/ไร่ ตามลำดับ ส่วนถั่วเหลืองให้ผลตอบแทนสุทธิ 960 บาท/ไร่ ต่ำกว่าการปลูกข้าวรอบ 2

แต่หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน พบว่าข้าวรอบ 2 ให้อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนที่ 1.42 ขณะที่ ถั่วเขียว และถั่วลิสงให้อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าข้าวรอบ 2 คือ 1.83 และ 1.55 ตามลำดับ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ให้อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนต่ำกว่าข้าวรอบ 2 คือ 1.30 และ 1.26 ตามลำดับ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในจำนวนพืชที่ทำการศึกษา ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นพืชทางเลือกที่เหมาะสมจะส่งเสริมให้ปลูกแทนข้าวรอบ 2 เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสุทธิ และอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าข้าวรอบ 2 อย่างไรก็ตามการปลูกถั่วลิสงมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าถั่วเขียว

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเขียว และถั่วลิสง แทนการปลูกข้าวรอบ 2 ควรจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพในแต่ละแหล่งปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และในระยะยาวต้องวิจัยและพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานเก็บเกี่ยวและลดการสูญเสีย นอกจากนี้ เพื่อให้การส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาทดแทนข้าวรอบ 2 ประสบความสำเร็จ ควรลดปริมาณการใช้น้ำไม่ให้เกินปริมาณน้ำต้นทุน ลดปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน ตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าวและข้าววัชพืช และควรมีมาตรการด้านการตลาดรองรับกรณีเกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ