เกาะติดการค้าสินค้าเกษตรกับคู่เจรจา FTA ช่วงครึ่งปีแรก สศก.ระบุ ไทยยังได้เปรียบในภาพรวม

ข่าวทั่วไป Monday August 20, 2012 13:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรครึ่งปีแรกของปี 2555 กับประเทศคู่เจรจา FTA ระบุ ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าในภาพรวม แต่ต้องจับตาทิศทางที่ผันผวนมากขึ้น เหตุจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบมีมากขึ้น ผลจากการลดภาษี และสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก รวมทั้ง มูลค่าส่งออกกลุ่มข้าวและธัญพืชของที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วด้วย

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบเจรจาต่างๆ ได้ทยอยมีผลบังคับใช้ทั้งหมดหรือบางส่วนไปแล้วกับ 7 คู่เจรจา คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และล่าสุด คือ เปรูนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24 (ไม่รวมยางพารา) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 พบว่า ไทยยังคงรักษาความได้เปรียบดุลการค้าได้ในภาพรวม โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับจีน มูลค่า 23,675 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554) และได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับเกาหลี มูลค่า 9,111 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11%) รวมทั้งได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่น มูลค่า 70,306 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8%)

อย่างไรก็ตาม พบว่า ไทยขาดดุลการค้ากับบางคู่เจรจา ซึ่งไทยมีมูลค่านำเข้ามากกว่าส่งออก โดยไทยเสียเปรียบดุลการค้ากับอินเดียมูลค่า 6,535 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจำพวกอาหารสัตว์และประมงเพิ่มขึ้นมาก และ ไทยยังเสียเปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นคู่เจรจาที่ไทยเสียเปรียบดุลการค้ามาตั้งแต่ก่อนมี FTA แล้ว เนื่องจากการนำเข้านมผง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุล 4,392 ล้านบาท นอกจากนี้ มีบางคู่เจรจาซึ่งเดิมไทยเคยได้เปรียบดุลการค้า แต่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า ได้แก่ ออสเตรเลีย และเปรู โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับออสเตรเลีย มูลค่า 4,246 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้นมาใช้ในอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดที่มีราคาค่อนข้างสูง และกลับมาเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับเปรู มูลค่า 584 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการนำเข้าองุ่นสด เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากการที่ไทยยกเลิกภาษีภายใต้ Early Harvest ทันที จากเดิมที่เคยเก็บภาษี 30% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อีกทั้งไทยได้ส่งออกข้าวไปทั้งสองประเทศลดลงด้วย

ทั้งนี้ ทิศทางการค้าสินค้าเกษตรกับคู่เจรจา FTA ในช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างผันผวนกว่าปีกลาย เนื่องมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบมีมากขึ้น ผลจากการลดภาษี สถานการณ์เศรษฐกิจของโลก นอกจากนี้ สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทิศทางดุลการค้าของไทยในภาพรวมอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ มูลค่าส่งออกกลุ่มข้าวและธัญพืชของไทยเอง ซึ่งพบว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในทุก FTA เลขาธิการ สศก. กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ