สศข.1 ดึงเกษตรกรทั่วภาคเหนือ เตรียมพร้อมศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน

ข่าวทั่วไป Monday August 20, 2012 13:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 จูงมือเกษตรกรทั่วพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ร่วมสัมมนาโครงการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีภายในกลุ่มประเทศอาเซียน หวังสร้างความเข้าใจและเตรียมพร้อมเกษตรกรให้เห็นความสำคัญของการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 เพื่อไทยจะได้เป็นผู้นำในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ (สศข.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงการจัดสัมมนา Asean Economic Community (AEC) โครงการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การสัมมนาดังกล่าว มีเกษตรกรในพื้นที่ 9 จังหวัด ภาคเหนือ ตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์และเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขตเข้าร่วมมากกว่า 100 คน

การสัมมนาครั้งนี้ มุ่งให้เกษตรกรมองเห็นความสำคัญของ AEC เนื่องจากมีผลกระทบกับไทยในหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งด้านบวก และด้านลบ โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่เป็นภาคหลักของแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งพลังงานของประเทศ จึงต้องมีการเตรียมตัวทั้งเชิงรุก และเชิงรับ โดยรูปแบบการดำเนินการของ AEC ที่จะเป็นตลาดและการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน รวมทั้งแรงงาน และเงินทุน อย่างเสรี มีการแข่งขันภายในกลุ่มอาเซียน โดยผลประโยชน์จากการรวมกลุ่ม AEC นั้น จะทำให้ไทยส่งส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ในหลายรายการ เสริมสร้างโอกาสการลงทุนในด้านต่างๆ รวมทั้งการปรับศักยภาพการผลิตสินค้าไทยที่ยังด้อยศักยภาพ โดยใช้เงินกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร (FTA) และการค้า สินค้าระหว่างไทย กับ ตลาดสำคัญในหลายๆประเทศ นอกจากนี้ การสัมมนายังได้ให้ความรู้ในเรื่องโครงการทวายของพม่า กฎบัตรอาเซียน (Asean Carter)

นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรจำเป็นต้องรับทราบเรื่องของ AEC ที่จะเริ่มรวมกลุ่มในปี 2558 ให้พร้อม ซึ่งจะมี 10 ประเทศ คือ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน โดยเฉพาะภาคเกษตร จะต้องพัฒนาคุณภาพผลผลิต ประสิทธิภาพการผลิต สินค้าเกษตร พัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานการเกษตรให้เชื่อมโยง ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันแม้จะได้รับการพัฒนาไปมากพอสมควร แต่ยังมีบางส่วนที่ยังต้องพัฒนา เพื่อไทยจะได้เป็นผู้นำในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 จะมีการประมวลผลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเกษตรกร เพื่อเสนอผู้บริหารและนำมาเป็นแนวทางในการปรับมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ