ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2556 และแนวโน้มปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2013 14:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจโลก

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2556 ได้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อนาย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: FED) แถลงว่าอาจจะผ่อนคลายนโยบาย QE 3 โดยการทยอยลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรลงในอนาคต เนื่องจาก FED คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ภาคธุรกิจสามารถทำกำไร ได้ในระดับสูง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุน เพราะการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาที่สมควร จะทำให้เศรษฐกิจไม่มีแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่งพอ หรือแม้ว่าจะยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการลดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรของ FED คือ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกสำหรับเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารกลางของจีนต้องการชะลอการปล่อยสินเชื่อ และควบคุมการปล่อยกู้นอกระบบ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการธนาคารภายในประเทศที่กำลังมีความเสี่ยงกับการแบกรับภาระหนี้เสียมากขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปก็ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาและยังขาดความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคาร แห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) มีมติให้คงการดำเนินการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินต่อไป ทำให้เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปีนี้ มีทิศทางอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกและมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นดีขึ้น สำหรับเศรษฐกิจของอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ขยายตัวชะลอลงจากปี 2555 เล็กน้อย แต่ยังถือว่าขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2556 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF ) ได้ปรับลด การคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมกราคม 2556 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5

ตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศต่าง ๆ

หน่วย: ร้อยละ

          ประเทศ          2554           2555           2556
          เศรษฐกิจโลก       4.0            3.2            3.1
          สหรัฐอเมริกา       1.8            2.2            1.7
          สหภาพยุโรป        1.6           -0.2           -0.1
          ญี่ปุ่น             -0.6            2.0            2.0
          จีน               9.3            7.8            7.8
          อาเซียน 5*        4.5            6.1            5.6

ที่มา: World Economic Outlook, 9 July 2013, IMF

หมายเหตุ : * อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

เศรษฐกิจการเกษตรโลก

สถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาอาหารซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) พบว่า ดัชนีราคาอาหารเฉลี่ยในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ระดับ 212.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 210.5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นได้แก่ เนื้อสัตว์เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์ และธัญพืช ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันจากพืชและสัตว์ และน้ำตาล

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ 104.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ ซึ่งอยู่ที่ 111.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 6.1 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนต่อการลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริการวมถึงเศรษฐกิจของจจีนที่ชะลอตัวลง ทำให้อุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มลดลง ขณะที่อุปทานน้ำมัน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นทั้งจากในกลุ่มและนอกกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะการผลิต tight oil ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2555 แต่ราคาน้ำมันในช่วง ครึ่งปีแรกลดลงไม่มาก เนื่องจากยังคงมียังคงมีสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและแอฟริกา เช่น อิหร่าน ลิเบีย อียิปต์ ซูดาน-ซูดานใต้ และไนจีเรีย ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ชะลอการผลิต

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังคงผันผวนจากสถานการณ์ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านความขัดแย้งในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก ซึ่งอาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบของโลกชะลอตัวลง

อัตราแลกเปลี่ยน

1) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ 29.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 31.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.2

2) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อยูโร เฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ 39.2 บาทต่อยูโร มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 40.4 บาท/ยูโร หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.0

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2556 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาหาผลตอบแทนในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2556 ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจภาพรวมของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ยังสามารถขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวในระดับสูงของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของการส่งออกจากปีที่ผ่านมา สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2556 มีสัญญาณชะลอตัวลงเล็กน้อยจากคำสั่งซื้อที่ลดลง และความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งภายในและภายนอก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.0 และต่ำกว่ากรอบการคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2556 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 - 3.4

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2556

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ 114.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 112.7 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้มีทิศทางลดลง อยู่ที่ 151.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 154.6 หรือลดลงร้อยละ 1.8
  • ดัชนีผลผลิตหมวดพืชผลเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ 112.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 110.4 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดพืชผลที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ 162.1 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 173.1 หรือลดลงร้อยละ 6.3
  • ดัชนีผลผลิตหมวดปศุสัตว์ เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 อยู่ที่ 118.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 115.6 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ 123.8 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 115.4 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุที่เศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนักมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 และในเดือนมิถุนายน 2556 บางพื้นที่ของประเทศยังประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชสำคัญหลายชนิดได้รับ ความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ตาม พืชเศรษฐกิจหลักในภาคใต้ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ยังคงให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ สามารถขยายตัวได้ดีทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางพื้นที่ ทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตช้า ส่วนการผลิตสาขาประมงหดตัวลงอย่างมากจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ได้รับความเสียหายจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) และปริมาณสัตว์น้ำ จากการทำประมงทะเลที่ลดลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา มีดังนี้

สาขาพืช

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 สาขาพืชขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง ลำไย และเงาะ

สำหรับผลผลิตข้าวนาปีที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ รวมทั้ง ไม่พบปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาดที่รุนแรงในช่วงการเพาะปลูก ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น จากราคาในปี 2555 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงการเลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี และทนต่อโรคและแมลง สำหรับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการขยายตัวของพื้นที่กรีดยางใหม่และพื้นที่ให้ผลผลิตใหม่ของปาล์ม ในส่วนของผลไม้ทั้งทุเรียนและมังคุดที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล

ผลผลิตข้าวนาปรังมีปริมาณลดลงจากการงดการปลูกข้าวนาปรังในบางพื้นที่ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งยังได้ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเช่นกัน ขณะที่ผลผลิตสับปะรดมีปริมาณลดลงเป็นผลจากการปลูกสับปะรดแซมในสวนยางพาราลดลงเพราะต้นยางพาราโตขึ้น ประกอบกับราคาสับปะรดในช่วงปลายปี 2555 ตกต่ำและไม่จูงใจให้ทำการผลิต สำหรับผลผลิตถั่วเหลืองลดลง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ขาดแคลนและมีราคาแพงทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่าการลงทุน ในส่วนของลำไยและเงาะมีปริมาณลดลงสาเหตุจากการติดดอกออกผลล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ด้านราคาพืชในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปีหอมมะลิมันสำปะหลัง สับปะรด ถั่วเหลือง และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน และเงาะ โดยราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมันสำปะหลังแปรรูปคาดว่าผลผลิตจะลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้มีความต้องการมันสำปะหลังเพื่อแปรรูปเพิ่มขึ้น สำหรับราคาสับปะรดเพิ่มขึ้นเป็นเพราะผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อย ขณะที่ราคาถั่วเหลืองได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ส่วนราคาผลไม้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีความล่าช้า กว่าทุกปี ส่งผลให้เกิดความต้องการสะสมทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเข้ามาแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของภาครัฐเป็นไปได้ทันท่วงที สำหรับพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าปรับลดลง เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวของไทยจากต่างประเทศลดลง ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลงเป็นผลมาจากการเร่งระบายผลผลิตของพ่อค้าในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้มีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์เป็นจำนวนมาก สำหรับราคาอ้อยโรงงานปรับตัวลดลงมีสาเหตุมาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาปาล์มน้ำมันลดลงเป็นเพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ

ด้านการส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2556 ปริมาณและมูลค่าส่งออกมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศจีน ในขณะที่ยางพาราและน้ำมันปาล์มมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าส่งออกลดลงเป็นผลจากราคาตลาดโลกที่ลดลง ในส่วนของข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์สับปะรดมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง โดยเฉพาะข้าวที่ราคาส่งออก ของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาของประเทศคู่แข่งขัน

สาขาปศุสัตว์

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้น แม้ว่าในบางช่วงเวลาผลผลิตปศุสัตว์จะชะลอตัวลงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งทำให้ไก่เนื้อและสุกรเจริญเติบโตช้า รวมถึงอัตราการให้ไข่ของไก่ไข่ลดลง

ปริมาณไก่เนื้อเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยายการเลี้ยงของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประกอบกับเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่เนื้อมีระบบการผลิตที่ดีขึ้น แต่ในบางพื้นที่ยังคงพบปัญหาในระบบการผลิต สำหรับปริมาณการผลิตสุกรขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การผลิตที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังจากผลผลิตสุกรบางส่วนได้รับผลกระทบจากโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ(Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS ) ในช่วงปลายปี 2555 ประกอบกับความต้องการเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า ได้แก่ ลาว ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งหันมานำเข้าเนื้อสุกรสดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยทดแทนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งของไทยที่ยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรค PRRS ที่รุนแรง ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากแม่ไก่ไข่ยืนกรงที่มีจำนวนมากเริ่มทยอยให้ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากจำนวนแม่โครีดนมมีมากขึ้นและให้ปริมาณน้ำนมที่สูง รวมทั้งเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี

ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดและต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาสุกรและไข่ไก่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากมาตรการควบคุมระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด โดยการส่งออกสุกรและปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง รวมถึงภาวะการผลิตที่ชะลอลงจากสภาพอากาศร้อน ทำให้สุกรโตช้าและอัตราการให้ไข่ของแม่ไก่ลดลง ในส่วนราคาน้ำนมดิบยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตามคุณภาพของน้ำนม

ด้านการส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2556 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ลดลง เนื่องจากการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยหดตัวลง แต่มีการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งได้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย ในขณะที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสุกรเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการระบายผลผลิตส่วนเกินเพื่อรักษาระดับราคาในประเทศและความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น

สาขาประมง

สาขาประมงในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 หดตัวลงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome ) ในแหล่งผลิตที่สำคัญทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 30-40 ขณะที่ผลผลิตจากการทำประมงทะเล มีปริมาณลดลงเช่นกัน โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้รวมทุกท่าลดลงประมาณร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ด้านราคา สำหรับสถานการณ์ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรจำหน่ายได้ในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2556 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 168 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 123 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 โดยราคากุ้งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องมาจากผลผลิตกุ้งที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด และความต้องการกุ้งเพื่อส่งออกที่ยังคงมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง

ด้านการส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2556 สินค้าประมงที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ เป็นผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคในตลาดผู้นำเข้าหลักเพิ่มสูงขึ้นและต่อเนื่องส่วนสินค้าประมงที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกุ้งและผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ลดลงและมีไม่เพียงพอต่อการส่งออก ทำให้ประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ อินเดียอินโดนีเซียเอกวาดอร์และเม็กซิโก ซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชสำคัญ เช่น อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดินไถพรวนดิน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาตอนบนซึ่งไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังรอบสองได้ ส่งผลให้การใช้บริการทางการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สาขาป่าไม้

สาขาป่าไม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ประมาณร้อยละ 0 .7 เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตครั่งและถ่านไม้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะครั่ง ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของสาขาป่าไม้ในอนาคต เพราะมีราคาที่ค่อนข้างดี จูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงครั่งเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น ประกอบกับวิธีการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยากและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และญี่ปุ่น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกครั่งขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สำหรับปริมาณการส่งออกถ่านไม้ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 21.3 ส่วนปริมาณและมูลค่าการส่งออกไม้ยูคาลิปตัสลดลงประมาณร้อยละ 4.3 และ 7.4 ตามลำดับ จากการลดการนำเข้าของประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญรายใหญ่

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมทั้งปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.52.5 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคา ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงมีการดูแลเอาใจใส่ดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตสาขาประมงยังคงหดตัวจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ในครึ่งปีแรกและสภาพอากาศที่แปรปรวน อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคระบาดดังกล่าวแล้วและคาดว่าสถานการณ์ จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สาขาพืช

ในปี 2556 คาดการณ์ว่าสาขาพืชจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.3 - 4.3 เนื่องจากผลผลิตพืชส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงต้นปีจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ก็ตาม โดยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน จะเพิ่มขึ้นจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจากเนื้อที่ให้ผลใหม่ที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงจากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและมันสำปะหลังทดแทน สำหรับสถานการณ์ด้านราคา คาดว่าราคาพืชส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและโครงการรับจำนำ เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง ส่วนสับปะรดและผลไม้ต่าง ๆ ยังมีความต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาอ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา สำหรับยางพาราและปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาจะลดลงตามแนวโน้มราคาตลาดโลกที่จะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สาขาปศุสัตว์

ในปี 2556 คาดว่าสาขาปศุสัตว์จะมีการขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.9 2.9 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากการปรับระบบการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐานดีขึ้นตามการส่งเสริมและพัฒนาฟาร์มให้เป็นระบบ มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐานเชิงพาณิชย์ ประกอบกับความต้องการบริโภคทั้งตลาด ในประเทศและตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดหลัก อย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้เกษตรกรขยายการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคระบาด และภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการบริหารจัดการอุปสงค์อุปทานเพื่อควบคุมระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยราคาปศุสัตว์เฉลี่ยในปี 2556 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนการผลิตทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงานที่สูงขึ้น

สาขาประมง

สาขาประมงในปี 2556 คาดว่าจะหดตัวลงจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ (-6.5) (-5 .5) เป็นผลมาจากผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ในขณะที่ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน เพราะแหล่งผลิตที่สำคัญในภาคตะวันออกประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าวโดยสร้างระบบเฝ้าระวังและเครือข่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิดในทุกภูมิภาคพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสมาคม/ชมรมไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงในทุกพื้นที่ถึงการป้องกันและการบริหารจัดการในระหว่างการเลี้ยงและรวมไปถึงมาตรการClean-up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง เป็นต้น คาดว่าการผลิตกุ้งจะมีเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลังสำหรับผลผลิตประมงน้ำจืดคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย ด้านราคาสินค้าประมงที่เกษตรกรขายได้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี หากเกษตรกรไม่เพิ่มปริมาณการผลิตมากจนเกินไปและผลผลิตที่ได้ตรงตามความต้องการของตลาดในด้านการค้า และการส่งออก ถ้าสามารถจัดการภาวะโรคระบาดในกุ้งได้ คาดว่าปริมาณการส่งออกกุ้งในช่วงครึ่งหลังของปีจะยังคงขยายตัวได้ดีตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในปี2556 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 1.1 - 2.1 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น ข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาใช้บริการทางการเกษตรเพื่อทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น อาทิ รถแทรกเตอร์ เพื่อเตรียมดิน ไถพรวนดิน รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย

สาขาป่าไม้

การผลิตสาขาป่าไม้ในปี 2556 มีแนวโน้มจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 เนื่องจากปริมาณการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ป่าไม้และของป่า โดยเฉพาะถ่านไม้ ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง ยางไม้ และน้ำผึ้งธรรมชาติ จะยังคงขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี เพราะเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูงจากทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับสภาพอากาศในช่วงครึ่งปีหลังจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ค่อนข้างจะเอื้ออำนวยและไม่มีปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิต

ตารางที่ 2 อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

หน่วย: ร้อยละ

          สาขา                              2556
                              ครึ่งแรกของปี           ทั้งปี

(ม.ค.-มิ.ย.)

          ภาคเกษตร               0.4             1.5 - 2.5
          สาขาพืช                 1.9             3.3 - 4.3
          สาขาปศุสัตว์              1.6             1.9 - 2.9
          สาขาประมง             -7.1           (-6.5)-(-5 .5)
          สาขาบริการทางการเกษตร   0.8             1.1 - 2.1
          สาขาป่าไม้               0.7             0.5 - 1.5

ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ตารางที่ 3 ผลผลิตของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2555 - 2556 (ปีปฏิทิน)

หน่วยล้านตัน

สินค้า                        ทั้งปี               การเปลี่ยนแปลง         ม.ค.-มิ.ย.           การเปลี่ยนแปลง
                      2555       2556*           (ร้อยละ)       2555        2556*          (ร้อยละ)
ข้าวนาปี               26.13      28.53             9.19         1.04        1.51            44.34
ข้าวนาปรัง             12.24       9.98           -18.40         9.91        8.17           -17.50
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์         4.84       4.68            -3.35         0.46        0.40           -14.66
มันสำปะหลัง            26.69      27.54             3.17        17.06       17.72             3.87
อ้อยโรงงาน (รวมพันธุ์)  102.46     103.26             0.78        79.30       80.79             1.88
สับปะรดโรงงาน          2.33       2.11            -9.38         1.43        1.15           -19.89
ถั่วเหลือง (พันตัน)       79.07      53.75           -32.02        63.20       39.62           -37.30
ยางพารา               3.63       3.86             6.56         1.48        1.61             8.83
ปาล์มน้ำมัน             11.33      12.24             8.09         5.07        5.61            10.81
ลำไย(พันตัน)          853.54     863.90             1.21       167.81      122.76           -26.84
ทุเรียน(พันตัน)         524.39     563.81             7.52       343.89      463.62            34.82
มังคุด(พันตัน)          210.24     273.83            30.25       105.66      193.41            83.04
เงาะ(พันตัน)          334.09     342.19             2.42       248.83      236.31            -5.03
ไก่เนื้อ(ล้านตัว)      1,055.93   1,104.05             4.56       515.40      535.29             3.86
สุกรมีชีวิต(ล้านตัว)       12.83      13.07             1.90         6.44        6.56             2.00
ไข่ไก่(ล้านฟอง)     10,939.15  11,420.50             4.40     5,463.01    5,514.96             0.95
น้ำนมดิบ                1.06       1.13             5.72         0.53        0.55             3.29

ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: *ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนมิถุนายน 2556

ตารางที่ 4 ราคาที่เกษตรกรขายได้ของสินค้าเกษตรที่สำคัญ

หน่วย: บาท/กก.

สินค้า                                      2555                 2556        การเปลี่ยนแปลง
                                     ทั้งปี       ม.ค.-มิ.ย.     ม.ค.-มิ.ย.       (ร้อยละ)
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% (บาท/ตัน)     10,156        10,062         9,991         -0.70
ข้าวนาปีหอมมะลิ (บาท/ตัน)              15,365        15,172        15,751          3.82
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5%            9.35          8.65          8.56         -1.04
หัวมันสำปะหลังสดคละ                     2.07          1.99          2.09          5.23
อ้อยโรงงาน (บาท/ตัน)                    942           955           918         -3.86
สับปะรดโรงงาน                         3.30          2.93          3.92         34.01
ถั่วเหลืองชนิดคละ                       15.75         14.85         18.32         23.37
ยางแผ่นดิบชั้น 3                        87.15         98.55         79.94        -18.89
ผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายมีน้ำหนัก>15 กก.       4.91          5.36          3.29        -38.66
ลำไยเกรด A                          24.24         25.76         29.91         16.13
ทุเรียนหมอนทองคละ                     31.06         30.74         47.78         55.43
มังคุดคละ                             17.04         17.47         16.97         -2.86
เงาะโรงเรียนคละ                      13.39         12.79         30.91        141.73
ไก่รุ่นพันธุ์เนื้อ                          42.03         42.92         43.34          0.99
สุกร น้ำหนัก 100 กก. ขึ้นไป              56.67         58.14         62.82          8.05
ไข่ไก่สดคละ(บาท/ร้อยฟอง)                 256           263           286          8.61
น้ำนมดิบ                              16.61         16.63         16.93          1.82
กุ้งขาวแวนนาไมขนาด 70 ตัว/กก.            127           123           168         37.41

ที่มา:  ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ตารางที่ 5 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ

สินค้า                      ปริมาณ (ล้านตัน)                                    มูลค่า (ล้านบาท)
                        2555           2556          %                  2555               2556         %
                       ทั้งปี   ม.ค.-พ.ค.  ม.ค.-พ.ค.                    ทั้งปี    ม.ค.-พ.ค.    ม.ค.-พ.ค.
เกษตรและผลิตภัณฑ์          -           -         -       -     1,349,335.10  574,581.37   526,591.62    -8.35
ข้าวรวม               6.73       2.78       2.51   -9.66       142,976.24   57,666.35    52,986.51    -8.12
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์        0.12       0.10       0.01  -87.27         1,181.72      898.11       107.49   -88.03
มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์   6.96       2.86       3.36   17.52        65,206.62   27,042.12    29,595.91     9.44
ยางพารา              3.27       1.34       1.52   13.36       336,303.81  152,162.85   136,824.88   -10.08
น้ำมันปาล์ม             0.41       0.23       0.30   31.41        13,931.86    8,070.46     7,165.11   -11.22
น้ำตาลและผลิตภัณฑ์       7.93       4.41       3.47  -21.40       132,136.69   73,786.65    47,249.07   -35.97
สับปะรดบรรจุภาชนะที่   574.92     245.85     239.68   -2.51        16,531.72    7,336.03     6,240.00   -14.94
อากาศผ่านเข้า
ออกไม่ได้(พันตัน)
น้ำสับปะรด(พันตัน)     143.58      60.16      63.91    6.23         5,573.59    2,528.14     1,966.48   -22.22
ลำไย(พันตัน)         596.42     169.61     197.74   16.58        19,896.62    3,328.83     3,997.91    20.10
ทุเรียน(พันตัน)        365.91     168.43     141.17  -16.18         7,167.47    3,250.25     2,726.03   -16.13
เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์
(พันตัน)             538.10     218.22     205.57   -5.79        67,848.63   27,384.23    26,251.45    -4.14
เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์
(พันตัน)              15.02       5.73       7.62   32.84         2,763.32    1,059.43     1,122.44     5.95
นมและผลิตภัณฑ์(พันตัน)  352.54     129.90      93.56  -27.97        96,630.07   35,696.59    26,137.79   -26.78
ปลาและผลิตภัณฑ์(พันตัน) 131.64      49.46      61.85   25.05         6,069.33    2,328.23     2,806.73    20.55
ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์
(พันตัน)           1,174.86     474.89     479.38    0.95       131,562.11   50,468.32    51,293.79     1.64
กุ้งและผลิตภัณฑ์(พันตัน)   69.76      31.25      28.47   -8.89        14,667.42    6,171.29     5,094.60   -17.45
ผลิตภัณฑ์จากป่า(พันตัน)   32.21      14.86      14.21   -4.39         2,064.21      684.41     1,158.39    69.25

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร
หมายเหตุ : สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ หมายถึง สินค้าในพิกัดศุลกากร ตอนที่ 1 -24 , 35.05.10, 35.05.20 , 40.01 , 40.05, 44.03

, 50.01 - 50.03 , 52.01

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ