เกาะติดการผลิต-การตลาดปลากะพงขาวในกระชัง สศก. เผยผลศึกษา แนะพัฒนาแบบมีส่วนร่วมทั้งระบบ

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2013 12:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ 10 จังหวัดแหล่งผลิตปลากะพงขาว เจาะเกษตรกรและกลุ่มพ่อค้าทั่วประเทศ เปิดผลศึกษาการผลิตและการตลาดปลากะพงขาวในกระชัง ปี 55แนะ สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อควบคุมมลภาวะทางน้ำ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสัตว์น้ำบริการแก่เกษตรกร พร้อมส่งเสริมการตลาด การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า สู่การพัฒนาการผลิตการตลาดปลากะพงขาวในกระชังอย่างยั่งยืน

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการศึกษา เรื่อง เศรษฐกิจการผลิตและการตลาดปลากะพงขาวในกระชังในปี 2555 โดยสัมภาษณ์เกษตรกร 107 ราย และกลุ่มพ่อค้า 9 ราย ทำการศึกษาข้อมูลในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จำนวน 10 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระยอง สมุทรสงคราม เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา ระนอง) พบว่า ต้นทุนการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังเฉลี่ยอยู่ที่ 45,191.64 บาทต่อกระชัง เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ย 496.55 กิโลกรัมต่อกระชัง ราคาเฉลี่ย 162.94 บาทต่อกิโลกรัม มีรายได้เฉลี่ย 80,907.86 บาทต่อกระชัง และกำไรสุทธิ 35,716.22 บาทต่อกระชัง

ด้านส่วนเหลื่อมการตลาด พบว่า ส่วนเหลื่อมการตลาดที่พ่อค้าขายส่งได้รับ 20.00 บาทต่อกิโลกรัม โดยแบ่งเป็นต้นทุนการตลาด 7.69 บาทต่อกิโลกรัม และกำไร 12.31 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนพ่อค้าขายปลีกมีส่วนเหลื่อมการตลาด 25.00 บาทต่อกิโลกรัม แบ่งเป็นต้นทุนการตลาด 12.96 บาทต่อกิโลกรัม กำไร 12.04 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวิถีการตลาดพบว่า เกษตรกรขายผลผลิตให้กับพ่อค้ารวบรวมท้องที่ ร้อยละ 70รองลงมาคือ พ่อค้ารวบรวมท้องถิ่น ร้อยละ 20 และภัตตาคาร/ร้านอาหาร ร้อยละ 10 ซึ่งพ่อค้าแต่ละประเภทจะกระจายผลผลิตส่วนใหญ่ให้กับภัตตาคาร/ร้านอาหาร ถึงร้อยละ 95 โดยปัญหาที่มีผลกระทบด้านการผลิตและการตลาดปลากะพงขาว ได้แก่ แหล่งเพาะเลี้ยงเสื่อมโทรม เกิดภาวะน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาหารปลามีราคาสูงขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ลูกพันธุ์ปลาไม่มีคุณภาพ ปลาเป็นโรค ราคาปลาไม่มีเสถียรภาพ และมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตน้อย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษา พบว่า แนวทางในการพัฒนาการผลิตและการตลาดปลากะพงขาวในกระชัง ควรจัดให้มีโครงการมีส่วนร่วมกันในการควบคุมมลภาวะทางน้ำ และกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุม เกษตรกรควรจัดตั้งแหล่งหาอาหารปลาราคาถูกจากท่าเรือโดยตรง โดยเร่งรัดพัฒนาการเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์ปลากะพงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการผลิตลูกพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพ มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี อัตรารอดตายสูง และมีขนาดเหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรในการซื้อลูกพันธุ์ปลา นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีบทบาทในการวิจัยหาแนวทางป้องกันและรักษาโรคปลา ควรจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์น้ำและคุณภาพน้ำ เพื่อบริการแก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยช่วยเหลือในการจัดตั้งตลาดกลางในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร หรืออาจติดต่อแหล่งรับซื้อผลผลิต เช่น ห้างสรรพสินค้า และตลาดในจังหวัดใกล้เคียง และควรส่งเสริมการแปรรูปปลากะพงขาวในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางเลือกหนึ่ง รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ