นครสวรรค์ เดินหน้าโซนนิ่ง ดึงทุกภาคส่วนขับเคลื่อนฐานข้อมูลและแผนจัดการสินค้าเกษตร

ข่าวทั่วไป Monday October 28, 2013 11:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นครสวรรค์ พร้อมขับเคลื่อนโซนนิ่ง เดินหน้าทุกภาคส่วน จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ลุยปรับปรุงฐานข้อมูลและแผนการจัดการสินค้าเกษตรของจังหวัด หนุนการดำเนินงานของรัฐในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ครั้งที่2/2556 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 301 ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีผู้ว่าราชการ จังหวัดนครสวรรค์ (นายชัยโรจน์ มีแดง) เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สมาคมอ้อย ตัวแทนโรงงานน้ำตาล เพื่อร่วมกันพิจารณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ในการปรับปรุงฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด ปีงบประมาณ 2558 แผนการจัดการสินค้าเกษตรภายในจังหวัด ปี 2557 แผนคำของบประมาณ ปี 2558 และตรวจสอบพื้นที่ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่จัดทำมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเหมาะสมระหว่างอุปทานและอุปสงค์ รวมทั้งเฝ้าระวังเพื่อหามาตรการรองรับได้ทันท่วงที ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ลดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรจากการใช้ที่ผิดประเภท และทำให้มีระบบการผลิตมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

สำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ คือ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อ้อย ฝ้าย งา และมันสำปะหลัง โดยนครสวรรค์นับเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองในภาคเหนือ รองจากจังหวัดเพชรบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกอ้อยรองจากจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าวนาปี ของจังหวัดนครสวรรค์นั้น อำเภอที่มีเนื้อที่ทำนามากที่สุด ได้แก่ อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอลาดยาว สำหรับวิธีการเพาะปลูกของจังหวัดมีแบบปักดำ หว่านน้ำตม หว่านสำรวย แต่ปัจจุบันเกษตรกรรมไม่นิยม เพาะปลูกแบบปักดำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง โดยช่วงฤดูการเพาะปลูกจะเริ่มเดือนพฤษภาคม และพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นนาน้ำฝน ดังนั้น ผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงหรือภาวะน้ำท่วม เป็นต้น

ส่วนข้าวนาปรัง จังหวัดนครสวรรค์มีแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญที่สุด คืออำเภอชุมแสง อำเภอบรรพตพิสัย โดยมีตลาดกลางข้าว 8 แห่ง ที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี และอำเภอเก้าเลี้ยว มีตลาดกลางข้าว "ท่าข้าวกำนันทรง " ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดกลาง ข้าวเปลือกที่ใหญ่และมีชื่อ เสียงที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทางจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ส่งออกข้าวแบบเบ็ดเสร็จที่ท่าข้าวกำนันทรง และศูนย์ส่งเสริมการส่งออกที่ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ชั้นล่างอีกด้วย นายโฆสิต กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ