ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 24, 2013 13:25 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ – 15 กันยายน 2556 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 – 31 มกราคม 2557

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 17 ธันวาคม 2556)

  • จำนวนสัญญา 2,908,551 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,451,767 ตัน
  • จำนวนเงิน 351,530.548 ล้านบาท

หมายเหตุ : มติ ครม. วันที่ 29 ตุลาคม 2556 ให้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ ครั้งที่ 2 นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ได้ทันภายในวันที่ 15 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ เป็นกรณีพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการขอรับเงินและการจ่ายเงินเยียวยา มีดังนี้

(1) เป็นเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองเกษตรกรโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ระบุวันเก็บเกี่ยวไม่เกิน 15 กันยายน 2556 แต่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันภายในระยะเวลารับจำนำที่กำหนด

(2) เป็นเกษตรกรที่ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ที่ระบุวันเก็บเกี่ยว 16 – 30 กันยายน 2556 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องตรวจสอบและออกหนังสือรับรองเกษตรกรให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ต่อไป โดย ธ.ก.ส.เป็นผู้ตรวจสอบสิทธิ์ในการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 กรณียังไม่ได้ใช้สิทธิ์ให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยเงินให้ตันละ 2,500 บาท จำกัดครัวเรือนละไม่เกิน 33 ตัน

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก

ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม

โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง

4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน

6) ระยะเวลารับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557

ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557

ยกเว้น ภาคใต้ระว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557

7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม – 17 ธันวาคม 2556)

  • จำนวนสัญญา 138,833 สัญญา
  • จำนวนตัน 1,094,277 ตัน
  • จำนวนเงิน 16,786.515 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาลดลงทั้งข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และปริมาณความต้องการข้าวในตลาดไม่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงชะลอการสั่งซื้อ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,075 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,508 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.99

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,128 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,146 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.22

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,925 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,850 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.58

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,028 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,804 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,034 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,994 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 190 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 726 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,167 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 731 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,326 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 159 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,360 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 453 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,455 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 95 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,700 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,764 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 64 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 453 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,456 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,774 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.16 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 318 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.9106 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนผลผลิตข้าวโลกปี 2556/57 ประจำเดือนธันวาคม 2556 ว่าจะมี 470.599 ล้านตันข้าวสาร (701.8 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 468.961 ล้านตันข้าวสาร (699.2 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2555/56 ร้อยละ 0.35

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2556/57 ณ เดือนธันวาคม 2556 ว่าผลผลิต ปี 2556/57 จะมี 470.599 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.35 การใช้ในประเทศจะมี 472.879 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.30 การส่งออก/นำเข้าจะมี 39.827 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.79 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 104.273 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.14

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล กัมพูชา เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย และปารากวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อียู อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เยเมน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา กานา ฮ่องกง อิหร่าน และโมแซมบิค

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินโดนีเซีย

หน่วยงานจัดซื้อข้าวของรัฐบาล หรือบูล็อก (Bulog) ประกาศ อินโดนีเซียไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อินโดนีเซียนำเข้าข้าวลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ระบุว่า อัตราการสำรองข้าวสำหรับการบริโภค (stock-to-use ratio) อยู่ระดับเกือบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และประมาณการปริมาณนำเข้าปี 2556/57 เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บูล็อกตั้งเป้าหมายปริมาณสต๊อกปลายปีไว้ที่ประมาณ 2 ล้านตัน โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการปริมาณสต๊อกปลายปีประจำปี 2555/56 ประมาณ 3 ล้านตัน และสต๊อกปลายปีประจำปี 2556/57 ประมาณ 2.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณตามเป้าหมายที่บูล็อกได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณโดยข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อัตราการสำรองข้าวสำหรับการบริโภคของอินโดนีเซียอยู่ที่ ร้อยละ 5 ในขณะที่อัตราการสำรองข้าวสำหรับการบริโภคของโลกอยู่ที่ร้อยละ 22

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

บรรษัทอาหารแห่งอินเดีย (Food Corporation of India) เปิดเผยว่า สต๊อกข้าวกลางของอินเดีย ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2556 มีประมาณ 28.19 ล้านตัน ลดลงจาก 30.607 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จำนวนข้าวในสต๊อกลดลงเล็กน้อยจากเดิม 28.23 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวคิดเป็น 4 เท่าของปริมาณตามมูลภัณฑ์กันชนและการสำรองทางยุทธศาสตร์ ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 7.2 ล้านตันในปีนี้

ทั้งนี้ ปริมาณสต๊อกธัญพืชอาหารรวม ณ วันที่ 1 ธันวาคม มีประมาณ 59.29 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณสต๊อกดังกล่าวรวมสต๊อกข้าวสาลีจำนวน 31.07 ล้านตัน

ข้าวและผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์กำลังได้รับความนิยมในเขตเมือง โดยรัฐบาลเปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรอินทรีย์ในปี 2557/58 มีประมาณ 42,000 เฮคตาร์ (หรือประมาณ 262,500 ไร่) เพิ่มขึ้นเป็น 1.08 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 6.75 ล้านไร่) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 157

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ตลาดอาหารอินทรีย์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเขตเมืองของอินเดีย และจากการประมาณการด้านการค้า ในปี 2560 อุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ของอินเดียมีแนวโน้มจะขยายตัวประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.42 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 6.06 หมื่นล้านบาท) ในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 900 โดยข้าวเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เพาะปลูกในอินเดียมากเป็นอันดับ 2 รองจากฝ้าย ทั้งนี้ อุปสงค์ข้าวอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และผู้ส่งออกหันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน มีรัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดนโยบายเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด 9 รัฐ จากทั้งหมด 28 รัฐ นอกจากนี้ รัฐอุตตราขัณฑ์ รัฐสิกขิม รัฐนาคาแลนด์ และรัฐมิโซรัม มีแผนที่จะพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ในอนาคต อย่างแน่นอน โดยรัฐบาลอินเดียจะให้การสนับสนุนเงินสดและเงินกู้แก่บริษัทผลิตปุ๋ยและยาฆ่าแมลงชีวภาพ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและกระทรวงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระบุว่า รัฐบาลจะสนับสนุนเงินจำนวน 500 รูปี (หรือประมาณ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 255 บาท) ต่อ 1 เฮคตาร์ (6.25 ไร่) ให้แก่เกษตรกรเพื่อทำเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนเงินกู้ร้อยละ 25 ของรายจ่าย แต่ต้องไม่เกินวงเงิน 400,000 รูปี (หรือประมาณ 65,650 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.09 ล้านบาท) ให้แก่บริษัทปุ๋ยและยาฆ่าแมลงชีวภาพ และสนับสนุนเงินกู้ร้อยละ 33 ของรายจ่าย แต่ต้องไม่เกินวงเงิน 600,000 รูปี (หรือประมาณ 98,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.14 ล้านบาท) ให้แก่บริษัทปุ๋ยหมัก

ที่มา Oryza.com

เวียดนาม

องค์การอาหารโลก (FAO) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาข้าวในประเทศของหลายๆประเทศในเอเชียปรับลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวของเวียดนามปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ส่งออกมีปริมาณมาก

องค์การอาหารโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อผูกมัดการส่งออกข้าวขาว 25% จำนวน 500,000 ตัน ไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และการขายข้าวให้แก่ประเทศจีน เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ พายุไต้ฝุ่นหวู่ติ๊บ ที่พัดผ่านเวียดนามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลต่อการผลิตข้าว และเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาขายส่งข้าวขาว 25% กิโลกรัมละ 7,375 ดอง (หรือประมาณตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,169 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 10

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ 517,263 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน โดยมีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวไปเอเชียได้ 319,910 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 306,079 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ส่งออกไปแอฟริกา 159,823 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 143,240 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน และส่งออกไปยุโรปและเครือรัฐเอกราช (CIS) 26,172 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 18,432 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ในขณะที่ เวียดนามส่งออกข้าวไปยังอเมริกา 10,955 ตัน ลดลงจาก 26,716 ตัน หรือลดลงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน และส่งออกไปยังออสเตรเลีย 403 ตัน ลดลงจาก 1,636 ตัน หรือลดลงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ข้าวขาว 5% มีปริมาณการส่งออกมากที่สุด จำนวน 165,537 ตัน หรือประมาณร้อยละ 32 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ข้าวขาว 25% จำนวน 108,971 ตัน หรือประมาณร้อยละ 21 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และข้าวหอมมะลิ จำนวน 71,807 ตัน หรือประมาณร้อยละ 14 ของปริมาณ การส่งออกทั้งหมด

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ