เกาะติดสินค้าเกษตรไทยกับอาเซียน สศก. เผย ไทยยังได้ดุล แนะ การเปิดเออีซี เป็นโอกาสพัฒนาการแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 4, 2014 11:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผยสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน ระบุ ปี 56 ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ คือ น้ำตาล ยางพารา ข้าว และกาแฟสำเร็จรูป แนะ หากไทยต้องการรักษาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทุกภาคส่วน และเกษตรกร ต้องร่วมมือกันทั้งในด้านการผลิตและการตลาด เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในภูมิภาคอาเซียน

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยอ้างอิงข้อมูลการส่งออก–นำเข้า จากกรมศุลกากร พบว่า การค้าในภาพรวมของอาเซียนกับไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 172,640 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่าเท่ากับ 242,181 ล้านบาท และการนำเข้าสินค้าเกษตรมีมูลค่าเท่ากับ 69,541 ล้านบาท โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาล ยางพารา ข้าว และกาแฟสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะเดียวกันนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ปลาทะเลแช่แข็ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากนมสำหรับทารก ส่วนผสมพรีมิกซ์สำหรับใช้ในการผลิตอาหาร น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และใบยาสูบ เป็นต้น

จากข้อมูลการค้าสินค้าเกษตร จะเห็นได้ว่า การค้าในตลาดอาเซียนมีการขยายตัวจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยังคงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทยที่มีคุณภาพ แต่ต้องเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และในส่วนการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและส่วนผสมในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จำเป็นต้องคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในกระบวนการแปรรูปให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นส่งเสริมเกษตรกรและภาคเกษตรของไทยให้เกิดความพร้อมมากขึ้น เช่น การผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เช่น ส่งเสริมการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agriculture Practices: GAP) เป็นต้น เพื่อให้มีวัตถุดิบภายในประเทศที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย โครงการเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ที่สนับสนุนเกษตรกรให้ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และโครงการพัฒนาด่านสินค้าเกษตร ให้สามารถทำการตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ให้มีความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของไทยได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ