เผยผลดัชนีทุกข์ยาก บลูมเบิร์กยกไทยมีความสุขอันดับ1 ด้าน สศก. แจงบทวิเคราะห์และมุมมองหลากมิติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 13, 2015 13:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เปิดผลจัดอันดับบลูมเบิร์กด้วยดัชนีความทุกข์ยาก เผย ยกไทยอันดับ 1 ใน 15 ประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ด้าน สศก. แจงบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจการเกษตรและดัชนีชี้วัดความผาสุกแบบหลากมิติ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ทำการจัดอันดับประเทศในโลก ด้วย “Misery Index” หรือดัชนีชี้วัดความทุกข์ยาก โดยรายงานข่าวถึง “The 15 Happiest Economies in the World” หรือ 15 อันดับประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ระบุว่า 15 ประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดตามลำดับ คือ ไทย สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เดนมาร์ก จีน สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร ออสเตรีย นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ มาเลเซีย และ เยอรมนี

ในเรื่องดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจของประเทศใดมีอัตราเงินเฟ้อต่ำและมีอัตราว่างงานต่ำ ก็แสดงว่าคนในประเทศนั้นมีความทุกข์ยากน้อย ซึ่งถือว่าปัจจัยสองอย่างนี้ เป็นตัวที่สะท้อนความทุกข์ยากของคน กล่าวคือ ถ้าเงินเฟ้อมาก สะท้อนว่าราคาสินค้าโดยรวมสูงขึ้น กำลังซื้อของคนจึงต่ำลง คนมีกำลังบริโภคน้อยลง ก็ย่อมจะมีความทุกข์ยากมาก และถ้าว่างงานมาก แสดงว่าคนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ก็แน่นอนว่าจะต้องมีความทุกข์ยาก จึงสรุปรวบรัดว่า ถ้าประเทศไหนอัตราว่างงานต่ำและอัตราเงินเฟ้อต่ำ ก็แสดงว่ามีความทุกข์ยากต่ำ

สำหรับการการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจการเกษตรและดัชนีชีวัดความผาสุกนั้น มีหลายทั้งแนวคิดและทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วยตัวชี้วัดต่างๆ ที่สำคัญ คือ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ได้แก่

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) คือ ผลรวมสุดท้ายทั้งหมดของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ และเป็นตัววัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจระบบตลาด และสำหรับรัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ถืออัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศเป็นเป้าหมายการบริหารแผ่นดินและตัวชี้วัดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศไม่สามารถสะท้อนภาพความจริงที่ให้ปรากฏด้วยเหตุผลหลายประการ นอกจากนี้มีแนวความคิดที่เห็นว่าคนมีความสุขหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับความรวยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขที่ยั่งยืนผลผลิตมวลรวมภายในประเทศไม่สามารถวัดความสุขที่แท้จริงของคนได้เปรียบเทียบกับความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH) ซึ่งประเทศภูฏานพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดขึ้นว่าท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันความสุขมวลรวมประชาชาติเป็นกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การนำผลผลิตมวลรวมภายในประเทศมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาจเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด ทำให้เกิดการเร่งรัดการใช้ทรัพยากรจนนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ไม่ยั่งยืนในที่สุด

อัตราการว่างงาน ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมผู้ที่ตกงานจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคอื่นๆ จะมีอาชีพเกษตรกรรมรองรับ แต่หากถามถึงรายได้ว่าเพียงพอไหมกับการดำรงชีพในสถานการณ์ปัจจุบันก็คงไม่เพียงพอ โดยจะเห็นได้จากภาวะหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อัตราเงินเฟ้อ ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ความหลักแล้วแสดงว่าราคาสินค้าโดยรวมต้องต่ำ ทำให้คนมีกำลังบริโภคสูงขึ้น ย่อมจะทำให้เกิดความสุขในการใช้ชีวิต ในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่าประเทศไทยถึงแม้จะมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง แต่ค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าอาหาร ค่ารถโดยสารประจำทาง ก็ไม่ได้ต่ำลง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยอาจไม่ได้มีความสุขอย่างแท้ตาราง สัดส่วนรายได้ สัดส่วนรายจ่าย ขนาดหนี้สิน ขนาดเนื้อที่ถือครองของคนไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2553/54-2556/57

รายการ                                                                ปีเพาะปลูก
                                                     2553/54    2554/55    2555/56    2556/57*

- สัดส่วนรายได้เงินสดทางการเกษตร (ร้อยละ)                   60.74      58.61      59.07       55.25
- สัดส่วนรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร (ร้อยละ)                  42.06      42.64      42.85       43.39
- ขนาดหนี้สินต้นปี (บาท/ครัวเรือน)                           54,061     59,808     76,697      82,572
- ขนาดเนื้อที่ถือครอง (ไร่/ครัวเรือน)                          25.42      25.25      25.28       24.36

ที่มา :สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,2557
  • ปีเพาะปลูก 2556/57 เป็นการสำรวจเบื้องต้น ซึ่งไม่รวมข้อมูลจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

นอกจากนี้ ยังมีดัชนีชี้วัดด้านคุณภาพอื่นๆ ที่ใช้วัดความผาสุก ประกอบด้วยตัวชี้วัดด้านต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา ด้านปฏิสัมพันธ์ในสังคม ด้านจิตวิญญาณหรือความเชื่อความศรัทธา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักสำคัญ 4 ประการที่ควรใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ความผาสุกควบคู่กันไปคือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ให้เอาความสุขของชาวไทยเป็นตัวตัดสินไม่ใช่วัดที่จำนวนเงินและทรัพย์สินที่เป็นวัตถุสิ่งของ 2การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 3การส่งเสริมและสงวนรักษาวัฒนธรรมประเพณี เช่น แต่งกายชุดประจำชาติเป็นกิจวัตร ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม และ ประการที่ 4การส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาล คือ เน้นให้มีดำรงชีวิตบนพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาสังคมทั้งระบบให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจการเกษตรและดัชนีชี้วัดความผาสุก ในแต่ละด้าน มีดังนี้ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนภาคเกษตร พบว่า ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ยที่เพียงพอต่อการบริโภคปัจจัย 4 โดยอาศัยมูลค่าการบริโภคพื้นฐานของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ส่วนที่มีการบริโภคที่เกินความพอดีนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นจนมากเกินไป ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (core inflation) พบว่าแนวโน้มดัชนีราคาสินค้าเกษตรและอาหารภายในประเทศยังทรงตัวและเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าโดยทั่วไปจะไม่สูงมากนักเพื่อให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ และการส่งออกสินค้าเกษตรทางด้านอาหาร พบว่า ส่วนเกินของการผลิตภายในประเทศหลายชนิดสามารถส่งออกได้นั้นหมายถึง ปริมาณอาหารภายในประเทศมีความเพียงพอสำหรับภายในประเทศหรือมีปริมาณที่เหลือสามารถส่งสินค้าเกษตรออกเพิ่มได้อีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเรามีอาหารเพื่อการบริโภคอย่างเหลือเฟือนั่นเอง

ทั้งนี้ จะเห็นว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจการเกษตรและดัชนีชี้วัดความผาสุกของมนุษย์โดยทั่วไป บางตัวก็มีทิศทางไปในทางเดียวกันกล่าวคือรายได้ทางเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการบริโภคก็จะทำให้ดัชนีชี้วัดความผาสุกเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหากมีรายได้ทางเศรษฐกิจที่เกินความพอเพียงแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความผาสุกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบว่า มีความเพียงพอต่อความผาสุกแล้ว เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่สูง การว่างงานในอัตราที่ต่ำ และดัชนีอื่นๆ อย่างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรมและประเพณี เป็นต้น ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความผาสุกภายในประเทศที่เพียงพอ หากแต่ต้องการดัชนีชี้วัดความผาสุกให้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้มากขึ้น จำเป็นต้องกระจายความผาสุกไปสู่เกษตรกรที่ยากจนให้เพิ่มมากขึ้น หรือการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การกระจายรายได้เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเมื่อนำตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจการเกษตรหรือเศรษฐกิจโดยทั่วไปจากระบบทุนนิยมโดยอาศัยตัวชี้วัดของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงอย่างเดียว ก็จะมีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยมีความสุขน้อยกว่าประเทศอื่นๆในโลกนี้เช่นกัน แต่หากเรามาพิจารณาถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ ประกอบให้รอบด้านแล้ว และมีการนำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) มาถ่วงน้ำหนักด้วย ความผาสุกของไทยอาจจะเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งการดำเนินกิจกรรม ทางเศรษฐกิจ หรือนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบที่ได้รับในทุกมิติในองค์รวมที่มีผลต่อส่วนรวมในท้ายที่สุดนั่นเอง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ